น้อมส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่ฟ้าเสวยสวรรค์

(ซ้าย) พระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ประดิษฐานบนพระจิตกาธานภายในพระเมรุมาศ (ขวา) ขณะถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 (ภาพจาก "จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7" กรมศิลปากร, 2529)

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต บุคคล หน่วยงาน ฯลฯ ต่างน้อมถวายความอาลัย

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2559 จัดทำเป็นวาระพิเศษ เนื้อหาเกือบทั้งเล่มเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพ และพระราชประวัติบางเรื่องของพระองค์ เช่น การสืบราชสมบัติในราชสกุลมหิดล ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, ธรรมเนียมการสรงน้ำพระบรมศพ สุกำศพ และการไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพ, พระชฎาห้ายอดในพระบรมโกศ, ป้ายสถิตวิญญาณ จากจีนสู่ราชสำนักไทย, พิธีกงเต๊กหลวงฯ ฯลฯ

เพื่อร่วมกับคนทั้งชาติน้อมถวายความอาลัยการเสด็จสวรรคตของพระองค์

เวลาผ่านไป 1 ปี คนไทยทั้งประเทศกำลังเตรียมตัวเตรียมใจน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อทุกคนทราบว่าหมายกำหนดการพระราชพิธี “ถวายพระเพลิงพระบรมศพ” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560

Advertisement

บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ถือเป็นภารกิจสำคัญและมอบหมายให้สื่อในเครือทั้งหมด บันทึกและเผยแพร่ประวัติศาสตร์สำคัญของชาติครั้งนี้ ภายใต้โครงการ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์”

เพื่อร่วมกับคนทั้งประเทศน้อมส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่สวรรคาลัย

“ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคมนี้จึงจัดทำเป็นวาระพิเศษอีกครั้ง ครั้งนี้บทความทั้งเล่มนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และราชพิธีงานพระเมรุมาศ ด้วยเนื้อหาข้อมูลที่ลุ่มลึก จากการทำงานหนักของนักเขียน นักวิชาการนับสิบคน จึงขอยกตัวอย่าง 2-3 บทความมาแจ้งท่านผู้อ่านให้ได้ทราบ และโปรดอุดหนุน ดังนี้

Advertisement

บทความแรก คือ “ธรรมเนียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” โดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่บอกเล่าถึงขั้นตอนสำคัญของการประกอบพระราชพิธีพระบรมศพว่า

การถวายพระเพลิงพระบรมศพแฝงไว้ด้วยคติธรรมทางพุทธศาสนาเรื่องความอนิจจังของสรรพสิ่งผสมผสานความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์สมมุติเทพ เมื่อจัดเป็นพิธีกรรมจึงมีความซับซ้อน เพื่อเป็นการน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยอย่างสมพระเกียรติ

พระมหาพิชัยราชรถอัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ภาพถ่ายโบราณต้นกัลปพฤกษ์ในพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พ.ศ.2429 ขณะเจ้าพนักงานกำลังทิ้งทานเมื่อกระบวนผ่าน (Source : Joachim, 2016 p.137)

ดังนั้น “เพลิงสำหรับถวาย” ที่ใช้ในพระราชพิธี จึงใช้แว่นส่องกับดวงอาทิตย์ให้เกิดเพลิง แล้วจึงนำเพลิงนั้นจุดถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพ เมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้พระแว่นสูรยกานต์ส่องพลังความร้อนจากดวงอาทิตย์เช่นเดียวกัน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเองก็ทรงใช้แว่นส่องพลังความร้อนจากดวงอาทิตย์เพื่อถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ที่ปีนังแทนใช้หน้าเพลิงพระราชทาน หรือย้อนกลับไปให้ไกลกว่านั้น พระเจ้าอุทุมพรถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศด้วยวิธีดังกล่าวเช่นกัน

บทความที่ 2 คือ “งานพระเมรุ (มาศ) : ศึกษาจากวรรณคดีและภาพวาด” โดย ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต ที่อธิบายให้เห็นว่า

วรรณคดีคือการบันทึกภาพชีวิตของสังคม สังคมไทยที่ปกครองด้วยพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสมมุติเทพในโลกมนุษย์ เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ก็ต้องมีพระราชพิธีส่งเสด็จกลับสู่ยังสวรรค์สมดังคำที่ใช้ว่า “สวรรคต”

โดยวรรณคดีเก่าแก่ที่สุดที่บันทึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ก็คือ ไตรภูมิพระร่วง หรือเตภูมิกถา พระราชนิพนธ์ของพระยาลิไท (สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์ปี พ.ศ.1888) ที่กล่าวถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าจักรพรรดิ

ภาพคัดลอกรัชกาลที่ 5 จากต้นฉบับที่คัดลอกจากผนังอุโบสถวัดยม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในรัชกาลที่ 4 แสดงภาพราชสีห์เทียมพระมหาพิชัยราชรถกฤษฎาธารเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ วาดราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 223 (ที่มา : ขุนประสิทธิจิตรกรรม. 2544, ไม่มีเลขหน้า)

นอกจากนี้ยังมีงานพระเมรุอื่นที่ผู้เขียน (ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร) ค้นคว้าได้จากวรรณคดี เช่น งานพระเมรุสมัยธนบุรี จากนิทานคำกลอนเรื่องอรพิม-ปาจิต (ที่แต่งไว้ พ.ศ.2316), งานพระเมรุมาศของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกและพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จากโคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวง พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1), งานพระเมรุในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จากบทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 เรื่องอิเหนา ฯลฯ

