ขยี้แผล ‘เลือกตั้ง 62’ เปิดจุดอ่อน ย้อนบทเรียน ก่อนวันชี้ชะตา #เลือกตั้ง 66

ขยี้แผล ‘เลือกตั้ง 62’ เปิดจุดอ่อน ย้อนบทเรียน ก่อนวันชี้ชะตา #เลือกตั้ง 66

ใกล้เข้ามาทุกทีกับวาระสำคัญของประเทศไทย ที่ประชาชนจะได้จับปากกาเลือกผู้นำที่จะพาประเทศก้าวไปข้างหน้ากับการเลือกตั้งปี 2566 ไม่เพียงแต่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองที่ต้องเตรียมตัวเข้าสู่สนามนี้ แต่ประชาชนเองก็ต้องทำความเข้าใจกับกฎกติกาการเลือกตั้งรูปแบบใหม่เช่นกัน

งาน Open Data Day 2023 Open Data การเมืองไทย ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเตือนความจำและทบทวนบทเรียนจากการเลือกตั้งปี 2562 โดยมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลก่อนการเลือกตั้ง เช่น รายชื่อ ส.ส. หน่วยเลือกตั้ง จำนวนประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง และข้อมูลระหว่างถึงหลังเลือกตั้ง ว่ามีอะไรที่เป็นปัญหาบ้าง ควรแก้อย่างไร และเราหวังอะไรที่ก้าวหน้าในการเลือกตั้ง 66

รวมตัวเหล่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมานั่งพูดคุยย้อนดูปัญหาและสิ่งที่คาดหวังในการเลือกตั้งครั้งหน้า ได้แก่ กิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER, ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

Advertisement

⦁ กกต.เปิดใจ ‘จะทำให้ดีกว่าเดิม’
เพิ่มเติมคือประชาชนเข้าถึงคะแนน ‘ทุกหน่วยเลือกตั้ง’
เปิดวงสนทนาด้วยรองเลขาธิการ กกต.อย่าง กิตติพงษ์ ที่พาย้อนไปดูภาพการเลือกตั้งปี 62 ว่าในครั้งนั้น ถือเป็นการเลือกตั้งภายใต้กฎกติกาใหม่ จะเห็นได้ว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งภายใต้บัตรใบเดียวและเป็นการเลือกตั้งที่ว่างเว้นมาจากระยะเวลาหลายปี สร้างความกดดันให้ กกต.พอสมควรในการจัดการเลือกตั้ง ระยะเวลาการลงคะแนนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการปิดหีบเวลา 15.00 น. เป็น 17.00 น ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานของบุคลากรในระดับหน่วยเลือกตั้ง ประกอบกับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว กกต. มีความพยายามที่จะนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ให้ทันกับยุคสมัยทุกรูปแบบ โดยมีแอพพลิเคชั่นให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ หรือที่เรียกกันว่า Rapid Report ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการทำให้ความน่าเชื่อถือของกระบวนการของการรวมคะแนนลดน้อยลงในสายตาพี่น้องประชาชน

นอกจากนั้น ยังมีการรวมคะแนนแบบคู่ขนานที่เป็นทางการซึ่งจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ แต่ Rapid Report เป็นการลงคะแนนผ่านแอพพลิเคชั่นโดยผู้ที่ทำหน้าที่คีย์ข้อมูลเข้าไป คือ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเกือบ 100,000 หน่วยทั่วประเทศ ซึ่งกรรมการประจำหน่วยมาจากพี่น้องประชาชน การคีย์ข้อมูลเข้าไป หากผิดแล้วจะแก้ไขไม่ได้เลย เพราะลักษณะของคะแนนเป็นแบบเรียลไทม์ ส่งผลให้เกิดปัญหาระหว่างคะแนนที่เป็นทางการที่ดำเนินการโดยถูกต้องกับสิ่งที่ดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่น จึงทำให้เกิดความขัดแย้งในส่วนของข้อมูล นี่คือสิ่งที่เป็นบทเรียนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่ง กกต.พยายามที่จะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น พยายามที่จะพัฒนาให้ดีกว่าเดิมที่จะทำอย่างไรให้การรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการนั้นสามารถที่จะตอบโจทย์ในสิ่งที่เคยประสบปัญหามา แต่เมื่อใช้ไปได้สักครู่เราก็มีการแก้ไขกฎหมายกันอีกแล้ว คือ กลับมาใช้บัตรสองใบ ดังนั้นสิ่งที่พัฒนามากับการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวก็ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้ เท่ากับว่าเราเริ่มต้นในกระบวนการของการดำเนินการใหม่เกือบทั้งหมด ประกอบกับกรอบเวลาที่เรามีอยู่ไม่เพียงพอแล้วกับการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการนำเข้าข้อมูลการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการนั้นถึงแม้จะไม่มีแอพพลิเคชั่นอย่างที่คาดหวังจะให้มี แต่ก็มีระบบในเรื่องของกระบวนการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการเพื่อนำเข้าข้อมูลให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบโดยต้องขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนที่จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำเข้าข้อมูลในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนนี้

