‘โหวตเพื่อเปลี่ยน’ แคมเปญภาคประชาชน จ้องคูหาเลือกตั้ง 66 ‘ประชาธิปไตยต้องแลนด์สไลด์’

‘โหวตเพื่อเปลี่ยน’ แคมเปญภาคประชาชน จ้องคูหาเลือกตั้ง 66 ‘ประชาธิปไตยต้องแลนด์สไลด์’

จ่อคิกออฟ 3 เมษายนนี้ สำหรับแคมเปญ “โหวตเพื่อเปลี่ยน” (Vote for Change) ของกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง ต่อแถวขึ้นเวทีแถลงเดินหน้าก้าวต่อไปของฝ่ายประชาธิปไตย พร้อมปราศรัยย่อมๆ ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ นำโดยกลุ่มราษฎรและแนวร่วม เมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
หวังเสนอทิศทางการเมืองไทย ต่อพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย องค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566 ซึ่ง กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้
“แคมเปญ โหวตเพื่อเปลี่ยน เป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไม่ใช่พรรคการเมือง เราปรารถนายิ่งกว่าการเลือกตั้งและปรารถนายิ่งกว่าพรรคการเมือง เพราะหวังว่าแคมเปญนี้จะเป็นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง นั่นหมายความว่าปรารถนาให้มีการเปลี่ยนแปลงจากเผด็จการ วันนี้เราต้องการให้การเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เราคาดหวังไปถึงขั้นที่จะถอนรากถอนโคนเผด็จการทหาร ดังนั้น เราจึงปรารถนาว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเป็นการโหวตเพื่อเปลี่ยนให้ได้”
เป็นคำกล่าวในตอนหนึ่งของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ก่อนนำไปสู่ถ้อยแถลงต่อไปในหลากประเด็น

⦁ย้อนบทเรียนปี’62 ห่วง ‘ฉกชิงวิ่งราว’ ตั้งรัฐบาล
ก่อนอื่น สมยศ มองว่า ตัวแปรที่เห็นว่าเป็นฐานรากที่ยังฝังตัวอยู่ในระบบการเมือง คือ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ 2.พรรคการเมือง 3.ส.ว.
“ประเด็นสำคัญจะมีการเคลื่อนไหวกัน คือ เรื่องของระยะเวลาหลังนับคะแนนการเลือกตั้งนั้น กกต.ได้แถลงว่าจะทอดยาวไปถึงเดือนสิงหาคมถึงจะได้รัฐบาลประชาธิปไตย
ดังนั้น ช่วงนี้จะทำให้เกิดช่องว่างเพราะเราดูจากการเลือกตั้งปี 2562 เราจะเห็นว่าหลังจากนับคะแนนแล้วมีการถูกเตะถ่วงทางด้านเวลาทำให้เกิดการฉกชิงวิ่งราวการจัดตั้งรัฐบาลได้
นอกจากนี้ แคมเปญของเราจะเดินหน้าต่อไปในการผลักดันพรรคการเมืองให้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องประชาธิปไตย คือ ด้านโครงสร้างทางการเมือง
แคมเปญโหวตเพื่อเปลี่ยนจะไปตั้งต้นกันที่ 3 เมษายน 13.00 น. จะไปเรียกร้องประเด็นที่สำคัญมากและเป็นอนาคตของประชาธิปไตยของไทย ซึ่งเราจะมีข้อเรียกร้องต่อ กกต.ตั้งแต่กระบวนการทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสและบริสทุธิ์ยุติธรรมและการที่จะมีหลักประกันว่าไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย
อีกประเด็นคือในการปราศรัยของแต่ละพรรคการเมืองเราจะไปเยือนรวมไปถึงการทำสัญญาประชาคม จนถึงวันเลือกตั้ง แต่ที่สำคัญขบวนการของเราไม่จบที่เลือกตั้ง ช่วงตั้งแต่การเลือกตั้งไปจนถึงโหวตนายกฯจะมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่จะมีการโหวตเลือก
นายกฯ” สมยศอธิบาย

