น้ำตาหยดรดโคกยาว ‘เด่น คำแหล้’ ชีวิตที่สูญหายไปในปัญหาที่ดิน

การหายตัวไปของใครคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องปกติแน่ และยิ่งถ้าเป็นการหายตัวของนักต่อสู้เพื่อสิทธิในสถานการณ์ที่น่ากังวลต่อความปลอดภัย

ชื่อของ “เด่น คำแหล้” ปรากฏในหน้าสื่อช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หลังการหายตัวไปของเขาโดยทิ้งร่องรอยปริศนาไว้

หลายคนอาจไม่ได้ให้ความสนใจในคดีนี้ ด้วยเพราะเป็นเรื่องของ “ชาวบ้าน” ที่เรียกร้องเรื่องสิทธิ “ที่ทำกิน” ในพื้นที่ “ชนบท” ห่างไกล

เด่น คำแหล้ เป็นชาวอุดรธานี จบป.4แล้วบวชเรียนต่อ ภายหลังสึกออกมาทำงานเป็นลูกจ้างดำนาช่วยครอบครัว และหารายได้เสริมด้วยการชกมวยโดยไม่เคยชกแพ้เลย

Advertisement
เด่น คำแหล้

ปี 2514 เด่นและครอบครัวได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) และปี 2516 เข้าป่าเขตงานภูซางในชื่อจัดตั้ง “สหายดาว อีปุ่ม” หลังจากนั้นทางพคท.ได้ส่งตัวไปโรงเรียนการเมืองการทหารที่ลาวและเวียดนาม

เมื่อกลับมาทางพรรคส่งสหายดาวและคณะมาเคลื่อนไหวในเขตอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิและพื้นที่ใกล้เคียง จนปี 2525 เด่นเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรเต็มตัว โดยแต่งงานกับ “สุภาพ คำแหล้” อาศัยทำกินที่โคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร ซึ่งเป็นที่ดินของพ่อตา

ปี 2528 รัฐบาลดำเนินโครงการ “หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักสัตว์” เข้ามาปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส ขับไล่ชาวบ้านโคกยาวออกจากพื้นที่ โดยจัดสรรที่ดินที่มีชาวบ้านถือครองอยู่แล้วไว้ให้ จึงไม่สามารถเข้าทำกินในที่จัดสรรได้

Advertisement

เด่นเป็นแกนนำชาวบ้านเรียกร้องสิทธิที่ทำกินเรื่อยมา โดยเสนอให้จัดทำโฉนดชุมชน ต่อมาปี 2557 รัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า เจ้าหน้าที่จึงกดดันให้ชาวบ้านอพยพออก

16 เมษายน 2559 เด่น คำแหล้ หายตัวไปขณะอายุ 65 ปี

ผ่านไปหนึ่งปีกว่า หลังการค้นหาหลายครั้งมีการพบวัตถุพยานหลายชิ้น เมื่อมีนาคมที่ผ่านมาพบเศษชิ้นส่วนกระโหลกพร้อมของใช้ในวันที่หายตัว แต่อยู่ในระหว่างการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ว่าเป็นชิ้นส่วนกะโหลกใคร

แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะให้น้ำหนักกับอุบัติเหตุและการถูกโจมตีโดยสัตว์ป่า แต่จากหลักฐานที่พบสร้างความน่าสงสัยให้ชาวบ้านปักใจเชื่อว่าการหายตัวไปของเด่นเป็นฝีมือของมนุษย์

บ้านของเด่น-สุภาพ คำแหล้ ในชุมชนโคกยาว

บ้านที่เงียบเหงา

1 ปี หลังการหายตัวไป

“1ปีที่ตาเด่นไม่อยู่ก็คิดถึงเป็นธรรมดา คนเคยอยู่ด้วยกัน เราคุยกันตลอดถึงพี่น้องชาวบ้าน คิดถึงตาเด่นมาก”

สุภาพ คำแหล้ ภรรยาเด่น กล่าวถึงความรู้สึกหลังสามีหายตัวไป 1 ปี

ทุกวันนี้สุภาพยังอาศัยอยู่ที่โคกยาว ทำกินบนพื้นที่ซึ่งมีข้อพิพาทจำนวน 6 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บ้าน สวนยาง และพื้นที่ปลูกพืชหมุนเวียน โดยไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา

สุภาพปลูกผักสลับชนิดกันไปทั้งฟักทอง พริก มะเขือ ผักกาดและถั่วแดง เก็บไปนั่งขายเองที่ตลาดทุ่งลุยลายทั้งเช้าและเย็นได้วันละ 100-300 บาท พอได้ค่าอาหารไก่ หมาและคน ประทังชีวิตไปวันๆ

