‘Double Standard’ กระตุกมาตรฐานสื่อ วัฒนธรรมล้อเลียนกับเส้นที่มองไม่เห็น

“…หลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดโซเชียลมีเดียต่างๆ มีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นเยอะมาก ในจำนวนนั้นหลายสื่อเป็นสื่อที่ดี แต่ก็มีจำนวนมากที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ พวกเราเป็นคนทำสื่อมืออาชีพ มีสำนึก มีอุดมการณ์ที่ดี และตระหนักดีว่าสื่อมีอิทธิพลต่อผู้คนและสังคมอย่างแท้จริง เราเลยอยากจะทำสื่อที่ให้ความรู้ ความคิด และความเข้าใจกับผู้คน ตามมาตรฐานคุณภาพที่ดีที่สุดที่เราหวังไว้…”

เป็นคำกล่าวในวันเปิดตัว The Standard ของ โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 หลังลาออกจากอะเดย์ที่ก่อตั้งมากับมือและมาตั้งสื่อค่ายใหม่ โดยยืนยันว่าชื่อ The Standard เป็นการตั้งมาตรฐานตนเอง ไม่ได้ตั้งมาตรฐานให้วงการสื่อ

ทั้งตัววงศ์ทนงและทีมงานที่รวบรวมมาจาก The Momentum และสื่ออื่นๆ ในเครืออะเดย์ ล้วนไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการสื่อ เฉพาะนิตยสารอะเดย์ก็มีอายุจะครบ 17 ปีแล้ว ผ่านมืองานข่าวกับ A day weekly นิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ และ The Momentum สำนักข่าวออนไลน์

ขณะที่ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว The Standard เคยให้สัมภาษณ์ต่อ “MangoZero” หลังลาออกจาก The Momentum และเตรียมเปิดตัว The Standard โดยบทสัมภาษณ์เผยแพร่เมื่อ 28 มีนาคม 2560

Advertisement

“เรารู้สึกว่าโมเมนตัม เหมือนการลองผิดลองถูก ส่วนเว็บใหม่ที่กำลังจะทำคือของจริง”

และเผยถึงสำนักข่าวออนไลน์ใหม่ที่เตรียมจะเปิดตัวในขณะนั้นว่า

“เราคาดหวังให้ เดอะ สแตนดาร์ด เป็นมาตรฐานใหม่ของวงการสื่อสารมวลชนออนไลน์ไทย เราพยายามทำให้ทุกอย่างมันถูกต้อง มีหลักจริยธรรมสื่อที่ดีตามที่มันควรจะเป็น”

Advertisement

ตามมาด้วยคำถามที่โยนมาว่า

“มาตรฐานสื่อแบบไหนที่คุณต้องการ?”

ดับเบิลสแตนดาร์ดเขียนคอลัมน์วันสำคัญคล้ายในเพจเดอะสแตนดาร์ด เป็นหนึ่งในหลายคอลัมน์ที่จงใจทำล้อเลียน

จรรยาบรรณของการล้อเลียน

วิกฤตแรกที่ The Standard ต้องรับมือคือการเชิญนักการเมืองคนหนึ่งมาเป็นคอลัมนิสต์ ผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเข้ามาแสดงความไม่พอใจ ระดมกดให้คะแนนรีวิว “ดาวเดียว” ตั้งแต่ยังไม่เปิดตัว

เป็นเหตุให้วงศ์ทนงต้องประกาศ “ระงับ” คอลัมน์ของ “คอลัมนิสต์คนนั้น” ไว้ก่อน

แต่ยังไม่อาจหยุดยั้งความไม่พอใจได้ เมื่อมีกลุ่มคนตั้งเพจ Double Standard เริ่มแรกมุ่งหมายล้อเลียน The Standard โดยโพสต์เนื้อหาล้อเลียนคล้ายคลึงกับต้นฉบับ เผยแพร่ในเวลาใกล้เคียงกันแบบเงาตามตัว

