‘ป่าเหนือ ชีวะธรรม’ ลูกไม้ใต้ต้น ประธานโครงการ สืบสาน วันสืบ นาคะเสถียร 2560

เช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน เมื่อ 27 ปีก่อน เกิดเสียงปืนดังสนั่นภายในบ้านพักหลังน้อยของหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

หัวหน้า สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง โดยก่อนหน้านั้นไม่นาน เขาได้สั่งเสียลูกน้องคนสนิทและเขียนจดหมายสั่งเสีย 6 ฉบับ เพื่อสะสางภาระรับผิดชอบและทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง รวมถึงมอบหมายเครื่องใช้และอุปกรณ์ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ตั้งศาลเพื่อแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพลีชีพรักษาป่าห้วยขาแข้ง แล้วสวดมนต์ไหว้พระจนจิตใจสงบ

สืบ นาคะเสถียร

การจากไปของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งคนนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานนักอนุรักษ์ไทยกับการเสียสละชีวิตตัวเอง เพื่อให้ทุกคนหันมามองและตระหนักกับการดูแลอนุรักษ์ ป่าไม้ และสัตว์ป่าในประเทศไทย

คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะสถาบันที่ทำหน้าที่หล่อหลอม ผลิตเจ้าหน้าที่ออกมาทำงานดูแลป่าไม้ สัตว์ป่า และสถาบันที่ สืบ นาคะเสถียร เรียนจบออกมา ไม่อาจปล่อยให้ผ่านพ้นไป โดยปราศจากความทรงจำ จึงถือเอาวันที่ 1 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสียชีวิตของคุณสืบ นาคะเสถียร กำหนดจัดโครงการ “สืบสาน วันสืบ นาคะเสถียร” ประจำปี พ.ศ.2560 ในวันที่ 31 สิงหาคม-1 กันยายน 2560 เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของ สืบ นาคะเสถียร รวมถึงสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ของเยาวชนรุ่นหลังๆ ได้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของทรัพยากรของประเทศอย่างยั่งยืน

Advertisement

ป่าเหนือ ชีวะธรรม นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวนศาสตร์ รุ่นที่ 81 ในฐานะประธานโครงการ สืบสานวันสืบ นาคะเสถียร ประจำปี 2560 บอกว่า งานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ปีนี้ จัดภายใต้ธีมงานที่ชื่อว่า “แสงไฟที่ปลายปืน” มีความหมายถึงความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของสืบ นาคะเสถียร ที่เสียสละแม้กระทั่งชีวิตตัวเอง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นสำหรับเรื่องการรักษาป่าไม้และสัตว์ป่า

“ทางคณะวนศาสตร์เราจัดงานนี้ทุกปี มีนิสิตปีที่ 3 เป็นคนทำ โดยเพื่อนๆ และน้องๆ พวกเขาวางใจให้ผมรับหน้าที่เป็นประธานโครงการ แต่ความจริงแล้วพวกเราก็ตั้งใจทำงานนี้กันมากและทำงานหนักเหมือนกันทุกคน ปีนี้ครบรอบ 27 ปีแล้วจากการจากไปของพี่สืบ รุ่นพี่ที่ผมและชาววนศาสตร์ยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของพวกเรา ความตั้งใจในการทำงานครั้งนี้ไม่ต้องถามครับ เราทุ่มเทแรงกายแรงใจเต็มที่ อยากให้ทุกคนที่มาร่วมงานได้รู้ว่าการทำงานของพี่สืบนั้นมีความสำคัญอย่างไร เขาเสียสละยิ่งใหญ่แค่ไหน

นิทรรศการที่เราทำขึ้นนั้นเป็นการนำเสนอความจริงเกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่ที่พี่สืบทำอยู่ว่ามีความยากลำบากแค่ไหน ทำไมพี่เขาถึงต้องฆ่าตัวตาย หลายคนอาจจะรู้เรื่องนี้มาบ้างแล้ว แต่นิทรรศการที่พวกเรานำมาแสดงนั้นจะมีความลึกและความละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นอีก ส่วนจะลึกและละเอียดแค่ไหน อยากให้มาดูครับ”

