กระชาก ‘ฝัน’ ไปจากชีวิต จุดเปลี่ยนสำคัญใน ‘ความฝันของฉันทนา’ สารคดี ‘รางวัลชมนาด’

กลับมาพบกันเป็นปีที่ 6 แล้ว สำหรับงานประกาศผลรางวัล ชมนาด (The Best of Non-Fiction) ครั้งที่ 6 โครงการประกวดสารคดีที่สร้างสรรค์โดยนักเขียนสตรีไทย

เป็นการจัดงานร่วมกันของ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ปีนี้มีผลงานที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกรอบสุดท้ายทั้งสิ้น 5 เรื่อง ประกอบด้วย แก้วร้าว, ความฝันของฉันทนา, เพียงลมหายใจให้ก้าวเดิน, ลิขิตอิตถี และของขวัญจากฟ้า

แต่ปรากฏว่า ปีนี้ไม่มีผลงานใดเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศ

Advertisement

โดย ความฝันของฉันทนา ผลงานจากปลายปากกา จันทรา รัศมีทอง คว้ารางวัล รองชนะเลิศ กลับไปเพียงรางวัลเดียวเท่านั้น

รางวัลรองชนะเลิศ “รางวัลชมนาด” จะได้รับเกียรติบัตรชมเชยจากโครงการ Chommanard Book Prize พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และต้นฉบับจะได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่เพียงภาษาเดียว พร้อมค่าลิขสิทธิ์ตามมาตรฐานไทย

Advertisement

“ความฝันของฉันทนา” เป็นงานสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตลูกสาวชาวจีนที่ต้องทิ้งความฝันในการเป็นครู กลายเป็น “สาวฉันทนา” ในโรงงานเย็บผ้า ด้วยเหตุผลเพียงว่า เธอเป็นลูกสาวคนโตที่ต้องเสียสละให้น้องๆ ได้เล่าเรียนต่อ

การโดนฉุดกระชากความฝัน ทำให้จันทราได้พบประสบการณ์แปลกใหม่จากการเป็นสาวโรงงาน รวมถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ผสมผสานอย่างกลมกล่อมไปกับชีวิตสาวโรงงาน

สิ่งเหล่านี้ได้เผยให้เห็นถึงความ “แข็งแกร่ง” ของสตรีผู้ใช้แรงงานที่ต้องต่อสู้เพื่อจุดยืนของ “ชนชั้นกรรมาชีพ” อย่างแท้จริง

พื้นที่แสดงความคิดของนักเขียนหญิง

หากหมุนเข็มนาฬิกากลับไปราว 30 นาทีก่อนการประกาศรางวัลชมนาด ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับฟังการเสวนาจากคณะกรรมการเกี่ยวกับความเห็นของคณะกรรมการในการคัดเลือกและตัดสินต้นฉบับ

หนึ่งในนั้นคือ รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวขอบคุณผู้จัดงานรางวัลชมนาดก่อนว่า รู้สึกขอบคุณท่านผู้ที่ทำให้เกิดรางวัลสำหรับนักเขียนหญิงขึ้น และจากการพูดคุยกับคนในอาเซียนด้วยกัน นี่เป็นรางวัลแรกของอาเซียนที่เป็นนักเขียนหญิง ชาติอื่นไม่มี และคิดว่าในโลกก็ไม่มีเช่นกัน

“การให้ความสำคัญกับผู้หญิงเป็นเรื่องที่เราบุกเบิกเหมือนที่ธนาคารกรุงเทพบุกเบิกซีไรต์ ช่วยทำให้ซีไรต์ดำเนินต่อไปได้ ต้องขอบคุณภาคเอกชนที่ทำให้วงการวรรณกรรมก้าวหน้าไป”