สุภาพไม่มีลูก เมื่อเด่นหายไปจึงทิ้งเธออยู่กับไก่และหมา 3 ตัว

สุภาพ คำแหล้ ถ่ายภาพที่สวนยางหน้าบ้าน

วันที่หายตัวไป เด่นเดินเข้าไปในป่าบริเวณสวนป่าโคกยาวรอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว พื้นที่ซึ่งเด่นชำนาญเส้นทาง สายวันนั้นเขาเข้าไปพร้อมหมา 2 ตัว ชื่อเติ่งกับหมี จนบ่าย 3 หมีเดินกลับมาตัวเดียว และเมื่อถึง 3 ทุ่มเติ่งก็กลับมาในอาการหวาดกลัวตื่นตกใจ มีรอยแผลที่หูและเดินกะเผลก จน 4 ทุ่ม ชาวบ้านโคกยาวได้ยินเสียงปืน 1 นัดดังมาจากทางลำน้ำพรม

สุภาพเพิ่งสังเกตเมื่อเร็วๆนี้ว่ารอยแผลบนหูไอ้เติ่งเป็นรูกลม หลังจากวันนั้นจากหมาที่ไม่กลัวคน ทำให้เติ่งหวาดระแวงและไม่กล้าเข้าใกล้ผู้คน

“อยู่คนเดียว ไม่มีลูก เมื่อก่อนก็เหงา นานมาก็ชิน ถึงไม่มีตาเด่นก็จะอยู่ที่นี่ต่อ เรื่องความปลอดภัยอยู่ที่ไหนก็ตาย กลัวเหมือนกันแต่ไม่ถอย ตาเด่นหวังอยากให้โฉนดชุมชนโคกยาวเป็นจริง อยากให้เป็นไปตามที่ตาเด่นหวังไว้”

สุภาพเล่าว่าชุมชนโคกยาวมี 33 หลัง ปัจจุบันเหลือ19หลัง คนออกไปทำงานรับจ้างที่อื่น บางคนโดนคดีรุกที่ก็กลัวจึงย้ายออกไปเพราะมีบ้านที่อื่น แต่คนที่ยังอยู่อย่างเธอไม่มีที่ดินที่อื่นอีกแล้ว

“เราจะพูดว่าใครทำก็ไม่มีหลักฐาน แต่ตาเด่นโดนอุ้มหายจริงๆ เขาไม่มีศัตรูที่ไหน ไม่เคยทะเลาะกับใคร เรามีเพื่อนเยอะ เป็นคนสนุกคบคนง่าย มีปัญหาเรื่องที่ดินอย่างเดียว”

สุภาพไม่เชื่อว่าสาเหตุการตายจะเป็นเพราะสัตว์ป่าหรือตกต้นไม้ตามที่บางฝ่ายสันนิษฐาน หลักฐานล่าสุด ที่เจอเมื่อเดือนมี.ค.เป็นกะโหลกพร้อมเสื้อผ้าที่เด่นใส่วันที่หายตัวไปวางกองกันไว้โดยไม่ถูกดินและใบไม้ทับถม จึงน่าเชื่อว่าอาจเป็นฝีมือมนุษย์มาวางไว้ภายหลัง

หลักฐานที่พบเมื่อเดือนมี.ค.2560 มีของใช้วันที่หายตัวไป ภาพจากสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

“ภาวนาอยากให้เจอตัวผู้กระทำ แต่หลักฐานที่มียังจับไม่ได้ จะเจอไหมก็ยังไม่รู้”

ส่วนการต่อสู้เรื่องที่ทำกินสุภาพยืนยันเดินหน้าต่อ

“ท้อแต่ไม่ถอย จะสู้ต่อไป เพราะไม่มีที่ทำกิน ขอรัฐบาลมาตั้งหลายยุคหลายสมัย พอเราขอโฉนดชุมชน เขาก็มาปักป้ายไล่ชาวบ้าน ยังไงก็ต้องสู้ เพราะไม่มีทางไป เขาให้เราออก เราบอกไม่ออก จนวันสุดท้ายที่โดนอุ้มหาย ตาเด่นเป็นแกนนำพี่น้องชุมชนโคกยาว พอไม่อยู่ก็เดือดร้อนเพราะไม่มีผู้นำ

“ภูมิใจที่ตาเด่นไปเรียกร้องสิทธิที่ทำกิน ทำเพื่อพี่น้องคนจนให้มีอยู่มีกิน เราไม่มีลูกแต่เราทำเพื่อคนอื่น”

สุภาพและเด่นเคยติดคุก 12 วัน ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม และประกันตัวออกมา ที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 6 เดือน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค. สุภาพไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเพียงลำพัง ศาลฎีกามีคำสั่งให้ออกหมายจับนายเด่น คำแหล้ ปรับนายประกัน และเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ออกไปเป็นวันที่ 15 มิ.ย.นี้

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมงานรำลึก 1 ปี โดยมีการทำมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ เรียกขวัญนายเด่น

ชาวบ้านทำลายป่า?

ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินกลายเป็นปัญหาร่วมของประชาชนหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย

ทวีศักดิ์ มณีวรรณ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าวว่าปัจจุบันชาวบ้านหลายพื้นที่ตกอยู่ในสถานะผู้บุกรุก ทั้งที่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มาอยู่ก่อน เป็นผู้บุกเบิกที่ดิน แต่นโยบายรัฐและกฎหมายเข้ามากดทับสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน

“ขณะที่คนในสังคมเมืองสนับสนุนให้เอาคนออกจากป่าเพราะกล่าวหาว่าทำลายป่าทำให้น้ำแล้ง เช่นเดียวกับที่มีการปลูกฝังว่าชาวเขาทำไร่เลื่อนลอยทำลายป่า ปลูกฝังว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายทรัพยากร ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นผู้ปกป้องทรัพยากรป่าไม้ในปัจจุบัน”

ทวีศักดิ์ชี้ให้เห็นว่าปัญหาพื้นที่ป่าลดลงมีมานานแล้วด้วยนโยบายของรัฐ ตั้งแต่สมัยก่อนที่มีการให้สัมปทานป่าไม้แก่บริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ การก่อตั้งกรมป่าไม้ในปี 2439 ก็เพื่อมาบริหารจัดการไม้ที่ส่งออกนี้ ป่าไม้ลดลงตั้งแต่ก่อนชาวบ้านจะเข้ามาอยู่ และพื้นที่ป่าลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

“แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่พ.ศ. 2504 ส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ปอ มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส ข้าวโพด เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ เมื่อเป็นพืชอายุสั้นจึงต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำให้พื้นที่ป่าลดลง
ขณะเดียวกันกฎหมายป่าไม้ตั้งแต่ปี 2484 ระบุว่าป่าคือที่ดินที่ไม่มีใครครอบครองแม้ไม่มีต้นไม้ คนที่ไม่มีเอกสารสิทธิจึงเป็นผู้บุกรุกทันที

“ปัจจุบันมีผู้อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวน 4.5 แสนราย อาศัยในเขตอุทยาน 1.8 แสนราย และที่ดินประเภทอื่นๆ รวมแล้วคนในประเทศมากกว่า 15 ล้านคนอยู่ในพื้นที่รัฐโดยเฉพาะเขตป่า พื้นที่จ.ชัยภูมิยังเป็นสีเขียวมีความอุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่วิกฤติที่ต้องปกป้องทวงคืนผืน โดยไม่ดูว่ามีชาวบ้านหรือชุมชนอยู่มาก่อน เกิดการไล่ที่พี่น้องคนจนในเขตป่า”

ทวีศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อพื้นที่จ.ชัยภูมิยังเป็นเขตสีเขียวทั้งที่มีชุมชนอาศัยอยู่ แสดงว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ ชาวบ้านต้องมีน้ำมีป่าเป็นวิถีชีวิต เขาหากินอยู่กับป่าก็ต้องดูแลให้อุดมสมบูรณ์ คอยปกป้องดูแลผืนป่า

“ขณะที่ชาวบ้านไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองถูกฟ้องรุกที่ แต่ที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศนี้อยู่ในมือคนส่วนน้อย กลายเป็นของสะสม นายทุนนามสกุลเดียวมีที่ดินในมืออยู่ถึง 6 แสนไร่” ทวีศักดิ์กล่าว

มึนอ ภรรยาบิลลี่ นักต่อสู้สิทธิชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไป มาให้กำลังใจ สุภาพ ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรม

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

เมื่อเหยื่อตกเป็นจำเลย

มองในมุมของนักสังคมวิทยา ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” เมื่อโครงสร้างสังคม อำนาจและการถือครองที่ดินก่อให้เกิดความรุนแรง ตั้งแต่คุกคามจับกุมจนถึงเสียชีวิต เวลามีปัญหาเรื่องป่าไม้เรื่องที่ดินชาวบ้านมักถูกตำหนิว่าเป็น “จำเลย”

