เสียงวิพากษ์ ‘พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่’ จากกุฏิสู่แหล่งเรียนรู้ที่(ยัง)ไม่ลงตัว

เพิ่งเปิดตัวไปอย่างอลังการสำหรับ “พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่” ที่วัดเทพธิดาราม อารามสำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งมีหลักฐานแจ่มชัดว่ากวีเอกเคยออกบวชและจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ระหว่าง พ.ศ.2382-2385 ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ โดยพรรณนาถึงปูชนียสถานและความงดงามของสถาปัตยกรรมในวัดอย่างละเอียดลออในวรรณคดี “รำพันพิลาป”

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เดิมใช้ชื่อว่า “กุฏิสุนทรภู่” จัดแสดงข้าวของจิปาถะที่เชื่อว่าร่วมสมัยกับสุนทรภู่ กระทั่งมีการบูรณปฏิสังขรณ์ตัวอาคาร แล้วปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ “ครบวงจร” โดยคาดหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวชีวิตและผลงานของท่าน ประกอบด้วยลูกเล่นไฮเทคมากมาย

อย่างไรก็ตาม ความถูกต้องของข้อมูลหลายอย่างยังคงน่าสงสัย ยังไม่นับ “ความเชื่อ” ที่ว่า อาคารดังกล่าวคือกุฏิของสุนทรภู่ ซึ่งไม่ได้ถูกอธิบายว่าไม่เคยมีหลักฐานใดๆ แน่ชัด

มาหมุนเข็มนาฬิกาแบบรัวๆ ย้อนไปกว่าครึ่งศตวรรษเมื่อครั้งเปิดอาคารดังกล่าวเป็นครั้งแรก ซึ่งกลายเป็นมูลเหตุแห่งความทรงจำว่าที่นี่คือกุฏิสุนทรภู่ กระทั่งมาสู่พิพิธภัณฑ์ที่ยังต้องตั้งคำถาม

Advertisement

26 มิถุนาฯ 2504 ที่ ‘กุฏิคณะ 7’

เรื่องราวเกี่ยวกุฏิสุนทรภู่ ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ครั้ง ธนิต อยู่โพธิ์ นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมศิลปากร มีการสันนิษฐานว่ากุฏิหลังหนึ่งในคณะ 7 เคยเป็นที่จำพรรษาของสุนทรภู่ แม้ดูจะไม่มีหลักฐานอย่างชัดเจนแต่ก็มีการจัดงานยิ่งใหญ่ที่วัดเทพธิดาราม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2504

ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร นำชมศิลปวัตถุและวัตถุสถานบริเวณวัดเทพธิดาราม ในงานกวีวรรณนา ครบรอบ 175 ปี แห่งวันเกิดของท่านสุนทรภู่ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2504

งานในวันนั้นยังติดอยู่ในความทรงจำของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อดีต “เด็กวัด” เทพธิดาราม ผู้ซึ่งยังไม่รู้ตัวว่าต่อมาจะกลายเป็นหนึ่งในหัวหอกผู้รื้อสร้างประวัติชีวิตของกวีเอกผู้นี้ผ่านการผลิตซ้ำงานเขียนมากมาย ยืนยันว่าสุนทรภู่ไม่ใช่คนเมืองแกลง แต่เป็นชาววังหลังฝั่งธนบุรี จนเดี๋ยวนี้ตำรับตำราต้องทยอยปรับเปลี่ยน

สุจิตต์เล่าถึงบรรยากาศสุดคึกคักในวันนั้นว่า ตอนนั้นยังเรียนมัธยม อยู่ๆ ก็มีคนมาที่วัดมากมาย ถึงรู้ว่ามีการจัดงานที่ “คณะ 7” แต่ไม่ได้ถามใครว่าเป็นงานอะไร ต่อมากรมศิลปากรตีพิมพ์หนังสือรำพันพิลาปของสุนทรภู่เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน พร้อมด้วยภาพงานวันเปิดกุฏิสุนทรภู่ กลายเป็นภาพชุดประวัติศาสตร์มาจนถึงวันนี้

Advertisement

สุจิตต์ยังเล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กที่เกี่ยวกับสุนทรภู่อย่างมีสีสัน ตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้สนใจอ่านกลอน พัฒนาสู่ความสนใจที่มีต่อสุนทรภู่ โดยมี ขรรค์ชัย บุนปาน และ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มเพื่อนที่ชวนกันอ่านวรรณกรรม