เราอาจหวังจากภาครัฐได้น้อย เพราะไม่ว่าจะเป็นซีไรต์หรือชมนาดก็เป็นแรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชนทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.ตรีศิลป์ยังกล่าวชื่นชมโครงการรางวัลชมนาดในการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงออกทางความคิด ความเขียน เพราะจากการเข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินกว่า 2 ปี ทำให้ทราบว่าผู้ส่งผลงานเข้าประกวดส่วนหนึ่งไม่เคยเป็นนักเขียนมาก่อน แต่อยากเขียนเพราะรางวัลนี้โดยเฉพาะ

“อันนี้น่าสนใจมาก เพราะนี่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงออก ซึ่งเป็นเสียงของผู้หญิงที่มาจากมุมต่างๆ บางคนไม่น่าเชื่อว่าเขาจะมาเขียนหนังสือ เพราะถ้าถามว่าเขาประกอบอาชีพอะไร เราจะมหัศจรรย์ตั้งแต่เปิดหน้าแรกแล้วว่าอาชีพเดิมเขาคืออะไร ก่อนจะตัดสินใจมาเป็นนักเขียน”

“สิ่งนี้น่าตื่นตะลึงมากกว่านิยายเสียอีก” รศ.ดร.ตรีศิลป์เอ่ยชม

คณะกรรมการตัดสินรางวัลถ่ายภาพร่วมกับผู้ได้รับรางวัลชมนาด ครั้งที่ 6

ในแง่การเริ่มเป็นนักเขียนนั้น รศ.ดร.ตรีศิลป์สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่หัดเขียนใหม่ๆ มักใส่ทุกอย่างลงไป บางครั้งนำประสบการณ์ส่วนตัวมาใส่ซึ่งมากเกินควร เพราะไม่จำเป็นต้องเขียนทั้งหมดก็ได้ โดยนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมเรื่อง การจัดเวิร์กช็อป สำหรับผู้ร่วมส่งผลงานให้ได้รับโอกาสฝึกฝน คัดสรรเนื้อหา ในการหยิบแง่มุมชีวิตมาเล่าได้อย่างน่าสนใจมากขึ้น

“ชีวิตของเขาแม้จะเป็นชีวิตของปัจเจกชนคือชีวิตส่วนตัว แต่บางครั้งชีวิตส่วนตัวก็เป็นชีวิตของสังคมด้วย

“การเติบโตขึ้น หรือปัญหาที่เขาเจอ กลายเป็นว่ามันเป็นช่วงเปลี่ยนของสังคมไทย เป็นประวัติศาสตร์ภาคประชาชน บางทีประชาชนเป็นผู้เฝ้ามองหรือเป็นผู้ประสบเหตุการณ์ร่วมยุคสมัยนั้น โดยสิ่งที่เขาพบเจอหรือบันทึกไว้ กลายเป็นส่วนหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย”

อีกท่านหนึ่งคือ กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปีนี้เพิ่งเข้ามาเป็น 1 ในคณะกรรมการตัดสินรางวัลปีแรก พร้อมเปรียบเทียบการเขียนหนังสือที่น่าจะคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ในแง่การใช้เทคนิคตัดต่อ เพื่อให้เนื้อเรื่องกระชับและน่าสนใจ

“เพราะการเขียนเรื่องจริง โดยเฉพาะเรื่องยาว เราต้องรู้ว่าต้องเน้นตรงไหนเป็นจุดสำคัญ ตัดตรงไหนออก แม้กระทั่งรางวัลออสการ์ เขาก็มีรางวัลการตัดต่อด้วย เพราะฉะนั้นการเขียนหนังสือ เรื่องการตัดต่อเป็นเรื่องสำคัญ”

ทั้งยังเอ่ยชื่นชมทุกผลงานเขียนที่สะท้อนให้เห็นถึงแง่งามแห่งชีวิต อันแสดงให้เห็นถึงความพยายาม มุมานะ รวมถึงการมองโลกในเชิงบวก เปลี่ยนความคิดร้ายให้กลายเป็นดี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตนเอง

จาก’ความฝันของจันทรา’
สู่’ความฝันของฉันทนา’

กลับมาถึง ความฝันของฉันทนา โดย จันทรา รัศมีทอง ซึ่งบอกเลยว่า ชื่อเสียงของ จันทรา รัศมีทอง นั้นไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