Advertisement

ประธานจัดงานสืบสาน วันสืบ นาคะเสถียรบอกด้วยว่า วันที่ 31 สิงหาคม ที่เป็นวันแรกของการจัดงาน ที่อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิรินั้น ช่วงเช้าถึงบ่ายจะเป็นการแข่งขันโต้วาทีในญัตติ “สัตว์ป่าควรอยู่ในสวนสัตว์ดีกว่าอยู่ในป่า” และ “ปลูกต้นไม้ในสวนมีประโยชน์มากกว่าปลูกต้นไม้ในป่า” ซึ่งตอนนี้มีทั้งนักเรียนและนิสิตต่างคณะหลายทีมสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้แล้ว โดยในช่วงบ่ายของวันเดียวกันก็จะมีการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ญัตติ “เก็บน้ำในเขื่อนสร้างความสุขมากกว่าเก็บน้ำในป่า”

“ที่เราจัดให้มีการโต้วาทีในงานนี้ก็เพราะการโต้วาทีเป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นตรงๆ ในเรื่องนั้นๆ ตามญัตติที่ตั้งขึ้น เราจึงอยากเห็นความคิด ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับการดูแลรักษาธรรมชาติ พวกเขาจะคิดอย่างไรกับวิธีการดูแลรักษาป่า และสัตว์ป่าที่ทำกันอยู่ในเวลานี้ ผมว่าสิ่งที่เราจะได้จากเวทีการโต้วาทีก็คือ การสะท้อนความคิดของเด็กๆ รุ่นใหม่ที่ต้องการสื่อถึงคนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ป่าโดยตรง” ป่าเหนือบอก

ช่วงเช้าของวันที่ 1 กันยายน จะมีการเสวนาเรื่อง “ไทยแลนด์ 4.0 กับการจัดการสัตว์ป่าเมืองไทย” ส่วนช่วงบ่ายที่ถือเป็นไฮไลต์ของงานนั้น ป่าเหนือบอกว่าทีมงานได้ไปเชิญหัวหน้าชุดปฏิบัติการ 3 หน่วยงาน คือชุดปฏิบัติการพญาเสือ แห่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คือ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร นายชีวะภาพ ชีวะธรรม กรมป่าไม้ และชุดปฏิบัติการฉลามขาว นายรัชชัย พรพา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาร่วมพูดคุยกันด้วยหัวข้อ กำลังใจที่เหลืออยู่ ดำเนินรายการโดย รศ.ดุสิต เวชชกิจ

“อยากให้ทุกคนอยู่ร่วมกับกิจกรรมในช่วงนี้ เราเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ตรงกับการทำงานอนุรักษ์ ทุกคนเป็นรุ่นพี่วนศาสตร์ ที่ผ่านความยากลำบากทุกรูปแบบในการทำงานมาแล้วทั้งสิ้น ผมคิดว่าพวกเขาคือตัวแทนของคนทำงานกับป่าที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวหลายอย่างให้เราฟัง การไปนั่งฟังในสิ่งที่พวกเขาพูด ไปซักถาม ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการให้กำลังใจพี่ๆ ที่ทำงานพิทักษ์ป่าเหล่านี้ นอกจากมีงานที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯแล้ว มีเพื่อนๆ อีกกลุ่มหนึ่งในฐานะตัวแทนของพวกเราก็จะเดินทางไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทำพิธีรำลึกการจากไปของพี่สืบ ร่วมกับทางหน่วยงานราชการด้วยครับ” ป่าเหนือบอก

ภาพจาก www.heritage.onep.go.th
ภาพจาก www.heritage.onep.go.th

ถามว่า ส่วนตัวแล้วเข้าใจความยากลำบากของการทำงานป่าไม้มากแค่ไหน?