⦁ฝ่ายประชาธิปไตยต้องแลนด์สไลด์ รับ ‘ไม่ไว้ใจ ส.ว.’
ด้าน “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มคณะราษฎร เปิดเวทีด้วยหัวข้อ “การเลือกตั้งต้องเป็นอิสระและเป็นธรรม” เนื้อหาหลัก ย้ำว่าจำเป็นต้องช่วยกันจับตาในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
“โจทย์ทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 2566 จะมีหลักๆ อยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือเรายังมี ส.ว. 250 คน ที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ปัญหาที่ทุกคนทราบคือเขาไม่ได้มาจากเรา เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถไว้ใจได้เลยว่าเมื่อการเลือกตั้งจบไปแล้วและถึงตอนที่ต้องโหวตเลือกนายกฯเขาจะทำเพื่อประชาชนหรือไม่ หรือจะโหวตเลือกนายกฯเพื่อเอื้อให้กับพวกพ้องของพวกเขา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เราต้องทำให้ได้คือการให้ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างน้อย 376 เสียง จากทั้งหมด 500 เสียง เพื่อเอาชนะเสียง ส.ว.
“ข้อ 2 คือการแข่งขันจะอยู่ที่การเลือก ส.ส.เขตเป็นหลัก จากรูปแบบการเลือกตั้งใหม่มี ส.ส.ทั้งหมด 500 คน โดย 400 คน มาจาก ส.ส.เขต และ 100 คน คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สำหรับ ส.ส.เขตนั้นเป็นจุดวัดสำคัญว่าเราจะได้ตัวแทนของเราเข้าไปได้เท่าไร โดยระบบการเลือกตั้งในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการนับคะแนน ส.ส.เขตมากกว่าปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งระบบการเลือกตั้งที่ถูกกำหนดขึ้นแต่ละปีนั้นจริงๆ แล้วตามระบบสากลไม่ควรถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ควรจะมีมาตรฐานเดิม แต่กลับกลายเป็นว่าประเทศไทยเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งบ่อยมากตามการเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญ ระบบการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นบัตร 2 ใบ และหารด้วย 100
“ด้านสูตรคำนวณคะแนนเลือกตั้งจะมีสองแบบหลักๆ คือ ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเสียงข้างมาก คือพรรคใดที่ได้คะแนนมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ เน้นการสร้างตัวแทนเชิงพื้นที่ แต่ส่วนที่เสียเปรียบคือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่มักจะได้คะแนนเสียง อีกระบบคือการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคือพรรคที่ได้รับที่นั่ง ส.ส.ตามสัดส่วนของคะแนน ก็จะเป็นส่วนของบัญชีรายชื่อ เน้นการสร้างตัวแทนเชิงนโยบาย” มายด์ลงลึกในรายละเอียด

Advertisement

⦁นายกฯต้องเป็น ส.ส. ยึดโยงประชาชน
ขอแรงแสนคน ถ่ายใบนับหน้าคูหาให้ได้!

นอกจากนี้ มายด์ยังกล่าวถึงข้อเสนอ 3 ข้อที่จะพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย ได้แก่
1.นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เพราะจะมีความยึดโยงกับประชาชน และเราสามารถคาดหวังได้ ซึ่งเป็นข้อถกเถียงหลักจนกลายเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์
2.พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดในสภาจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เราไม่อยากให้ซ้ำรอยกับการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งมากที่สุดแต่กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
3.ส.ว.ต้องเคารพเสียงข้างมากของ ส.ส. เพราะ ส.ว.ไม่ได้มีอำนาจต่อประชาชน ส.ส.ที่เราเลือกเข้าไปเป็นตัวแทนโดยชอบธรรม
“เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องตรวจทานการเลือกตั้งในปี 2566 ที่กำลังจะถึงนี้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างและเกิดเหตุการณ์การเพิ่มลดคะแนน การจัดการคะแนน หรือการแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตยของประชาชน เราต้องไปช่วยกันจับตาดูเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด เพื่อให้เป็นกลไกในการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล เพราะฉะนั้น Vote62 จะเป็นแพลตฟอร์มกลางในการรับข้อมูลและผลคะแนนที่ไปเป็นอาสาสมัครหน้าหน่วยเลือกตั้ง สิ่งที่สำคัญคือการถ่ายภาพคะแนนในคูหาเลือกตั้งซึ่งเป็นจุดที่เกิดความผิดพลาดมากในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา เราต้องถ่ายใบนั้นและส่งเข้า Vote62 จากนั้นกรอกคะแนนตามภาพเพื่อเป็นการบันทึกและยืนยันว่าข้อมูลคะแนนที่ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งมีอะไรบ้าง โดยเราต้องการอาสาสมัคร 1 แสนคนในการประจำอยู่หน้าหน่วยเลือกตั้งและถ่ายภาพใบนับคะแนน ซึ่งสามารถสมัครได้ที่ Line @vote62” แกนนำราษฎรเชิญชวน

