ราษฎรทั้งหลาย พึงรู้เถิดว่า ศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล จัด ‘๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์’

ราษฎรทั้งหลาย พึงรู้เถิดว่า ศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล จัด ‘๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์’
หมุดคณะราษฎร (จำลอง)

ราษฎรทั้งหลาย พึงรู้เถิดว่า ศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล จัด ‘๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์’


คือท่อนต้นของบทเพลง ‘24 มิถุนา’ ที่ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขับร้องให้ฟังจากความทรงจำในวัยเยาว์ เมื่อครั้งที่วันดังกล่าวยังคงเป็น ‘วันชาติ’ ในปฏิทินรัฐไทย

“วันชาติของไทยนั้นมีความเป็นมายาวนานทีเดียว เพราะหลัง 2475 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา มีดำริว่า เมืองไทยควรมีวันชาติ แล้วได้ตกลงกันว่าจะเอา 24 มิถุนายน มาเป็นวันชาติ สรุปแล้ว เริ่มใช้วันนั้นเป็นวันชาติตั้งแต่ปี 2482 พูดง่ายๆ คือ เริ่มใช้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และใช้จริงๆ เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

วันชาติ 24 มิถุนายน ใช้มากระทั่งถึงปี 2503 รวมระยะเวลาถึง 21 ปี ตลอดระยะเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 และตลอดระยะเวลาอันยาวนานของสงครามเย็น จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์มายกเลิกใน พ.ศ.2503

Advertisement

เพราะฉะนั้นในรุ่นเบบี้บูมเมอร์ แม้กระทั่งก่อนเบบี้บูมเมอร์ คือ คนแบบผมจะคุ้นเคยกับวันชาติ 24 มิถุนายน และร้องเพลงนี้ได้ เพราะถูกเปิดในวันชาติทุกปี คนรุ่นหลังจากนั้นมาอาจไม่ค่อยคุ้นเคย ส่วนเจนหลังๆ คือ เจนวาย เจนเอ็กซ์ เจนแซด ไม่รู้จัก ประโยคสำคัญคือ ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย เริ่มระบอบแบบอารยะประชาธิปไตย ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี

ซึ่งย้ำว่า เมื่อเปลี่ยนชื่อจากราชอาณาจักรสยามเป็นประเทศไทย มีความเป็นอารยะ เป็นสากล เหมือนนานาอารยประเทศ

ในยุคนั้น 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญมาก เป็นวันหยุดราชการ มีการเฉลิมฉลองใหญ่โต มีพิธีกรรมอะไรมากมาย”

Advertisement
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

คำกล่าวข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของปาฐกถาพิเศษโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ ที่จะกระหึ่มในงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล ‘๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์’

งานดังกล่าว จะจัดขึ้นอย่างอลังการงานสร้าง สมเกียรติวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งเครือมติชน นำโดย ศิลปวัฒนธรรม, สำนักพิมพ์มติชน, ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) และเส้นทางเศรษฐี ผนึกกำลังรวมพลนักวิชาการเบอร์ต้นขึ้น 9 เวทีทอล์ก ครบจบทุกมิติ อาทิ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ, เอนก นาวิกมูล, บูรพา อารัมภีร, ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง, นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ดร.ชาติชาย มุกสง, ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ดร.ฐนพงศ์ ลือขจรชัย และ ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีปฐมบทของ ‘เทศกาลหนังสือการเมือง’ จากสำนักพิมพ์มติชนและพันธมิตร รวม 8 สำนัก ฉายภาพยนตร์หาชมยาก อย่าง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ วอล์กกิ้ง ทริป ย้อนวันย่ำรุ่งประชาธิปไตย, เพลินใจกับคอนเสิร์ตยุคสร้างชาติ ที่ สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ส่งเทียบเชิญไปยัง โฉมฉาย อรุณฉาน เพื่อร่วมย้อนยุค ‘บรรเลงรมย์’ พร้อมอิ่มอร่อยกับเมนูประชาธิปไตยระหว่าง 23-24 มิถุนายนนี้ ตั้งแต่ 10 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่มตรง ที่ ศูนย์ธุรกิจและอาชีพมติชน หรือ ‘มติชนอคาเดมี’