เพราะเธอกวาดรางวัลด้านวรรณกรรมมาแล้วหลากเวที หลายรางวัล ชนิดนับครั้งไม่ถ้วน อาทิ เรื่องสั้น “จึงมิต้องสลัดผ้าหน้าทำเนียบ” รางวัลรองชนะเลิศ จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2551, นวนิยาย “ขังเดี่ยวแดนสิบสอง” (นามปากกา เรืองรัชนี) รางวัลชมเชย ทมยันตี อะวอร์ด ในปี 2552, นวนิยายสำหรับเยาวชน “ขนมลูกชุบ” รางวัลรองชนะเลิศ รางวัลแว่นแก้ว

เรื่อยมาจนถึงปี 2555 ที่เธอสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ จากรางวัลแว่นแก้ว กับนวนิยายเรื่อง “เอ้อระเหยลอยคอ”

ล่าสุด ปีนี้เธอสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ รางวัลชมนาด ครั้งที่ 6 กับผลงานสารคดีเรื่อง “ความฝันของฉันทนา” กลับไปครองได้สำเร็จ

จันทรา รัศมีทอง เจ้าของผลงาน ‘ความฝันของฉันทนา’

จันทราเผยความรู้สึกหลังได้รับรางวัลว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาส ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใด เราตั้งใจทำ ผู้ใช้แรงงานทุกคนตั้งใจทำ เพราะไม่อยากเป็นภาระของสังคม แม้เป็นอาชีพที่เราไม่ได้รัก แต่เราตั้งใจทำ

ด้านเนื้อหาในเล่มเล่าถึงสมัยจันทราเรียนจบชั้นประถมศึกษา 7 พ่อแม่ขอให้เธอออกจากโรงเรียน เพื่อมาช่วยทำงานเย็บผ้าส่งน้องๆ เรียน แต่เจ้าตัวไม่อยากทำ กระทั่งเคยคิดฆ่าตัวตาย

“ตอนนั้นน้องชายตื่นมาเจอ มาคุยกับเรา เลยเปลี่ยนใจ ยังคิดว่าโชคดีที่วันนั้นไม่คิดสั้น เพราะจะไม่รู้เลยว่าวันนี้มีอะไรแขวนรอเราอยู่” จันทราเล่าพร้อมรอยยิ้ม ก่อนนึกขันที่ตอนนั้นคิดจะตัดช่องน้อยแต่พอตัว “คิดว่าเราโง่มาก ทำไมน้อยใจ ทำไมโง่”

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจที่แท้จริง จันทราปรับเปลี่ยนอารมณ์แล้วอธิบายให้ฟังว่า ตนเองอยากบอกคนที่คิดสั้นหรือท้อแท้ว่าอย่าไปคิดสั้นเลย ชีวิตมีค่า เราต้องฝ่าฟันมันไป ถ้าเราตั้งใจ สักวันความสำเร็จต้องเป็นของเรา ขอให้ได้ต่อสู้ก่อน อย่างอมืองอเท้า เพราะไม่มีอะไรได้มาด้วยการงอมืองอเท้า

“อย่างเราเองทำงานเย็บผ้าแล้วอยากเป็นนักเขียน มันดูผิดที่ผิดทาง แต่ถ้าเย็บผ้าแล้วอยากมีร้านตัดเสื้อ อันนี้ถูก ใช่ไหมคะ แต่พออยากมาเป็นนักเขียนปุ๊บ มันดูผิดที่ผิดทาง สมมุติว่าเราจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แล้วมาเขียนหนังสือ มันก็ธรรมดา แต่วันนี้เราถือว่าโชคชะตาชดเชยให้เราแล้ว”

ขณะเดียวกัน จันทรายังพาย้อนอดีตไปถึงวินาทีแห่งความปีติเมื่อครั้งมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับพระราชทานรางวัลแว่นแก้ว ที่ตัวเธอเองดีใจจนน้ำตาร่วง

