7 โควตเด็ด วาทะเผ็ช การเมืองจัดจ้าน การบ้านที่ท้าเปลี่ยน

นโยบายใหญ่รัฐบาลใหม่ สร้างประเทศไทยเป็นแผ่นดินศานติสุข

7 โควตเด็ด วาทะเผ็ช
การเมืองจัดจ้าน
การบ้านที่ท้าเปลี่ยน

มีหลากหลายเรื่องราว ก่อนก้าวเข้าสู่ปีมะโรง
มีหลายชีวิต ที่ออกโรงส่งเสียงเรียกร้อง ยื่นข้อเสนอ บ้างก็ให้มุมมองในทางที่ตนเองถนัด
สารพัดเรื่องราวไหลเวียนในปี 2566 ตั้งแต่การเลือกตั้งที่หลายคนตั้งตารอกระทั่งได้รัฐบาลใหม่ ด่านต่อไปคือ รัฐธรรมนูญใหม่ที่คล้ายเป็นเสียงตะเบ็งของผู้คนในยุคสมัย ว่าถึงเวลาให้น้ำหนัก มองเห็นความสำคัญของประชาชน
ร่างกฎหมายสูงสุดที่เห็นหัวคนทุกชนชั้น
เป็นปีแห่งความคาดหวัง ว่าประเทศไทยจะคลายปมปัญหาบางอย่างได้บ้าง
บทสนทนาตลอดปี 2566 ในคอลัมน์ “อาทิตย์สุขสันต์” เอ่อล้นไปด้วยฟีลลิ่ง ทั้งพอใจ ขมขื่น เข้มข้น ทั้งปมการเมือง สังคม ปากท้องชาวบ้าน คำทำนายจากผู้เชี่ยวชาญ ความเห็นจากเยาวชนนักเคลื่อนไหวที่ห่วงใยบ้านเกิดเมืองนอน ข้าราชการที่รับเงินเดือนจากภาษี แต่มีความมุ่งมั่นบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ หรือแม้แต่เสียงของคนที่ดิ้นรนหาช่องทำกิน สร้างฐานะในประเทศที่มาตรวัดทางกฎหมายกลายเป็นตัวขวางทางการเติบโตของคนตัวเล็ก
บรรทัดต่อจากนี้ คือ ‘7 โควตเด็ด วาทะเผ็ช’ จาก 7 บุคคลแห่งปี ที่กำลังส่งสารสำคัญ อันสมควรสุดๆ ที่คนในสังคมจะได้ขบคิด

ปากท้อง
ต้องมาพร้อมเสรีภาพ

“ติดคุกก็มีข้าวกินแต่ไม่มีเสรีภาพ ก็ไม่มีประโยชน์ มันไม่ใช่มนุษย์ที่เต็มในศักดิ์ศรี ตอนนี้เราถูกปล้นไปเกือบครึ่ง คนที่ไม่ได้เลือกตั้งมาเคาะว่าใครจะเป็นนายกฯ ส.ว.สำคัญตัวผิด ทำตัวอยู่เหนือประชาชน”
“เอาจริงๆ ผมอยากเห็นสังคมไทยที่มันบันเทิง ที่คนเท่ากัน เถียงกันได้ เถียงแบบไม่ติดคุก อยากเห็นรัฐสวัสดิการ อยากเห็นคนเจ็บป่วยไข้เข้าโรงพยาบาลโดยที่รัฐจ่าย เรื่องรัฐสวัสดิการ ความเท่าเทียม เอาเข้าจริงในไทยทำได้นะ เป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มาก งบประมาณก็มีพอสมควร ถ้าเราตัดงบกลาโหมออก ไม่ใช่น้อยๆ 40,000 ล้าน สร้างโรงพยาบาลได้ตั้งเยอะ ตัด ส.ว.ออกไป หลายอย่างมันต้องสะสาง”

Advertisement

อานนท์ นำภา
ทนายความและนักเคลื่อนไหว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

“จงขบถต่อไป’
ประเทศเรายังไปไม่ไกล

Advertisement

“พอพูดในไทยมันดูเป็นปัญหาที่ใหญ่ เรื่องทรงผม โดนขัง พอเทียบปัญหากับประเทศโลกที่ 1 ที่เผชิญอยู่ เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องสิทธิพลเมืองเขาไปไกลแล้ว แต่เรายังไม่ไปไกล
“แรกๆ กลัว ด้วยความที่ภัยคุกคามอยู่แค่หน้าประตูบ้าน วันนี้ตำรวจมานั่งรออยู่หน้าป้ายรถเมล์ ตำรวจไปบ้านตา ไปเคาะประตู โดนครั้งแรกมันกลัว โดนครั้งที่ 2 มันกล้า เป็นความรู้สึกที่ว่าแล้วไง คุณก็ทำได้แค่นี้ ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวแล้ว ถ้าไม่เปลี่ยนประเทศวันนี้จะให้รออีกกี่ปี ไม่งั้นก็ต้องมี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ คนที่ 2 ให้อันนาเป็นคนสุดท้าย
‘จงขบถต่อไป’ อยากให้เราเป็นเด็กคนสุดท้ายที่ต้องเจอปัญหา จะทำให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งรอบตัวมากขึ้น”

อันนา อันนานนท์
กลุ่มนักเรียนเลว

 