“คราวหนึ่งขรรค์ชัยกับเรืองชัยไปนอนค้างคืนด้วยกันในกุฏิท่านพระครูที่ผมอาศัยข้าวก้นบาตรกับที่ซุกหัวนอน แล้วกลางดึกก็เล่นผีถ้วยแก้ว จุดธูปเชิญวิญญาณสุนทรภู่มาแต่งกลอนแข่งกัน ผลคือสุนทรภู่ในผีถ้วยแก้วแพ้กลอน อีกนานหลายปีผมถึงอ่านงานของสุนทรภู่อย่างจริงจัง อันเนื่องจากขรรค์ชัยกับผมกลายเป็นศิษย์วงสุราของ ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี นามปากกา พ.ณ ประมวญมารค ได้ฟังเล็กเชอร์นอกระบบเกือบทุกวันจากโต๊ะร้านเนี้ยว กับมิ่งหลี ละแวกหน้าพระลาน”

2559 ปฏิสังขรณ์ ตั้งเป้า ‘พิพิธภัณฑ์ครบวงจร’

ตัดฉากมาในพุทธศักราช 2559 อาจารย์ด้านวรรณคดีไทยชื่อดังจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่ได้รับการแชร์ต่ออย่างมากในแวดวงการศึกษา โดยระบุว่า วัดเทพธิดารามรื้อกุฏิสุนทรภู่เพื่อสร้างสถานที่แสดงแสงสีเสียงเกี่ยวกับประวัติสุนทรภู่ สร้างความสนใจต่ออาคารดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง

กุฏิสุนทรภู่ ภาพเก่าจากหนังสือรำพันพิลาป ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2504

ต่อมา พระวิสุทธิวราภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ชี้แจงว่า ไม่ได้รื้อ แต่เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมกับงบประมาณอีกส่วนหนึ่งของทางวัด มีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนากุฏิสุนทรภู่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์แบบครบวงจร มีเทคนิคแสงสีเสียงดึงดูดให้ผู้เข้าชมสนใจเนื้อหานิทรรศการที่เกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ โดยในส่วนนี้ใช้งบประมาณ 5,700,000 บาท ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง สำหรับการบูรณะคุมโดยกรมศิลปากร เพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการ เนื่องจากวัดเทพธิดาราม เป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนตั้งแต่ พ.ศ.2492 คาดจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2559

กระทั่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2560 การดำเนินงานก็ยังไม่เสร็จสิ้น แต่มีความคืบหน้าไปมาก และสุดท้ายก็สำเร็จบริบูรณ์เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันสุนทรภู่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

เทคโน 4.0 ข้อมูล 0.4

ทันทีที่พิพิธภัณฑ์เปิดให้ชม ก็มีเสียง “บ่น” เบาๆ ด้วยความเกรงใจจากคนในแวดวงวิชาการ อารมณ์ประมาณว่า “ผิดหวัง” และเสียดายที่นิทรรศการภายในทั้ง 4 ห้อง ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมากนักเกี่ยวกับสุนทรภู่ แม้มีแอนิเมชั่นนำเสนอในห้องต่างๆ แต่ก็เป็นเรื่องราวพื้นๆ และค่อนข้างยืดยาวเกินกว่าคนจะตั้งใจชม มิหนำซ้ำข้อมูลบางอย่างยังล้าสมัย ทั้งที่ควรนำเสนอหลักฐานใหม่ที่ได้รับการค้นคว้า ไม่ว่าจะเป็น “อาชีพ” ของสุนทรภู่ ซึ่งในห้อง “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” มีข้อความระบุชัดเจนว่าท่าน “เป็นกวีที่ปรึกษาใกล้ชิดองค์กษัตริย์” ทั้งที่ในยุคนั้นไม่มีอาชีพกวี และอาชีพที่แท้จริงของสุนทรภู่ก็คือรับราชการเป็น “อาลักษณ์” ร่างหนังสือในราชสำนัก

นอกจากนี้ ในห้องเดียวกันยังระบุว่า ในขณะออกบวช “นับเป็นช่วงชีวิตที่ลำบากที่สุดของสุนทรภู่” ซึ่งหากพิจารณาตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์แล้ว ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีช่วงชีวิตใดที่สุนทรภู่ตกระกำลำบาก เนื่องด้วยอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้านายตราบจนสิ้นชีวิต