⦁ดักคออย่าจับมือทรราช แนะพรรคประกาศจุดยืนชัด ให้คำมั่นประชาชน
ครั้นถึงคิว เบนจา อะปัญ ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็ไม่แผ่ว กล่าวการเลือกตั้งที่ฝ่ายประชาธิปไตย “ชนะไปด้วยกัน” เพื่อผนึกกําลังเป็นเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล
“เลือกคนที่ชอบ กาพรรคที่ใช่ ไม่สืบทอดอำนาจเผด็จการ พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ต้องไม่จับมือกับ 3 ทรราช และ 5 พรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ สำคัญมากคือ พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ต้องจับมือกันโค่นอำนาจเผด็จการ หลายพรรคแสดงจุดยืนการจับมือ บางพรรคยังไม่แสดงจุดยืน เราจะเป็นคนกำหนดชะตาประเทศเรา ด้วยอาวุธน้อยๆ ในมือเรา นั่นคือ ปากกา”
“พรรคไหนที่ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้ว ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้มากขึ้น ว่าคุณได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชน ถ้าเราเลือกคุณ สิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แต่ถ้าพรรคไหนที่ยังไม่ได้ให้คำมั่น หรือประกาศจุดยืนชัดเจน ก็อาจจะทำให้ลังเลได้ ส่วนพรรคไหนที่ประกาศจุดยืนแล้วไม่นำไปทำตามคำพูดในสภา ถึงสมัยหน้า คนเขาก็ไม่กลับมาเลือกคุณ
“อยากให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตย มั่นคง จับมือกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำตามที่ให้สัญญากับประชาชนไว้ให้ได้ วันนี้เราอาจจะเรียกบางพรรคว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่สิ่งถาวรตลอดกาล ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ อยู่ที่คุณทำตัว” เบนจาทิ้งท้ายแซ่บ

