ตระการตา ‘บัลเลต์มโนราห์’ ‘บัลเลต์ไทยพระราชทาน’ เรื่องเดียวในรัชกาลที่ 9

เป็นอีกความทรงจำที่ประทับในใจราษฎร์…

ค่ำคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ท่ามกลางความวิปโยคโศกเศร้า การจัดการแสดงมหรสพสมโภชออกพระเมรุ เป็นส่วนหนึ่งของ งานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร ตามโบราณราชประเพณี เพื่อให้ประชาชนคลายความเศร้าหลังจากอยู่ในห้วงไว้ทุกข์ และเป็นการออกทุกข์ในคราวเดียวกัน รวมทั้งให้ประชาชนได้ชมการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงจากราชสำนัก

นอกจากการแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม (หน้าพระเมรุมาศ) เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ-รำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยนาฏศิลปินกว่า 300 ชีวิต ที่บริเวณท้องสนามหลวงทางทิศเหนือ จัดตั้งเวทีการแสดงมหรสพ 3 เวที มีทั้งการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ การแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ การแสดงละคร หุ่นหลวง และหุ่นกระบอก

เวทีที่สาม เป็นการบรรเลงดนตรีสากล ภายใต้แนวคิด “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” บรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ที่เป็นไฮไลต์คือ การอัญเชิญ “บัลเลต์พระราชทานเรื่องมโนราห์” บัลเลต์แบบไทยชุดแรกของโลก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงอำนวยการสร้าง ผสมผสานนาฏยลักษณ์แบบไทย ที่สอดประสานอย่างกลมกลืนกับลีลาการเต้นบนปลายเท้าแบบตะวันตก มาจัดแสดงขึ้นอีกครั้ง

Advertisement
บัลเลต์มโนราห์ ในงานออกพระเมรุ ค่ำวันที่ 26 ตุลาคม 2560
บัลเลต์มโนราห์ ในงานออกพระเมรุ ค่ำวันที่ 26 ตุลาคม 2560

เป็นบัลเลต์พระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน ประดิษฐ์ท่าเต้นบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์ถวายในการแสดงบัลเลต์เรื่องมโนห์รา เมื่อ พ.ศ.2505

“ครูโจ้” สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา ในฐานะผู้ควบคุมการแสดงและออกแบบท่าเต้น บอกว่า แม้ว่าการแสดงครั้งนี้จะเพียง 29 นาที แต่เป็นความตั้งใจเต็มที่ที่จะทำถวายพระองค์ โดยจะยังคงเค้าโครงเรื่องเหมือนเดิมทุกอย่าง รวมทั้งบทเพลงพระราชนิพนธ์ชุด “กินรีสวีท” ประกอบด้วย 5 บทเพลง ได้แก่ เริงวนารมย์ (Nature Waltz), พรานไพร (The Hunter), กินรี (Kinari Waltz), ภิรมย์รัก (A Love Story) และอาทิตย์อับแสง (Blue Day)

“ยึดบทเพลงตามเดิม อาจมีบางเพลงที่เปลี่ยนจังหวะเพื่อให้เกิดความเร้าใจ แต่เมโลดี้ของพระองค์ท่านเราจะไม่เปลี่ยนเลย”

Advertisement

อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีความร่วมสมัยในแบบของบัลเลต์มโนราห์ 2560 ได้มีการออกแบบท่าเต้นใหม่หมดเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และใช้เทคนิคบัลเลต์สลับซับซ้อนขึ้น รวมทั้งมีการใส่ “หญ้าแฝก” และ “ดอกดาวเรือง” ลงไปในป่าหิมพานต์ เพื่อสื่อถึงพระองค์ท่านและพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทเพื่อประชาชน

“ความแปลกใหม่ของมโนราห์ครั้งนี้ เราจำลองตัวมโนราห์จากกินรีกินนรมาจากวัดพระแก้ว ปกติจะเป็นชุดบัลเลต์ทู่ๆ กระโปรงบานๆ แต่อันนี้จะเป็นเหมือนกึ่งกางเกงแล้วมีหางเป็นไทยมากที่สุด เสื้อผ้าตัดใหม่หมด และปีนี้ทุกอย่างผลิตใหม่โดยคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ท่าเต้น ดนตรี นักแสดง ผู้เต้น การออกแบบดีไซน์ท่าเต้นยากตรงที่จะทำอย่างไรให้น่าตื่นเต้นและน่าสนใจ ต้องทำให้ทุกๆ ฉากแตกต่างและมีความเป็นวาไรตี้”

ค่ำคืนแห่งความทรงจำในงานสมโภชพระเมรุมาศจึงวิจิตรตระการตา ด้วยนักแสดงทุกคนเต้นด้วยใจ เพื่อน้อมถวายแด่พระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย

หญ้าแฝกและดอกดาวเรืองที่เสริมเข้ามา

สำหรับที่มาของบัลเลต์ไทยเรื่องแรกนี้ เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน ดาราบัลเลต์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาถวายการสอนบัลเลต์ให้แก่พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ประดิษฐ์ท่าเต้นบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์ถวายในการแสดงบัลเลต์เรื่องมโนห์รา