ภาพถ่ายเก่าประติมากรรมรูปสุนทรภู่ที่วัดเทพธิดาราม บันทึกไว้ก่อน พ.ศ.2543

สำหรับการนำเสนอผลงานของมหากวีท่านนี้ในห้อง “มณีปัญญา” ก็มีความพยายามให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม เช่น การนำ “กลบท” มาแยกเป็นท่อนๆ สำหรับเล่น “ต่อกลอน” และเน้นย้ำถึงโลกทรรศน์ที่กว้างขวางของสุนทรภู่ แต่ดูเหมือนไม่มีเนื้อหาที่มีน้ำหนักมากพอ ทั้งที่ควรเป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะผลงานคือสิ่งที่ทำให้ชายคนนี้เป็นที่รู้จักและยกย่องของคนไทย กระทั่งได้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม ประกาศโดยองค์การยูเนสโกเมื่อ พ.ศ.2529

ส่วนห้อง “แรงบันดาลใจไม่รู้จบ” นั้น มีการโชว์ข้าวของที่บอกว่า “ร่วมสมัย” กับสุนทรภู่ พร้อมกระดานชนวนและตู้พระธรรม ดูไม่ค่อยสัมพันธ์กับชื่อห้องที่ตั้งไว้เท่าไหร่นัก

ทั้งหมดนี้ มีการนำเสนอที่เน้นเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะ “เออาร์” (Augmented Reality) ให้ถ่ายภาพคู่ปูชนียวัตถุต่างๆ อาทิ หลวงพ่อขาว รวมถึงสุนทรภู่ และพระองค์เจ้าหญิงวิลาส (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) พระราชธิดาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้อุปถัมภ์สุนทรภู่ โดยจินตนาการว่าอยู่ร่วมเฟรมกัน จากนั้นภิกษุสามเณรจะถ่ายภาพซึ่งจะปรากฏบุคคลและสิ่งต่างๆ แบบสามมิติ

เออาร์สแกน สร้างภาพเสมือนจริงให้สุนทรภู่ และพระองค์เจ้าหญิงวิลาสกลับมามีชีวิตอีกครั้ง พร้อมให้ผู้ชมพิพิธภัณฑ์อยู่ร่วมเฟรม แต่ถูกตั้งคำถามถึงข้อมูลที่ไม่ได้รับการนำเสนออย่างเข้มข้นและลุ่มลึกเท่าที่ควร

ต้องยอมรับว่ากิจกรรมนี้สร้างความตื่นเต้นและสนุกสนานให้ผู้เข้าชมไม่น้อย แต่น่าเสียดายที่คำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมกับเนื้อหามีน้อยเกินไปหรือไม่ได้ถูกออกแบบให้ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร

หลงประเด็น ขาดมิติ ไม่ลงตัว

ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่มาแล้ว มีความเห็นว่า ก่อนอื่นต้องชื่นชมทางวัดซึ่งมีความตั้งใจจะเผยแพร่งานสุนทรภู่ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ยังไม่ชัดและไม่โดดเด่น หากมีเฟส 2 อยากให้นำข้อมูลมานำเสนอให้น่าสนใจมากขึ้น โดยอาจจัดให้มีหลายแนวคิด เพราะสุนทรภู่ไม่ได้เก่งเรื่องภาษาไทยอย่างเดียว พอทำเนื้อหาออกมาอย่างที่เห็น อาจทำให้คนนอกวงการด้านภาษาไทยคิดว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง ทั้งที่จริงๆ แล้วสุนทรภู่สามารถแตะได้ทุกวง ทั้งประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พันธุ์ไม้ การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตอนนี้การจัดห้องยังไม่ชัดเจนและเน้นไปที่ประวัติสุนทรภู่ โดยเป็นสิ่งที่หาดูได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต

“ควรมีธีม เล่นประเด็นเฉพาะให้น่าสนใจ ความจริงมีหลายมิติที่นำมาเล่นได้ เพื่อให้ผลงานสุนทรภู่มีความคมชัดมากขึ้น นอกจากนี้ ในอีกมุมต้องเข้าใจว่าคนที่เข้าไปอาจมีพื้นความรู้ไม่เท่ากัน บางห้องมีของวางอยู่เฉยๆ มีชื่อเรียกของ แต่ไม่มีคำอธิบายว่าเกี่ยวข้องกับสุนทรภู่อย่างไร บางห้องอาจหลงประเด็นไปเป็นเหมือนการจัดแสดงข้าวของช่วงรัชกาลที่ 3 หรือตอนที่สุนทรภู่มีชีวิตอยู่ แต่ต้องตั้งกฎไว้ก่อนว่าหลักการคือจะเผยแพร่เรื่องสุนทรภู่ ก็อาจต้องยึดหลักการนี้ และวางผังความคิดแต่ละห้องให้เป็นระบบจึงจะเล่าเรื่อง ไม่เช่นนั้นเมื่อเข้าไปแล้วอาจไม่มีสิ่งที่ต้องการ”