พร้อมฉายภาพสังคมไทยแบบที่ไม่ใช่แค่อีเวนต์ฉาบฉวย หากแต่เป็นชวนให้ดื่มด่ำ สัมผัส และเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างลุ่มลึก ทว่า รื่นรมย์

หนึ่งในไฮไลต์ที่ต้องชวนให้โฟกัส คือ บรรดาหลักฐานอันล้ำค่าในยุคเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ ที่ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง, นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ อัครชัย อังศุโภไคย เปิดกรุขนมาให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยผลัดกันชื่นชม เพ่งมอง พินิจ พิจารณาถึงเบื้องลึกเบื้องหลังที่มากกว่าการเป็นของสะสม

ดังเช่นไอเท็มของ ผศ.ศรัญญู อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะนำกระดุม เหรียญตรา และประติมากรรมล้ำค่ามาให้ชมแบบไม่แนะนำให้กะพริบตา

“ที่เด่นๆ ก็จะมีพวกเหรียญต่างๆ กระดุม ของที่ระลึกในงานวันชาติฉลองรัฐธรรมนูญ แบบแปลนวงเวียนสระแก้ว จังหวัดลพบุรี แผนผัง โปสเตอร์ และของที่ระลึกอย่างเช่น ถ้วยรางวัล โล่รางรัลในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2476 กับ พ.ศ.2480”

โล่รางวัลที่ระลึกงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2480

ถามว่า ชิ้นไหนเข้าข่าย ‘ของรักของหวง’

ได้คำตอบว่า ‘คอลเล็กชั่นเหรียญ’ อันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดช เหรียญรัฐธรรมนูญ เข็มกลัดที่เป็นตรารัฐธรรมนูญ มีข้อความระบุว่า ‘สละชีพเพื่อชาติ’ รวมถึงประติมากรรมคชสีห์วงเวียนสระแก้วแบบโมเดล ซึ่งสะท้อนความเป็นสมัยใหม่ ทะลุกรอบจารีตนิยมด้วยกล้ามเนื้อสมส่วน

“ถ้าหากพูดถึงสิ่งที่ห้ามพลาด นิทรรศการครั้งนี้ เป็นการเก็บรวบรวมความสนใจในหลายรูปแบบ ตั้งแต่สำนึกวิธีคิดภายใต้ระบอบการปกครองใหม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรภายในสิ่งพิมพ์ในแง่ของรูปแบบทางศิลปะ งานอาร์ตเวิร์กตั้งแต่ปกหนังสือ โปสเตอร์ รวมไปถึงรูปแบบทางงานศิลปะผ่านทางประติมากรรม การออกแบบอนุสาวรีย์ต่างๆ ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าระบอบการปกครองใหม่ มันใหม่จริงๆ ตัดขาดออกจากระบอการปกครองแบบเก่า เพราะแสดงความเป็นสมัยใหม่และเป็นโมเดิร์นผ่านทางวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงสิ่งพิมพ์ เช่น โปสเตอร์โฆษณาประชาสัมพันธ์ระบอบใหม่ เกี่ยวกับสถานการณ์เมืองแบบใหม่ที่มีนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แสดงถึงสัญญะของระบอบการปกครองใหม่ที่เป็นรูปเทพีเทอดรัฐธรรมนูญ” ผศ.ศรัญญูเล่า

อีกหนึ่งวัตถุพยานห้ามพลาดชม ขอส่องสปอตไลต์ไปที่เหล่าภาพถ่ายซึ่งบันทึกวินาทีสำคัญในห้วงประวัติศาสตร์ยุคสร้างชาติ เก็บความทรงจำ อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนบนถนนแห่งการเปลี่ยนแปลงไว้อย่างน่าอัศจรรย์

อัครชัย อังศุโภไคย ช่างภาพอิสระ คือ ผู้ใช้เวลาว่างไปกับการเดินตลาดของเก่า สำรวจเมือง ซอกแซกตรอกซอยถนน พบพานภาพถ่ายและหนังสือเก่าที่ปลุกเร้าอารมณ์แห่งความเท่าเทียมให้ลุกโชน