⦁คนไทยตัดสินใจสุดไว ยกเหตุ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ต้องจับมือ
ปิดท้ายที่ รัฐภูมิ เลิศไพจิตร หรือ “เติร์ด” โฆษกกลุ่ม We Volunteer หรือ “วีโว่” ซึ่งมองว่า เลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ประชาชนให้ความคาดหวังสูงมาก เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาถือว่ามีความหมายและความสำคัญไม่ต่างกัน จากนิด้าโพล สำรวจช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนเพียง 9.45% เท่านั้นที่ยังไม่ตัดสินใจนายกฯ คนใด คำตอบออกมาประมาณว่า “ยังไม่มีคนที่เหมาะสม” ตีความได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่ยังไม่ตรงกับความต้องการ
“ส่วนอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งประชาชนให้ความคาดหวังสูงมาก มีผู้ตอบคำถามเพียง 3.25% เท่านั้นที่ยังไม่ตัดสินใจ เลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งตัวเลขต่ำมากๆ จากเปอร์เซ็นต์ที่ประชาชนตัดสินใจเลือกไปแล้ว ว่าจะเลือกพรรคหรือนายกฯคนใด เมื่อเทียบกับปี 2562 ชี้ให้เห็นว่าประชาชนตัดสินใจเลือกล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน” โฆษกวีโว่กล่าว
จากนั้น วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ประชาชนตัดสินใจเร็ว โดยมองว่ามีหลายปัจจัย ประเด็นหลักคือรัฐบาลชุดนี้ที่สร้างผลกระทบเลวร้ายให้กับประชาชนในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ปัจจัยที่ 1 คือ 8 ปี ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนว่าการทำงานไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงจีดีพี โตเพียง 2.3% เท่านั้น
“นายกฯชอบอ้างว่าช่วงโควิดใครๆ ก็จีดีพีตกต่ำทั้งนั้น ทุกประเทศล้วนเจอเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างคือประเทศในอาเซียนสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าไทย แปลว่าเขามีปัจจัยขั้นพื้นฐานและองค์ความรู้ในการรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดหมาย จึงรับมือได้เร็วกว่าไทย เป็นความไม่มีประสิทธิภาพ และทัศนคติของผู้นำรัฐบาล” รัฐภูมิชี้
ส่วนปัจจัยที่ 2 โฆษกวีโว่มองว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม สิทธิขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กลับพบว่าถูกลิดรอนไปอย่างน่าใจหาย 4 ปีที่ผ่านมา ค่าความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งจัดอันดับโดย “ฟรีดอมเฮาส์” องค์กรสากล พบว่า 4 ปี ของรัฐบาลประยุทธ์ ภายใต้การเลือกตั้ง มีค่าเฉลี่ยความเป็นประชาธิปไตย น้อยกว่าสมัยที่ยังเป็น คสช.เสียอีก ปัจจัยเช่น จากการยุบพรรค การดำเนินคดี ม.112 กับเยาวชน สอดคล้องกับการบังคับใช้กฎหมายที่เราอยากเห็นการบังคับใช้กับทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น กฎหมายฉบับเดียวกันกลับไม่ถูกปฏิบัติแบบเดียวกัน กลับเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำ เรื่องการพักในบ้านหลวง การดำรงตำแหน่งนากยฯ 8 ปี สะท้อนว่าประชาชนฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ และอีกฝ่ายได้ประโยชน์