ในด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ผศ.ดร.อภิลักษณ์มองว่า พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวควรมีกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม เช่น อาจให้คนเขียนกลอนต่อจากสุนทรภู่ หรือจับวางตัวละครที่ตัวเองต้องการ เช่น เอาม้านิลมังกรไปเจอกับลักษณะวงศ์ เพื่อสร้างจินตนาการ หรือถ้าตัวเองเป็นสุนทรภู่ อยากแก้ตอนจบเรื่องไหน ส่วนกิจกรรมที่มีอยู่ตอนนี้ เช่น เออาร์สแกน ต้องตั้งคำถามว่ากิจกรรมนั้นต้องการอะไร เช่น ความรู้ จินตนาการ หรือได้รูปกลับไปเท่านั้น ซึ่งหลักๆ ควรได้ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ หรือวิธีคิดของสุนทรภู่

ไทม์ไลน์ชีวิตสุนทรภู่ซึ่งนักวิชาการมองว่าเป็นไฮไลต์สำคัญของพิพิธภัณฑ์ ในขณะที่ข้อมูลส่วนอื่นค่อนข้าง ‘ทั่วไป’ ไม่ลึกซึ้ง

“ควรพิจารณาหลักการเล่าเรื่องว่าควรเล่าอย่างไร รวมถึงหลักการพิพิธภัณฑ์ และหลักการท่องเที่ยวในจุดที่ลงตัว จะทำให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น”

สมุดไทย ‘ลายมือสุนทรภู่’ จริงหรือ?

อีกหนึ่งประเด็นที่ชวนตั้งคำถาม คือโบราณวัตถุที่ถูกนำจัดแสดงในห้อง “มหากวีสามัญชน” คือ สมุดไทยดำเส้นรงค์ เรื่องพระอภัยมณี ตอนนางสุวรรณมาลีจะฆ่าตัวตาย ป้ายจัดแสดงระบุว่าถูกค้นพบที่กุฏิแม่ชีในวัดเทพธิดารามเมื่อ 30 ปีก่อน ภิกษุที่นำชมบรรยายให้ฟังว่า ที่เห็นนี้เป็น “ลายมือสุนทรภู่” เนื่องจากพบที่วัด นับเป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอ หากจะนำเรื่องลายมือมาชูประเด็นเพิ่มความน่าสนใจ เหตุใดไม่ใช้หลักฐานดังที่ ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร เคยเปิดเผยว่า ในสมุดไทยเรื่อง “โคลงนิราศสุพรรณ” ที่มีร่องรอยการแก้ไขบทกลอน โดยเป็นลายมือเดียวกันตลอดทั้งเล่ม ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือที่สุดว่านั่นคือลายมือสุนทรภู่

“การจะไปบอกว่านั่นคือลายมือของสุนทรภู่ต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้ ถ้าไม่มีเหตุผลพอจะสร้างความสับสน ไม่เกิดประโยชน์อะไร ทางที่ดีควรนำลายมือที่ผมเสนอออกมาเปรียบเทียบว่าเป็นลายมือเดียวกันไหม ถ้าเหมือนกัน ก็รับฟัง” ศาสตราภิชานล้อมกล่าว

ข้าวของเครื่องใช้ที่มีการอธิบายว่าเป็นโบราณวัตถุร่วมสมัยยุคสุนทรภู่ ซึ่งนักวิชาการมองว่าเป็นการหลงประเด็น

สุดท้าย ประเด็นเรื่องตัวกุฏิ ซึ่งไม่มีหลักฐานชัดเจน ควรมีคำอธิบายหรือไม่ ว่าเป็นเพียงการสันนิษฐาน หรือ “สมมุติ” ขึ้น เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่สาระสำคัญว่าอาคารจะเป็นกุฏิของสุนทรภู่หรือไม่ เพราะสุนทรภู่เคยจำพรรษาที่วัดเทพธิดารามอย่างแน่นอน แต่จะอยู่กุฏิไหนไม่ใช่ประเด็นหลัก ขอให้มีการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องก็ล้วนเป็นสิ่งที่ดี

การนำสุนทรภู่ให้กลับมามีลมหายใจ อาจไม่ใช่แค่การสร้างภาพจำลองของสุนทรภู่และบุคคลร่วมสมัยให้มาโลดแล่นในภาพถ่าย แต่คือการนำเรื่องราวอันมีสีสันของชีวิต และผลงานมหาศาลของท่านมาให้ผู้คนเรียนรู้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image