“เราเห็นภาพน้องๆ ที่เคยได้รับปริญญาจากท่าน จากพระหัตถ์ท่าน แต่เราไม่มีโอกาส พอเราได้ เราดีใจจนน้ำตาร่วงเลย ดีใจมากๆ เราทำมาเรื่อยๆ ทำแบบขำๆ เพราะต้องดูแลคุณแม่ด้วย และการเขียนเรื่องจริงเขียนยากนะคะ เพราะไม่รู้จะเอาตรงไหนมาบ้าง อะไรมากไป อะไรน้อยไป ไม่เหมือนเรื่องจินตนาการที่เราอยากใส่ตรงไหนก็ใส่ (ยิ้ม)”

โดย “ความฝันของฉันทนา” นั้น จันทราเผยว่าใช้เวลาเขียนและขัดเกลาจนได้ที่อยู่นานกว่า 6 เดือน พร้อมกับสอดแทรก “สาร” ไปถึงผู้อ่านด้วยว่า ทุกคนที่อยู่ในอาชีพผู้ใช้แรงงาน ทุกคนตั้งใจทำงาน เพราะไม่อยากเป็นภาระของสังคม แม้บางคน บางท่านจะมองด้วยสายตาไม่ค่อยรัก ไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่

“อยากให้สังคมมองเราอย่างเป็นเพื่อนร่วมสังคมมากกว่า”

ธนัดดา สว่างเดือน เจ้าของผลงาน ‘ขังหญิง’ รางวัลชนะเลิศ รางวัลชมนาด ครั้งที่ 5 และจันทรา รัศมีทอง เจ้าของผลงาน ‘ความฝันของฉันทนา’ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศ รางวัลชมนาด ครั้งที่ 6

สานต่ออย่างไม่หยุดยั้ง

สำหรับโครงการ รางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) ครั้งที่ 7 นั้น ตัวแทนผู้จัดงานได้เปิดเผยรายละเอียดแล้วว่า ยังคงเป็นการประกวดผลงานสารคดี (Non-Fiction) โดยนักเขียนสตรีไทยเช่นเดิม

กติกาคือ ต้องเป็นงานเขียนที่แต่งขึ้นใหม่ สร้างสรรค์เป็นภาษาไทย และต้องไม่เคยจัดพิมพ์เป็นเล่มที่ใดมาก่อน, ไม่ลอกเลียน ดัดแปลง หรือละเมิดลิขสิทธิ์จากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือจากงานสร้างสรรค์ของผู้ใด, ผลงานต้องไม่เคยส่งประกวดหรือเผยแพร่ในรูปแบบสื่อใดๆ มาก่อน รวมถึงสื่ออินเตอร์เน็ต

ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมีสิทธิส่งผลงานได้เพียง 1 เรื่องเท่านั้น, กรณีใช้นามปากกาหรือนามแฝง ผู้ส่งผลงานต้องแจ้งชื่อ นามสกุลจริง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้สะดวก เพื่อประโยชน์ในการติดต่อกับโครงการฯ

โดยรางวัลชนะเลิศ รางวัลชมนาด จะได้รับการประดับ “เข็มกลัดสัญลักษณ์รางวัลชมนาดล้อมเพชรแท้” พร้อมเงินรางวัล 70,000 บาท และค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษตามมาตรฐานค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศแต่ละอันดับจะได้รับเกียรติบัตรชมเชย ต้นฉบับจะได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่เพียงภาษาเดียว พร้อมค่าลิขสิทธิ์ตามมาตรฐานไทย และเงินรางวัลในแต่ละอันดับอย่างเหมาะสม

เริ่มส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2561 โดยพิจารณาจากตราประทับของไปรษณีย์เป็นหลัก และสามารถส่งผลงานได้ 2 ช่องทาง คือทางไปรษณีย์และด้วยตัวเอง ณ จุดรับผลงานที่บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ

รายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามได้จาก www.praphansarn.com หรือโทร 0-2448-0312, 0-2448-0658-9

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image