Advertisement

“สิ่งที่จะเพิ่มเติมจากการเลือกตั้งปี 2562 คือ เรื่องของผลคะแนนรายหน่วยทุกหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งแต่เดิมนั้นเราจะมีการปิดประกาศเอาไว้ที่หน่วยเลือกตั้ง เราไม่ได้มีการนำเข้าในระบบข้อมูล แต่ในครั้งนี้ทุกหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศจะถูกนำมารวมกันให้พี่น้องประชาชนได้เข้าถึงและสามารถที่จะตรวจดูผลคะแนนได้ในทุกหน่วยเลือกตั้งที่มีการปิดประกาศ นี่เป็นความตั้งใจในส่วนของ กกต.” รองเลขาฯ กกต.กล่าว

⦁ ย้อนเล่า ‘ข้อจำกัดสื่อ’ โลกยิ่งพัฒนา ยิ่งเรียกร้องเปิดข้อมูล
ด้าน พงศ์พิพัฒน์ ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชน เล่าว่าเมื่อ 4 ปีก่อน ก่อนเลือกตั้งปี 2562 คือ ประมาณปลายปี 2561 ตอนนั้นความตื่นตัวของประชาชนยังมีไม่มากและยังมีความงงกับกติกาว่าบัตรเลือกตั้งใบเดียวจะคิดคะแนนอย่างไร กระทั่งในวงการสื่อมวลชนเองในยุคนั้นหลายคนไม่เคยทำข่าวเลือกตั้งมาก่อน หรือการทำข่าวการรายงานผลเลือกตั้งขณะนั้นกับในอดีตที่แตกต่างกันซึ่งในอดีตเราอาศัยผลคะแนนจากตำรวจหรือแหล่งอื่นบ้าง

“ปี 2562 เป็นครั้งแรกๆ ที่เราเอาคะแนนจาก กกต.มารายงานผลแบบเรียลไทม์ ซึ่งมีเรื่องที่ต้องปรับจูนกันค่อนข้างมาก สื่อเองก็ต้องการข้อมูลไปใช้ในการรายงานผลแต่ก็มีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น ที่ตั้งของหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเราพยายามขอจาก กกต.แต่ปรากฏว่าไม่ได้เพราะต้องประสานกับทางกระทรวงมหาดไทย หรือท้องถิ่น แต่ตอนเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ปี 2565 เราได้ข้อมูลอย่างรวดเร็ว ซึ่งมันเห็นความก้าวหน้าที่ดีขึ้นและหวังว่าการเลือกตั้งปี 2566 จะได้เห็นความก้าวหน้าที่ดีขึ้นกว่าเดิม