Advertisement

⦁วิเคราะห์ผลโพล เจาะลึกหลาก ‘เจน’ จากเข้าคูหา 62 ถึงเลือกตั้ง 66
จากนั้น รัฐภูมิตั้งคำถามพร้อมให้คำตอบว่า เหตุใดพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ต้องจับมือกัน
“เมื่อย้อนดูการเลือกตั้งปี 2562 พบว่าพรรคที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่ว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ได้คะแนนเสียงจากประชาชนไปถึง 15.99 ล้านเสียง หากรวมกับพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในภายหลัง มีประชาชนเลือกประมาณ 16.48 ล้านเสียง แต่ในทางตรงกันข้าม พรรคที่มีจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อ มีเพียง 8.84 ล้านเสียงเท่านั้น ยังไม่รวมพรรคที่เวลานั้นยังไม่มีจุดยืนชัดเจน ดังนั้น หากเทียบสัดส่วน พรรคที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มีมากกว่าถึง 1 เท่า หรือหมายความว่ามีประชาชนเท่าตัวหนึ่ง ที่ลงเสียงให้พรรคที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องจับมือกัน เพราะความคาดหวังของประชาชน อยากเห็นการทำงานร่วมกันเป็นรัฐบาล”
รัฐภูมิ ยังยกผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปี 2562 ซึ่งมีวาทกรรมทางการเมืองจาก พรรคพลังประชารัฐ ที่กล่าวว่า เหตุที่ได้จัดตั้งรัฐบาลเพราะคะแนน popular vote 8,400,000 เสียง มากกว่าเพื่อไทย 7,900,000 เสียง แต่ในความเป็นจริงธรรมเนียมทางการเมืองไทยไม่ได้ดูคะแนน popular vote ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ดูจำนวนเสียง ส.ส. และด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ พรรคเพื่อไทยจึงขาดคะแนนประมาณ 150 แห่ง จะเห็นว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่มีจุดยืนชัดเจนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์มีเสียงมากกว่า
จากนั้น มาดู นิด้าโพล ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนกว่า 50% ตัดสินใจเลือกพรรคที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
“ไม่ว่าจากนิด้าโพล หรือไทยรัฐโพล ค่อนข้างชัดเจนว่าประชาชนต้องการเลือก 1.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ 2.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ทั้ง 2 คนนี้คะแนนรวมกันก็เกินครึ่งหนึ่งแล้ว จึงค่อนข้างชัดเจนว่าประชาชนให้ฉันทานุมัติ ซึ่งสัดส่วนอันดับ 1 และอันดับ 2 กินห่างเกิน 50% ไปแล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่าประชาชนต้องการเห็นพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล
อีกปัจจัยที่ไม่กล่าวไม่ได้ ซึ่งเหมือนกันระหว่างปี 2562 และ 2566 เสียงสนับสนุนที่ชัดเจนคือ New Voter ในการเลือกตั้ง 2562 4 ปีที่ไม่ได้เลือกตั้งทำให้มี New Voter เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น เมื่อดูแยก
เจเนอเรชั่น จะพบว่าปัจจุบัน เจน X ที่มีอายุ 42-57 ปี คงสัดส่วนประชากรได้มากถึง 30.80 เปอร์เซ็นต์ เจน Y 28.90% แต่ปัจจัยในการเลือกรัฐบาล เมื่อนำเจน Y,Z มารวมกัน จะมากกว่าเจน X ในทางตรงกันข้าม เราจะพบว่า เจน X และเบบี้บูมเมอร์ ในทุกปีจะมีค่าเฉลี่ยลดลง ตรงกันข้ามกับเจน Z ที่จะเติบโตขึ้นทุกปี จึงกล่าวได้ว่า New Voter มีส่วนสำคัญในการเลือกตั้งและสนับสนุนประชาธิปไตย เนื่องจาก 70 เปอร์เซ็นต์ ของเจน Z สนับสนุนเสรีประชาธิปไตย มากกว่ายืนข้างอนุรักษนิยม หรือพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ และได้รับผล กระทบจากการทำงานที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือเมื่อเรียนจบ ก็พร้อมไปเป็นแรงงานอยู่ต่างประเทศ
สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่รัฐบาลชุดนี้ทำต่อคนรุ่นนี้ ลองคิดดูว่าคนรุ่นนี้จะมีทัศนคติเลือกพรรคที่เป็นอนุรักษนิยม หรือพรรคที่สืบทอดอำนาจหรือไม่” รัฐภูมิชี้

⦁เทียบนโยบาย ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ สิทธิพื้นฐาน (แก้) กระบวนการยุติธรรม
อีกหนึ่งประเด็นที่โฆษกวีโว่ขับเน้นถึงเหตุผลว่าทำไมพรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องจับมือกัน คือหลักการพื้นฐานด้านนโยบายและแนวคิดที่สอดคล้อง
“ไม่ว่าค่าแรงขั้นต่ำ ที่เพื่อไทยจะขึ้น 600 บาทต่อวัน ในปี 2570 ส่วนก้าวไกลจะขึ้นทันที ดีเทลอาจจะแตกต่าง แต่พื้นฐานและหลักการสำคัญ คือต้องการขึ้นค่าแรง ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
หรือแก้ไขกระบวนการยุติธรรม ที่เห็นพ้องว่ากฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ทั้งการบังคับใช้และเนื้อหา พร้อมจะมีพื้นที่พูดคุยหาทางออก ไม่ว่าจะแก้ไขหรือยกเลิกก็ตาม
อีกสิ่งที่มีร่วมกัน คือการรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เขามองเห็นคุณค่าและความเท่าเทียมกันของประชาชน ปัจจัยที่สอดคล้องกันนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันนโยบายให้สำเร็จ หากจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน
ดังนั้น จึงแตกต่างกันว่า เหตุใดพรรคฝ่ายประชาธิปไตยถ้าจับมือฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน มีแนวโน้มที่นโยบายจะไม่สำเร็จ” รัฐภูมิกล่าว
นับเป็นแคมเปญน่าสนใจในฟากฝั่งประชาชนที่ไม่เคยหยุดยั้งการเคลื่อนไหวด้วยความมุ่งหวังได้เห็นภาพการแลนด์สไลด์ของ (ฝ่าย) ประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image