‘อยู่ดูความเปลี่ยนแปลง’
ศิลปะแห่งความเป็นไปได้

“ความเปลี่ยนแปลงมันมาแล้วล่ะ อาจจะไม่เร็วอย่างที่เราคิด แต่อาจจะไม่ช้ามากอย่างที่เราวิตก หลายคนในรุ่นราวคราวเดียวกันรู้สึกว่าอาจได้อยู่เห็นความเปลี่ยนแปลง เราเลยกินอาหารสุขภาพ ออกเดิน เลยใช้นาฬิกาที่มันนับก้าวด้วย วันนี้ได้พันกว่าก้าวแล้ว ผมพยายามจะเดินให้ได้ 5,000 ก้าว ตำราเขาบอกให้เดินหมื่นก้าว”
“ถามว่าเขาดีลกันไม่ได้หรือ ผมไม่เชื่อ การเมืองเป็นสิ่งที่ฝรั่งบอกว่า The art of the Possible. คือสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่ The art of the Impossible.”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

การเมืองไทย
เหมือนข้าวคลุกแกงมัสมั่น

“ผมว่าการเมืองไทยเหมือนข้าวคลุกแกงมัสมั่น มันเริ่มมีองค์ประกอบแบบต่างประเทศเข้ามาในสิ่งที่เรียกว่าความเป็นไทย องค์ประกอบเหล่านี้มันก็ขลุกขลิกกันอยู่ รอให้งวดๆ ลงตัว แล้วกลายเป็นอาหารจานเด็ด ความขลุกขลิกไทยเทศจะผสานกันลงตัวอย่างไร ขึ้นอยู่กับคนปรุง อยู่ที่อุปกรณ์ประกอบทำแกง ปัจจัยจำเป็น ปัจจัยพอเพียง ผมคิดว่าการเมืองไทย หากเดินในทิศทางที่มีการบริหารจัดการความขัดแย้ง ถ่วงดุล ลดความรุนแรง ค่อยๆ เอาไทยเทศมาผสมกัน ถ้าได้ออกมาเป็นแกงมัสมั่นคลุกข้าวสักจานก็น่าจะมีกำลังใจพอไปต่อได้”

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

 

สุดโต่งไป
เพลาๆ บ้าง กับความมโน

“การแข่งขันที่เป็นธรรม ก็เหมือนกีฬา เขายังแบ่งรุ่น แบ่งไซซ์ เพื่อให้คนแข่งขันกันได้ ผมอยากเห็นกติกาที่สร้างสรรค์ กระตุ้นให้ทุกคนออกมาแข่งขันกันทำมาหากิน ไม่ใช่สุราเสรีแล้ว ฉันกินเหล้าทั้งวัน มันก็ต้องไปทำงานหาเงิน จินตนาการแบบนั้นมันสุดโต่งไป อยากให้มองในแง่ความสุนทรียะในเวลาพักผ่อน มายด์เซตแบบนี้มันมีบ้างไม่ได้หรอ ท่านผู้มีความเจริญทั้งหลายก็ดื่มไวน์ ดื่มวิสกี้เมืองนอกกันทั้งนั้น พอจะปลดล็อกสุราให้มีความหลากหลาย โอ้ ตายแล้ว! (หัวเราะ) ไทยมีด่านตรวจแอลกอฮอล์เยอะที่สุดในโลก กฎหมายจราจรก็มีอยู่ แต่ว่าไม่เรียนรู้อะไรเลย แล้วก็เอาสินบนไปแบ่งกัน เพลาๆ บ้างกับความมโน ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว”

ศุภพงษ์ พรึงลำภู
ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์สหประชาชื่น และขับเคลื่อน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า

 

เหมือนรถโฟร์วีล
ดุดัน แต่ระวังตกถนน

“รัฐบาลควรเปรียบเหมือนรถโฟร์วีล คนขับดุดันมุ่งมั่น เชื่อมั่นตัวเอง ขับไปบนเส้นทางที่มั่นคง แต่ก็ต้องฟังคนที่ให้คำปรึกษา อย่าขับเร็วจนตกถนน อยากให้ประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่โดยขอให้มองทั้งนักธุรกิจระดับบนระดับล่าง ดำเนินงานให้มันเป็นเหมือนใยแมงมุม มีเครือข่าย คือคุณต้องสัมพันธ์กันหมด อย่าไปมุ่งเน้นจุดใดจุดหนึ่ง คุณต้องทำให้ล่างอยู่ได้ และบนก็อยู่ได้ด้วย”

ประทีป วัชรโชคเกษม
นักธุรกิจ เจ้าของอาณาจักร ‘แสงประทีปออโต้ซีท’

 

มาเอาหน้าด้วยกันไหม?
ต้องช่วยกันดึงสติ

“ต้องเล่นการเมืองให้มันน้อยๆ หน่อย’ คือบางทีมันชนะนะ แต่ชนะบนซากปรักหักพัง ถ้าคุณมีจิตสำนึก มาเอาหน้าด้วยกันได้ไหมละว่าเราทำเพื่อประชาชน จริงๆ การเมืองที่ดีมันทำได้ แต่พอจะชนะให้ได้อย่างเดียวแล้วเอาประชาชนมาอ้าง ก็เศร้าเหมือนกัน เหมือนกับโฟกัสไปอยู่ที่ตรงนั้นจนมันลืมจุดอื่น ลืมหรือเปล่าว่าเข้ามาทำไม การเป็นนักการเมืองที่ไม่โอเค จุดเล็กๆ มันเกิดจาก small decisions แล้วไต่ระดับไปเรื่อยๆ ต้องช่วยกันเตือนสติ”

ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย
ส.ก.เขตบางซื่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image