เมื่อเพจดับเบิลสแตนดาร์ดเริ่มติดตลาด มีคนให้ความสนใจมาก จึงเริ่มผลิตเนื้อหาล้อเลียนข่าวต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นเสียดสีการเมืองและชีวิตคนชั้นกลางในเมือง

โดยทางเพจเปิดรับเนื้อหาจากผู้อ่าน โดยมีข้อแม้ว่า คอลัมนิสต์ของเพจนั้น ต้อง “มีอันจะกิน” เพราะไม่มีค่าตอบแทนให้

มีการคาดเดากันว่าผู้ทำเพจดับเบิลสแตนดาร์ดอาจเป็นคนในแวดวงสื่อหรือผู้มีประสบการณ์ในการเขียนและวงวิชาการ เพราะมุขตลกที่หยิบขึ้นมาจิกกัดนั้นคาดเดาได้ว่าไม่ใช่มือสมัครเล่นแน่นอน

น่าสนใจที่จำนวนคนกดไลค์เพจไม่ห่างกันนัก โดย Double Standard มีจำนวน 3.7 หมื่นคน และ The Standard มีจำนวน 4.9 หมื่นคน (ณ วันที่ 28 มิ.ย.2560) แต่จำนวนคนกดไลค์และแชร์ในแต่ละโพสต์นั้นเพจล้อเลียนมีจำนวนมากกว่าหลายช่วงตัว

แล้วก็ถึงทีดับเบิลสแตนดาร์ดก้าวพลาด หลังปาฐกถาในหัวข้อ “การเมืองไทยกับสังคม 4.0” เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมในแวดวงวิชาการและการเมือง

ดับเบิลสแตนดาร์ดหยิบประเด็นนี้มาโพสต์ โดยล้อเลียนไปถึงเรื่องส่วนตัว ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ

ตามมาด้วยปรากฏการณ์ “วงแตก” ผู้ติดตามเพจแสดงความผิดหวังจนหลายคนประกาศกด “อันไลค์” เพจ

นักวิชาการด้านสิทธิบางคนซึ่งแม้จะไม่เห็นด้วย แต่ก็ยืนยันว่าโพสต์ของดับเบิลสแตนดาร์ดเป็นเสรีภาพในการพูด แต่เป็นอารมณ์ขันที่รสนิยมแย่

เป็นสถานการณ์ที่ยากจะหาแนวร่วม

เมื่อพลาดไปแล้ว ทางเพจดับเบิลสแตนดาร์ดก็ออกมายอมรับด้วยวรรคทองของเสกสรรค์

“มีแต่การมอบตัวให้กับความจริงเท่านั้น เราจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ ตรงตามเงื่อนไขเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น”

และรับว่าเมื่ออารมณ์ขันนั้น “ไม่ขำ” ไร้รสนิยมและข้ามเส้น จึงทบทวนไตร่ตรอง เพราะอยู่นอกเหนือเจตนารมณ์ที่จะนำเอา “อารมณ์ขัน” และการ “ล้อเลียน” มาเล่าประเด็นที่เห็นว่าเป็นเรื่องไม่เข้าท่าในสังคม

ที่น่าสนใจจนเจ้าของเพจเองก็งงงวยคือ เพจยั่วล้อโปกฮาแบบดับเบิลสแตนดาร์ดนั้น ถูก “ให้ค่า” จนนักวิชาการต้องออกมาท้วงติงถึงความเหมาะสมในกรณีเสกสรรค์

อาจตีความได้ว่าการยั่วล้อ (ในเรื่องอื่นๆ) ของเพจนี้ ยังมีคุณค่าที่คนอ่านอยากให้เป็นไปอย่างมีหลักการ

“ลุดวิก ฟอน วูล์ฟแกง : อีแร้ง” โดย ดอล์ฟ ชาร์ฟ เป็นวรรณกรรมล้อนิยายเรื่อง “โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล” หนึ่งในวรรณกรรมล้อที่มีชื่อเสียงของตะวันตก