การรายงานผลแบบเรียลไทม์ตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่ประมาณหนึ่งสำหรับทุกคน และถ้าทุกคนยังจำได้คือมันจะมีปรากฏการณ์ในคืนวันเลือกตั้งอยู่ดีๆ คะแนนมันหยุด หรือคะแนนบางพรรคที่ถูกตัดสิทธิไปแล้วมันพุ่งมาเกินจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ซึ่งสุดท้ายมีคำอธิบายในเชิง Human Error หรือในเชิงการดีไซน์ระบบ หรือกระทั่งคำอธิบายในเชิงที่ว่ามีการแฮก มีคนพยายามเข้ามาโจมตีระบบ แต่สุดท้ายก็มีการพิสูจน์ว่าจริงๆ ไม่ใช่การแฮก มันเป็นเรื่องของการดีไซน์ระบบและเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งคนที่เชี่ยวชาญทางเทคนิคบอกว่าเป็นการดีไซน์ระบบที่ทำให้เกิดคอขวดของข้อมูลและเมื่อระบบล่มเพราะข้อมูลเข้ามาเยอะมาก วิธีที่ กกต. หรือผู้มีอำนาจเลือกใช้ คือ ดึงท่อที่ให้ข้อมูลกับสื่อออก ทำให้คะแนนหยุด สุดท้ายนำไปสู่การคีย์ด้วยมือเพื่ออย่างน้อยให้มีข้อมูลรายงานสู่ประชาชน เพราะถ้าคะแนนนิ่งหลายชั่วโมงไปคนจะยิ่งสงสัย ผมว่าโดยหลักใหญ่ใจความสิ่งที่คนเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งโลกพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ คือเรียกร้องการเปิดเผยข้อมูล เรียกร้องคำอธิบายเวลาที่เกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา ซึ่งผมรู้สึกว่าในการเลือกตั้งปี 2562 กกต.ทำสิ่งนี้ได้ไม่ค่อยดีเท่าไร” พงศ์พิพัฒน์กล่าว

⦁ ‘ไอลอว์’ อยากเห็นที่สุดคือข้อมูลผู้สมัคร
สบายใจขึ้น 70% ‘ส.ส.5/18’ ขึ้นเว็บ 5 วันหลังเลือกตั้ง
ส่วน ไพบูลย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งปี 2562 ในรัฐธรรมนูญมีการเขียนให้กลไกของเวลาที่จะประกาศผลการเลือกตั้งว่าต้องภายใน 60 วันพร้อมให้อำนาจ กกต.สามารถที่จะให้ใบส้มเพื่อให้ผู้สมัครพ้นจากตำแหน่งได้ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้งคือเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียวและปัญหาหลายๆ อย่างซึ่งเป็นปัญหามาจากรัฐธรรมนูญ

“มันกดดันทำให้ กกต.ที่เคยทำงานอีกแบบหนึ่งมาเจองานที่มีความสารพัดเรื่อง ดังนั้นเรื่องของผลคะแนนก็มีความบกพร่องเมื่อเกิดแผลอะไรขึ้นมานิดหน่อยก็ถูกขยายผล ทำให้ กกต.ทั้งถูกฟ้องและโดนอะไรสารพัด แต่ตนมองว่า กกต.ก็เก็บประเด็นปัญหาทั้งหมด ดังนั้นเมื่อมาถึงปี 2566 ก็เห็นว่า กกต.สามารถแก้ปัญหาครบ และผมก็ได้แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น ดังนั้นการเลือกตั้งปี 2562 เป็นบทเรียนให้กับ กกต.และพรรคการเมือง” ไพบูลย์กล่าว

ด้าน ยิ่งชีพ เปิดหัวมาว่าตนเห็นใจฝ่ายปฏิบัติงานของ กกต.ทั้งเรื่องที่กติกาการเลือกตั้งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนระบบทุกครั้ง แต่อย่างน้อยระบบของปี 2566 ที่แก้มาได้ดีขึ้นแต่มันก็คือ แก้กติกาเลือกตั้งไปเรื่อยๆ และไม่มีอะไรรับประกันว่าหลังปี 2566 จะใช้กติกานี้ไปเรื่อยๆ ทำให้การทำงานต้องปรับเปลี่ยนทุกครั้ง

“ครั้งนี้หลังจากอ่านระเบียบ กกต.แล้วพบว่ามีการให้เปิดเผยใบ ส.ส. 5/18 หรือใบสรุปผลคะแนนประจำหน่วย โดยถ่ายภาพและนำขึ้นเว็บไซต์ภายใน 5 วันหลังจากเลือกตั้งเสร็จ เมื่ออ่านเจอท่อนนี้แล้วรู้สึกสบายใจขึ้น 70% แสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงาน กกต. เคยพูดว่าสิ่งที่จะทำในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ให้แต่ละหน่วยถ่ายภาพและมีกรรมการส่วนกลางคีย์ข้อมูลเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่สิ่งที่ทราบตอนนี้คือจะมีการเปิดเผยภาพถ่าย และสิ่งที่อยากเห็นมากขึ้นคือข้อมูลของผู้สมัครซึ่งคิดว่า กกต.ก็คงต้องทำเป็นรูปแบบดิจิทัลอัพโหลดขึ้นไป” ยิ่งชีพกล่าว