ช่างภาพท่านนี้ เตรียมเปิดหีบสุดล้ำค่าที่มีของสะสมกว่า 40 ชิ้นให้ราษฎรไทยได้รับชม อาทิ อัลบั้มภาพถ่ายงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2483, หนังสือที่ระลึกงานเปิดสมาคมคณะรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2477, หนังสือฉลองวันชาติปี พ.ศ.2483 ซึ่งมีภาพถ่ายของ อำมาตย์ตรี หลวงสิริราชไมตรี นามเดิม จรูญ สิงหเสนี 1ใน 7 คณะราษฎร ที่ส่งกลับมาให้ญาติพี่น้องในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่ระลึก พ.ศ.2479 เป็นหนังสือรุ่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่, ภาพถ่ายพิธีเปิดธนาคารเอเชียเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมถนนเยาวราช พ.ศ.2482 ปัจจุบันคือ ธนาคารยูโอบี, สมุดภาพนางสาวสยาม พ.ศ.2478 ปัจจุบันคือเวทีนางสาวไทย จัดทำโดยห้องภาพแบล็คแอนด์ไวท์, หนังสือที่ระลึกงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2481 หน้าปกปรากฏข้อความว่า ‘ถั่วเหลือง’ เพราะขณะนั้นมีการส่งเสริมให้คนไทยปลูกถั่วเหลือง, นิตยสารวิทยาศาสตร์ หน้าปกเป็นภาพการเก็บถั่วเหลืองส่งเสริมเกษตรกรรม, อัลบั้มเปิดหอประชุมสมาคมหอการค้าชิโน-สยาม ปัจจุบันคือหอการค้าไทย-จีน, อัลบั้มภาพถ่ายงานรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2483 หนังสือประมวลเอกสารคณะรัฐธรรมนูญเล่ม 1 ปี 2477 เป็นต้น

ถามว่า ชิ้นไหน ภาพใด ห้ามพลาด?

“ตอบได้เลยว่า ทุกชิ้น ไม่อยากให้โฟกัสชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นพิเศษ ส่วนตัวเป็นช่างภาพก็ชอบอะไรที่เกี่ยวกับภาพถ่าย ชื่นชอบอัลบั้มรูป หนังสือเกี่ยวกับภาพ อย่างหนังสือชื่อสยาม รวมภาพถ่าย พ.ศ.2480 หน้าปกเป็นกราฟิกคล้ายเศียรพระพุทธรูป มีรูปเครื่องบิน สำหรับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดู ได้ศึกษา มี 4 ภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส” อัครชัยเล่าอย่างเห็นภาพ

ก่อนเชิญชวนให้เดินทางมาร่วมงานกันเยอะๆ

“24 มิถุนายน เป็นอีกวันสำคัญของประเทศไทย มาดูบรรยากาศวันชาติ หรืองานฉลองรัฐธรรมนูญในอดีตร่วมกัน แม้เป็นเรื่องการเมืองที่ดูเหมือนหนักๆ และน่าปวดหัว แต่จะได้สัมผัสบรรยากาศในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ได้เห็นวิวัฒนาการของสังคมไทยผ่านภาพถ่ายที่สะท้อนวิถีชีวิต ณ เวลานั้น” ช่างภาพหนุ่มเจ้าของสมบัติล้ำค่าในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ทิ้งท้าย

๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์ เป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ของเครือมติชนที่ต้องขีดเส้นใต้ ตั้งเวลาแจ้งเตือน 23-24 มิถุนายนนี้ ขอราษฎรทั้งหลายโปรดรู้ไว้ว่า อย่าพลาด!

————————————

ร่วมงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน นี้ เวลา 10.00-20.00 น. ได้ที่มติชนอคาเดมี ถนนเทศบาลนิมิตใต้ ซ.12 ประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เข้าฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย เดินทางสะดวกด้วยรถโดยสารสาธารณะ และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีวัดเสมียนนารี สอบถามโทร 0-2954-3977-84

ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ http://www.matichonevent.com/24june/ และติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก Silpawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม และเว็บไซต์ www.silpa-mag.com

ชญานินทร์ ภูษาทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image