เกิด “วรรณอำ” ก่อนจะมาเป็น “ชาวท่าแซะ”

พูดถึงการล้อเลียนในแวดวงวรรณกรรมนั้นมีมาแต่โบร่ำโบราณ นอกจากวรรณกรรมล้อในตะวันตกแล้ว ในไทยก็มีอย่างเรื่อง “ระเด่นลันได” ที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) เขียนล้อเรื่อง “อิเหนา” กลับสถานะตัวละครจากคนสูงศักดิ์มาเป็นคนชั้นล่างชาวบ้านร้านตลาด หรือ “ไผ่ตัน” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่มีชื่อคล้ายกับ “ไผ่แดง” ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช แบบไม่บังเอิญ

อีกหนึ่งเล่มลือลั่นที่นิยามตัวเองว่าเป็น “วรรณอำร่วมสมัย” จากหนังสือ “ฉันจึงมาหาความหงอย” โดย ไพบูลย์ วงษ์เทศ ที่เขียนล้อเลียนงานเขียนของนักเขียนชื่อดัง เป็นผู้ให้กำเนิด “วิทยากร กุนเชียง” กับบทกวี “ฉันเมาฉันหง่าวฉันอึ้ง ฉันจึงมาหาความหงอย”

โดนอำกันไปถ้วนหน้าทั้งวงการ และมีการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มจริงให้ซื้อหาอ่านกัน

การล้อเลียนปรากฏอยู่ในสื่อหลายสาขา ทั้งเพลง ภาพยนตร์ และบางครั้งก็เกิดปรากฏการณ์ที่งานล้อเลียนขายดีกว่างานต้นฉบับเสียอีก

ส่วนการล้อเลียนของสื่อที่เห็นเป็นรูปธรรม ในอดีตมีนิตยสาร “เพี้ยน” ทำล้อเลียนหนังสือพิมพ์ “ไทรัฏ” และ “เดรินิวส์” จับเรื่องในกระแสมาอำ ปรากฏตัวในช่วงก่อนปี 2530

ยุคต่อมาก็เกิด “ผู้จัดกวน” สื่อล้อเลียนในเครือผู้จัดการ ล้อกันหนักมือจนบางครั้งเลยเถิด ถูกขู่ฟ้องหมิ่นประมาทหลายครั้ง เนื่องจากมีการระบุชื่อหรือนำภาพไปตัดต่อ และยิ่งข่าวจากผู้จัดกวนถูกเผยแพร่ลงสื่อออนไลน์ หลายครั้งที่เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นข่าวจริง และอีกแห่งคือ “Not the Nation” เว็บไซต์ที่ทำขึ้นมาล้อเลียน “The Nation” เผยแพร่ในภาษาอังกฤษ

อารมณ์ขันยังเป็นที่ต้องการเสมอ ยิ่งมาถึงยุคโซเชียลมีเดียที่เราสามารถ “อำ” กันได้ง่ายๆ ไม่ต้องไปเขียนหนังสือขายเป็นเล่มอย่างแต่ก่อน แฟนเพจเฟซบุ๊กที่ทำขึ้นมาประชดประชันเสียดสีเรื่องเฉพาะจึงเกิดขึ้นมากมาย

และที่ตามมาคือ “ชาวท่าแซะ” ที่ไม่ได้หมายถึงชาวบ้านใน จ.ชุมพร แต่หมายถึงคนชอบ “แซะ” ซึ่งมีความหมายที่ไม่ตรงกับที่ระบุในพจนานุกรม หมายถึงการพูดจาเสียดสี คาดว่ามีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “กระแซะ” มากกว่า (ก. ขยับกระทบเข้าไป เช่น ขยับตัวกระแซะเข้าไป พูดเลียบเคียงกระแซะเข้าไป-ที่มา พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

ตลกเสียดสี ดาบสองคม

แง่หนึ่งการเสียดสีสร้างอารมณ์ขัน เป็นวิธีการหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือ ทำลายภาพลักษณ์อันขึงขังจริงจังของผู้ถูกล้อเลียน จนถึงลดความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ

เป็นหนึ่งในการต่อสู้ด้วยสันติวิธี เช่นที่ จันจิรา สมบัติพูนศิริ ผู้เขียน “หัวร่อต่ออำนาจ” เคยให้สัมภาษณ์ว่า อารมณ์ขันเป็นหนึ่งในการประท้วงด้วยสันติวิธีและจะมีพลังเมื่อใช้ร่วมกับวิธีการประท้วงอื่นๆ ซึ่งเธอมองในภาพใหญ่ถึงการต่อสู้กับรัฐ

“อารมณ์ขันจะทำงานในลักษณะที่ท้าทายอุดมการณ์ที่รัฐบาลใช้ในการสร้างความชอบธรรม เช่น หลายรัฐบาลในโลกมักบอกว่าตนเองเป็นผู้ปกป้องประชาชน สร้างความมั่นคงให้ประชาชน ขณะที่ผู้ใช้อารมณ์ขันก็จะทำให้เห็นว่า การปกป้องความมั่นคงของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ตลก แสดงว่ามันไม่จริง ซึ่งอารมณ์ขันจะทำลายสัญลักษณ์ของอำนาจเหล่านั้น”

แต่ใช่ว่าจะนำไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ เพราะอารมณ์ขันก็สามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ เช่นการใช้มุขตลกเหยียดผิว เหยียดเพศ ที่ส่งเสริมให้คนสนุกสนานไปกับความรุนแรง

“อย่าไปยึดว่าอารมณ์ขันจะเป็นสันติวิธีในทุกกรณี มันมีอารมณ์ขันที่สามารถเป็นความรุนแรง หรือนำไปสู่ความรุนแรงก็ได้”

เป็นคำกล่าวของจันจิราที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับมติชน ซึ่งน่ามาคิดต่อถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

“ดึงสติ” ก่อนไปถึงเฮทสปีช

การเสียดสีล้อเลียน ในบางกรณีใช้แสดงออกถึงความไม่พอใจด้วยอารมณ์ขัน ทั้งต่อประเด็นสาธารณะและบุคคลสาธารณะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องถูกต้องเสมอไป หากล้อเลียนผิดประเด็นหรือมีความรุนแรงจนสุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังนั้น ย่อมเกิดกระแสตีกลับได้

เช่นในกรณีล้อเลียนเสกสรรค์ แม้ไม่ได้มีผู้กำหนดว่าเส้นของการล้อเลียนควรวางไว้ที่ตรงไหน แต่เมื่อการใช้อารมณ์ขันนั้นข้ามเกินเส้นที่สังคมเห็นควร การติติงจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในสังคมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน และหากมีการยอมรับและแก้ไขความผิดพลาดนั้นจะทำให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชนออนไลน์

แม้กลุ่มผู้อ่านเพจดับเบิลสแตนดาร์ดจะไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ อย่างน้อยก็เป็นการสร้างบทเรียนร่วมกันในหมู่ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้

อย่างง่ายที่สุดที่จะพูดถึงความเหมาะควร คือการเคารพสิทธิต่อกัน ไม่จงใจบิดเบือนสร้างความเกลียดชังหรือก้าวล่วงในพื้นที่ส่วนตัว แต่ก็ยังถกเถียงได้เมื่อพื้นที่ส่วนตัวของบุคคลสาธารณะนำไปสู่ประเด็นเกี่ยวพันกับสังคม

คงไม่กล้าพูดไปถึงการสร้าง “มาตรฐาน” การล้อเลียน แต่น่าจะดีหากการท้วงติงและยอมรับแก้ไขเช่นนี้เกิดขึ้นกับพื้นที่อื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่การเมือง เมื่อมีการสร้าง “เฮทสปีช” แล้วสังคมควรสะกิดติติงกัน โดยเฉพาะในฝ่ายเดียวกัน เพื่อไม่ให้นำไปสู่การสร้างความเกลียดชังบานปลาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image