⦁ หลังปิดหีบ 17.00 น. ‘ชั่วโมงแห่งความสงสัย’
ย้อนกลับมาที่ กิตติพงษ์ รองเลขาธิการ กกต. ในประเด็นการเตรียมการเลือกตั้งว่าการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อมีกฎหมายออกมาบังคับใช้และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นที่จะมีกฎหมายออกมา กกต.เองก็มีการเตรียมการออกมาคู่ขนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งจะเห็นว่าเรามีการเตรียมการไว้ก่อนเป็นเวลาเกือบ 1 ปี มีการวางตุ๊กตารูปแบบของการแบ่งเขตเลือกตั้งรองรับเอาไว้ เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไร สำหรับการเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ กกต.มีการเตรียมการมาเป็นลำดับ เพราะฉะนั้นแล้ว ขณะนี้เรามีความพร้อมที่จะดำเนินการในการจัดการเลือกตั้ง รออย่างเดียว คือ เรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้

ยิ่งชีพ เสริมว่า ขอชื่นชม กกต.หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินการนับจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าให้นับประชากรที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น จากปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562 สำหรับการเลือกตั้ง 2566 จะดีขึ้นมาก เพราะภายใน 5 วันจะมีการเปิดเผยคะแนนรายหน่วย

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรจะทำและเราทำได้ คือ อยากชวนพี่น้องประชาชนไปช่วย กกต.ทำงาน หลังจากปิดหีบ 5 โมงเย็นให้ทุกคนไปที่หน่วยเลือกตั้งใกล้บ้านเพื่อดูการนับคะแนนและช่วยรวมคะแนน และถ่ายภาพกระดานรวมคะแนนและเข้าไปยังเว็บไซต์ vote62 กรอกข้อมูลตัวเลขลงไป ซึ่งจะมีการนำข้อมูลมาตรวจสอบกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งอีกครั้ง นี่คือสิ่งที่อยากเห็นแต่ต้องอาศัยพี่น้องประชาชนจำนวนมาก” ผู้จัดการไอลอว์กล่าว

ด้าน พงศ์พิพัฒน์ ในฐานะสื่อ ชี้ให้เห็นว่า นอกจาก กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อยแล้ว อีกโจทย์หนึ่งที่ กกต.ต้องพิสูจน์ให้ประชาชนว่า กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งให้คนเชื่อได้ว่าสุจริต เที่ยงธรรม และโปร่งใส

“หลังปิดหีบ 5 โมงเย็นจนกว่า กกต.จะมีการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ตรงนี้จะเป็นชั่วโมงแห่งความสงสัยของคนที่สุดว่าคะแนนที่ กกต.กำลังจะประกาศออกมาจะถูกเปลี่ยนไหม และเราเชื่อมั่นกับมันได้แค่ไหน นี่เลยเป็นที่มาของการที่หลายๆ หน่วยงานเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันช่วย กกต.และกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทำงาน ด้านของสื่อมวลชนเอง ตอนนี้มีการคุยกันหนักมากเพื่อช่วยอีกทาง โดยเราจะมีการจัดระบบรายงานผลเหมือนกันเพื่อตอบโจทย์ 3-4 โมงแห่งข้อสงสัยเพื่อทำให้คนเชื่อว่าการเลือกตั้งนี้สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้จริงๆ” พงศ์พิพัฒน์กล่าว

แม้วันนี้หลายๆ ประเด็นในการเลือกตั้งจะยังไม่มีความชัดเจน แต่หลายหน่วยงานภาครัฐ เอ็นจีโอ รวมถึงประชาชนคนไทย ต่างเตรียมตัวแข็งขัน รอวันชี้ชะตาประเทศ ด้วยความหวังผลการเลือกตั้งที่โปร่งใส เที่ยงตรง และเป็นธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image