วรรณคดีหลายเล่มอาจไม่คุ้นชื่อ หรือฟังดูไม่ใช่วรรณคดีไทย เช่น อิเหนา นิทานที่ได้มาจากชวา หากตอนงานพระศพพระอัยกี สะท้อนให้เห็นขนบธรรมเนียมประเพณีไทยล้วนๆ นี่คือภาพของผู้คนและสังคมในขณะนั้นที่วรรณคดีบันทึกไว้

ภาพลายเส้นพระเมรุและสิ่งปลูกสร้างในราชวัติ ซึ่งตัดทอนจากภาพงานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชา วาดประมาณ พ.ศ.2247-2248 สมบัติของหอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐเดรสเดน (Dresden State Art Collections) ประเทศเยอรมนี (Source : Terwiel, 2016)

และ บทความที่ 3 คือ “ภาพงานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชาที่ค้นพบใหม่ กับข้อวินิจฉัยเบื้องต้น” โดย ผศ.พิชญา สุ่มจินดา ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พระเพทราชา พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา (ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.2231-2246) ภาพงานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชาเป็นของ Aernout Cleur เจ้าหน้าที่ของสหบริษัทอินเดียตะวันออกแห่งเนเธอร์แลนด์ (VOC) ประจำกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ศาสตราจารย์ Barend J. Terwiel นักวิชาการด้านไทยศึกษา ค้นพบภาพดังกล่าวที่เก็บรักษาในสภาพดีเยี่ยมอย่างน่าอัศจรรย์มากว่า 300 ปี ที่ห้องเก็บเอกสารของหอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐเดรสเดน (Dresden State Art Collections) ประเทศเยอรมนี

ศาสตราจารย์ Barend J. Terwiel จัดตีพิมพ์ภาพทั้งหมดลงใน Journal of the Siam Society (Volume 104 : 2016) โดยมุ่งเน้นเหตุการณ์ชิงอำนาจในราชสำนักซึ่งรายงานไว้อย่างละเอียดในจดหมายของ Aernout Cleur ส่วนภาพงานพระเมรุฯ กลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าใดนัก อาจเพราะภาพงานพระเมรุฯ ดังกล่าวดูเป็นจิตรกรรมแนวเหนือจริงแบบไทยประเพณีที่ไม่ได้รายงานข้อเท็จจริงมากมายนัก

หลายท่านคงอยากทราบว่าภาพงานพระเมรุฯ นั้นมีหน้าตาเป็นเช่นไร อาจารย์พิชญา สุ่มจินดา อธิบายไว้ว่า

“จิตรกรรมที่กล่าวถึงข้างต้นประกอบด้วย ‘ภาพลายเส้น’ วาดบนกระดาษแผ่นบางผนึกต่อกันบนผ้า กว้างยาวประมาณ 370 x 50-52 ซม. และ ‘ภาพสี’ วาดบนกระดาษแข็งผนึกบนผ้า กว้างยาวต่อกันประมาณ 215 x 42 ซม.

ช่วยเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไปของงานพระบรมศพในสมัยอยุธยาที่เหลือเพียงหลักฐานลายลักษณ์อักษรไม่กี่ฉบับ ทั้งภาพพระเมรุเก้ายอด กระบวนรูปสัตว์ ราชรถน้อย 3 คันเทียมด้วยราชสีห์ และพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพเทียมด้วยราชสีห์เช่นกัน มีบุรุษแต่งกายสวมครุยและลอมพอก

ที่ Barend J. Terwiel เชื่อว่าเป็นพระยมและพระเจตคุปต์ยืนรอรับอยู่ด้านหน้าพระเมรุ ลักษณะทาง สถาปัตยกรรมและรูปแบบริ้วกระบวน ดูละม้ายคล้ายงานพระเมรุใหญ่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ปรากฏในสมุดภาพและภาพถ่ายโบราณ”

“ภาพลายเส้น” งานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชา วาดประมาณ พ.ศ.2247-2248 บนกระดาษแผ่นบางผนึกต่อกันบนผ้า (ขนาดประมาณ 370 x 50-52 เซนติเมตร) สมบัติของหอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐเดรสเดน (Dresden State Art Collections) ประเทศเยอรมนี (Source : Terwiel, 2016)

บทความนี้จึงอธิบายรายละเอียดต่างๆ ในภาพพระเมรุฯ ตั้งแต่พระเมรุและสิ่งปลูกสร้าง, สิ่งปลูกสร้างนอกราชวัติ, มหรสพ, กระบวนรูปสัตว์, กระบวนราชรถ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีบทความอื่น เช่น มหรสพในงานพระเมรุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นพลังของแผ่นดินไทย, จาก “เรือนาค” สู่ “พระมหาพิชัยราชรถ” ในงาน พระบรมศพสมัยกรุงศรีอยุธยา, แรกเห็นรูปพระเจ้าแผ่นดิน ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคมนี้ ที่ขอเป็นเสมือนมหรสพราษฎร์ถวายงานพระเมรุมาศ เพื่อผ่อนคลายความโศกเศร้า และชวนท่านผู้อ่านมาดูความงามดูสาระของพระราชพิธี, พระราชประวัติของพระองค์ท่าน และร่วมกันน้อมส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่สรวงสวรรค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image