ป่าเหนือบอกว่า ถ้าถามในฐานะคนที่มีพ่อชื่อ ชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร แล้วเพิ่งมาเข้าใจเอาเมื่อไม่นานนี้เอง

“ที่เมื่อก่อนไม่เข้าใจ เพราะพ่อไม่เคยบอกอะไรเลย เพราะพ่อไม่ค่อยอยู่บ้าน พ่อบอกแค่ไปราชการ ผมถามว่าไปราชการที่ไหน เขาก็บอกไปในป่าบ้าง บนเขาบ้าง โตขึ้นมาหน่อย ผมก็เริ่มเห็นข่าวพ่อ ทั้งในทีวี หนังสือพิมพ์ เลยเข้าใจว่างานเขาหนักและลำบากมาก ไม่เคยคิดว่าเขาจะทำงานหนักและเสี่ยงอันตรายขนาดนี้ แต่ผมก็ภูมิใจทุกครั้งที่เห็นข่าวพ่อในหนังสือพิมพ์ ทีวี เขาเสียสละความสุขของเขา ไม่ค่อยได้มาเจอผมกับน้อง แต่เราก็เข้าใจพ่อ เขาเป็นความภูมิใจของพวกเรา”

แล้วคิดว่าตัวเองเป็นลูกไม้ใต้ต้นหรือเปล่า?

“คิดมากเลยครับ ผมว่าใช่เลย ผมอยากทำงานแบบพ่อ แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตตัวเองเป็นอย่างไร เพราะผมอาจจะไม่เก่งพอ แต่ผมรู้ว่าตั้งใจเข้าเรียนที่คณะวนศาสตร์เพราะอยากทำงานแบบพ่อ แม้ว่าพ่อไม่ค่อยจะบอกอะไรผมมากก็ตาม พ่อคงไม่อยากให้ผมกับน้องเป็นห่วง ก็ยังคงบอกว่าไปราชการ และผมก็เห็นข่าวพ่อในหนังสือพิมพ์ ในทีวีทุกครั้ง เนื้อหาในวิชาที่ผมเรียนก็บอกผมอยู่แล้วว่าการทำงานดูแลป่าไม้นั้นมีความยากลำบากแค่ไหน ต้องเจอกับแรงกดดันและอันตรายรอบด้าน แต่สิ่งที่ผมและเพื่อนเรียน คงยากลำบากไม่ถึงครึ่งเท่ากับที่พ่อและพี่ๆ เจ้าหน้าที่ป่าไม้คนอื่นๆ ทำอยู่ในเวลานี้ แต่เหนือความยากลำบากที่เราต้องเผชิญแล้ว สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะต้องมีคือ ความกล้าหาญและความซื่อสัตย์”

ป่าเหนือ-ชีวะภาพ ชีวะธรรม

“พ่อเคยบอกว่า จะเรียนอะไร จะประกอบอาชีพอะไรก็ได้ที่ทำประโยชน์ให้สังคมได้ ไม่จำเป็นต้องทำงานเหมือนพ่อ แต่ผมบอกพ่อไปว่า พ่อไม่ต้องห่วง ถึงพ่อไม่บังคับแต่ผมก็เลือกที่จะมาเรียนตรงนี้ของผมเอง และผมอยากทำงานกับป่า อยากดูแลทรัพยากรป่าทั้งต้นไม้และสัตว์ในป่า ผมแค่มีพ่อเป็นต้นแบบที่ดี มีแรงบันดาลใจจากพี่สืบ ผมอยากสืบสานเจตนารมณ์ที่พี่สืบอยากให้พวกเราทำ”

“งานสืบสาน วันสืบ นาคะเสถียร ไม่ใช่แค่การจัดงานวันที่ 1 กันยายนเท่านั้น แต่ในฐานะนิสิตคณะวนศาสตร์คนหนึ่งก็มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าว่า เรียบจบออกไปแล้ว ต้องออกไปสืบสานเจตนาของรุ่นพี่ ที่เสียสละตัวเอง เพื่อให้เกิดแสงสว่างที่ปลายกระบอกปืน” ประธานโครงการ สืบสานวันสืบ นาคะเสถียร ประจำปี 2560 บอกทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image