“แท้จริงชาวบ้านเป็นเหยื่อของโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวนพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงนั้นนโยบายภาครัฐมีส่วนสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลง ตั้งแต่เรื่องสัมปทานป่าไม้ การตัดถนนเพื่อไปปราบคอมมิวนิสต์ การสร้างเขื่อนในพื้นที่ลุ่มที่สมบูรณ์ นำไปสู่การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ อีกทั้งการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้เป็นสินสูญเสียที่ดิน นำไปสู่การเข้าไปใช้ที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งชาวบ้านไม่รู้ว่าเป็นป่าสงวน

“ขณะที่ความตื่นตัวเรื่องการรักป่าของคนชั้นกลางเพิ่งมาเกิดขึ้นราวหลังปี 2540 แล้วปี2560รัฐบาลจะลุกขึ้นมาบอกว่าป่าไม้ลดลงเพราะชาวบ้านนั้นไม่ถูก เมื่อมองประวัติศาสตร์อย่ามาโทษชาวบ้านอย่างเดียว นโยบายรัฐมีส่วนให้เกิดการลดลงของพื้นที่ป่าไม้”

บุญเลิศ อธิบายต่อว่าประเทศที่คนส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมจะเกิดปัญหาเรื่องการถือครองที่ดินจำนวนมาก และคนจะลุกขึ้นมาต่อต้านเศรษฐีเจ้าที่ดิน หลายประเทศจึงต้องกระจายการถือครองที่ดิน

และเหตุที่ปัญหาที่ดินในบ้านเราไม่แหลมคมรุนแรงจนคนออกมาเรียกร้องต่อต้านหนักเหมือนในต่างประเทศนั้น บุญเลิศมองว่าเพราะประเทศไทยมี “พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ”

“ป่าสงวนแห่งชาติ เป็นพื้นที่ซึ่งรัฐไม่ค่อยเข้มงวด จนชาวบ้านเข้าไปบุกเบิกอยู่อาศัย แต่ระยะหลังความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลเริ่มเอาจริงกับที่ดินส่วนนี้ การทำแบบนี้คือการผลักให้ประชาชนหลังชนฝา จำเป็นต้องสู้ ที่ผ่านมาโครงสร้างอำนาจทางการเมืองเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสู้ได้บ้าง มีการตั้งกรรมการไกล่เกลี่ย แต่เมื่ออยู่ในบรรยากาศที่ไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชน ความรุนแรงจึงเกิดขึ้น

“ประเทศนี้มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แต่ไม่มีที่ดินที่ไม่มีเจ้าของ แทนที่ชาวบ้านจะไปทะเลาะกับป่าไม้ แต่เราแทบไม่วิพากษ์เอกชนเศรษฐีเจ้าที่ดินที่ถือครองที่ดินรกร้างเลย” บุญเลิศกล่าว

การหายไปของ เด่น คำแหล้ สร้างความกังวลให้คนที่กำลังต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินทั่วประเทศ

นโยบายที่เลือกใช้ไม้แข็ง ไล่ต้อนชาวบ้านจนมุม มีแนวโน้มที่จะสร้างความรุนแรงให้ปรากฏมากขึ้น

คำถามที่ปรากฏขึ้นซ้ำๆ คือประชาชนจะอยู่อย่างไร หากเกิดการอุ้มหายกับคนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิบ่อยครั้ง โดยที่รัฐไม่สามารถควบคุมดูแลหาตัวผู้กระทำผิดได้

เช่นที่ ฤทธิ์ คำแหล้ น้องสาวของเด่นกล่าวทั้งน้ำตาว่า

“พี่เคยบอกว่าถอยไม่ได้ ถ้าหยุดแล้วชาวบ้านจะอยู่ยังไง ถ้าตายก็จะตายอยู่ที่ทุ่งลุยลายนี่ เป็นความแค้นจากการต่อสู้ จะตายยังตายแบบน่าอนาถ อยากให้คนเข้าใจการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ทำกิน ถ้าสังคมยังอยู่แบบมีการอุ้มฆ่าอย่างนี้ประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่อยากให้มีการตายแบบนี้อีก”

กสม.ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเมื่อ 11 มิ.ย. 2559 ภาพจากสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
“หมี” สุนัขที่เข้าป่าไปพร้อม เด่น คำแหล้ วันที่หายตัวไป

 

คลิกอ่านรายละเอียดเหตุการณ์เพิ่มเติมที่ “E-book เด่น คำแหล้ ความทรงจำ การสูญหาย และเสียงร่ำไห้ของลำน้ำพรม” โดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image