สาเหตุที่ทรงสนพระทัยเรื่องมโนราห์ เพราะทรงสนพระทัยการแสดงโนราห์ โดยโนราห์ พุ่ม เทวา ณ พลับพลาหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง ระหว่างเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคใต้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2502 และอีกหลายแห่ง จึงโปรดให้พระศาสนโสภณ คัดโครงเรื่องจาก สุธนชาดกถวาย แต่เนื้อเรื่องยาวไป จึงทรงผูกโครงเรื่องเสียใหม่ให้กะทัดรัดเหมาะแก่การแสดงบัลเลต์ โดยทรงตัดตอนต้น ตอนปุโรหิต ตอนบูชายัญ และตอนท้ายออก

ทั้งนี้ มีเรื่องย่อตามบทพระราชนิพนธ์คือ นางกินรีถูกนายพรานไพรจับตัวมาถวาย พระราชาพอพระทัยนางกินรี และนางกินรีก็รักเจ้าชาย เจ้าชายและนางกินรีรักและปรองดองกัน เจ้าชายจากไปรบ นางกินรีโศกเศร้า เจ้าชายเสด็จกลับนางกินรีมีความสุข

บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ใช้ประกอบการแสดงบัลเลต์เรื่องมโนห์รา ทรงนำเพลงพระราชนิพนธ์มาเชื่อมกัน ทรงแยกและเรียบเรียงเสียง บรรเลงดนตรีประกอบการแสดงโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ และวง อ.ส. อำนวยเพลงโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน ทรงควบคุมการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง พระราชทานนามของบทเพลงบัลเลต์นี้ว่า “กินรีสวีท”

พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงออกแบบฉากและควบคุมการผลิตด้วยพระองค์เอง นักแสดงที่สำคัญประกอบด้วย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รำเบิกโรงไหว้ครู วนิดา ดุละลัมพะ (สุขุม) รับบทนางมโนราห์ สมศักดิ์ พลสิทธิ์ รับบทพระสุธน และสุรเทิน บุนนาค รับบทพรานบุญ เปิดการแสดงครั้งแรก เมื่อวันที่ 5-7 มกราคม 2505 ณ เวทีสวนอัมพร ในงานกาชาดประจำปี 2505

รศ.ดร.ศิริมงคล นาฏยกุล อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า บัลเลต์มโนราห์ เป็นบัลเลต์ไทยเรื่องเดียวในรัชกาลที่ 9 ส่วนใหญ่บัลเลต์ที่เราเห็นของฝรั่ง ก็คือเต้นสวอนเลคก็จะเต้นขึ้นปลายเท้าไป ก็เป็นเรื่องราวของฝรั่งไป รำไทยเราก็เห็นเป็นเรื่องของรำไทย แต่นี่คือ ณ ยุคนั้น เมื่อ 55 ปีที่แล้ว ถือเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ว่า มือรำ เท้าเต้น เรื่องราวเป็นไทยสตอรี่ ดนตรีถูกเขียนขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อบัลเลต์

ปกติการทำดนตรีบัลเลต์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าคนเขียนเพลงจะต้องเข้าใจลักษณะของการเคลื่อนไหวและการเต้นรำจริงๆ ไม่อย่างนั้นผู้แสดงจะเต้นไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านว่า พระองค์มีความเข้าใจศาสตร์ของความเป็นสากล และก็ยังมีความเข้าใจในความเป็นไทยอย่างเยี่ยม เพราะฉะนั้นดนตรีพระราชนิพนธ์ชุดนี้จึงออกมาได้อย่างงดงาม และยังมีความเป็นไทย 100% แต่มีวิธีบรรเลงและทำให้การแสดงบัลเลต์แบบไทยนั้น ออกมาได้งดงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

มโนราห์งดงามไม่ต่างกับสวอนเลคฝรั่ง

ส่วนชุดการแสดงในการออกแบบบัลเลต์เรื่องนี้ได้รับการออกแบบโดยปิแอร์ บัลแมง ดีไซเนอร์ระดับโลก ซึ่งเป็นนักออกแบบฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ออกแบบชุดตัวละครหลักๆ คือ พระสุธน มโนราห์ นกยูงและพญานาคราช

“มโนราห์บัลเลต์คืองานของความเป็นไทยบนเวทีระดับโลก และออกแบบสร้างสรรค์โดยบุคคลระดับโลก ดีไซเนอร์ก็ระดับโลก ผู้คิดท่าเต้นคุณหญิงเจเนเวียฟ เดมอน ก็คือนางเอกระดับโลกที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราไม่ต้องพูดถึง พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถยอดเยี่ยม เพราะฉะนั้นงานชิ้นนี้ไม่ได้สร้างแค่เพื่อประเทศไทย แต่กลายเป็นบทบาทของบัลเลต์ไทยสไตล์ในเวทีโลก นั่นคือสิ่งที่เราควรตระหนักและร่วมกันชื่นชมในพระอัจฉริยภาพต่อไป

“จริงๆ แล้ว พระองค์ท่านมีหลายบทบาทมาก ทั้งโปรดิวเซอร์ คอมโพเซอร์ ออกแบบฉาก ดูแลควบคุมการผลิตทั้งหมด แม้กระทั่งเรื่องอาหารการกิน ดูแลกระทั่งเรียกว่าเป็นผู้จัดการกองเลยก็ได้ ทอดพระเนตรการซ้อมด้วย มาติดตามด้วยพระองค์เอง ทรงให้ข้อคิดเห็น พระองค์ท่านดูกระบวนการทั้งหมดทุกกระบวนการ”

“จึงถือเป็นผลงานที่พระองค์ท่านเป็นโปรดิวเซอร์ด้วยพระองค์เองทุกกระบวนการ”

บัลเลต์มโนราห์เมื่อ 55 ปีก่อน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image