สานต่อที่พ่อให้ทำ… ‘ศูนย์เต้านม’ จุฬาภรณ์ เติมเต็มความสุขให้ผู้ป่วยมะเร็ง

สําหรับบางคน เส้นผมที่ร่วงไปคือความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองน่าเกลียด รู้สึกเหมือนสูญเสียความรักไปกับเส้นผม จึงไม่มั่นใจที่จะเผชิญหน้ากับสังคม

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญของสุขภาพของผู้เจ็บไข้ได้ป่วยที่ยากไร้ของพสกนิกร โปรดเกล้าฯให้ก่อตั้ง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขึ้น ณ พื้นที่เดียวกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อให้การรักษาโรค โดยเฉพาะ “มะเร็ง” โรคที่คร่าชีวิตของผู้คนปีละ 112.8 คน ต่อประชากร 100,000 คน และถือเป็นโรคร้ายอันดับต้นๆ

ขณะเดียวกันก็มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชน ในด้านการดูแลรักษาสุขภาพแขนงต่างๆ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมานั่งให้ความรู้อย่างเจาะลึก ไม่นับการลงพื้นที่ให้การตรวจคัดกรองสุขภาพในเบื้องต้น อาทิ การตรวจเต้านมด้วยระบบแมมโมแกรม การตรวจความเสี่ยงมะเร็งในช่องปาก ฯลฯ

กระนั้น ยังคงมีผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ขาดโอกาสในการรักษาอีกเป็นจำนวนมาก และแม้ว่าโรงพยาบาลจุฬาภรณ์จะเป็นโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญชำนาญด้านการรักษามะเร็ง เปิดให้บริการมาราว 7 ปี แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีศูนย์ให้การรักษาโดยเฉพาะ

Advertisement

นี่จึงเป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เปิด “ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์” ให้บริการดูแลสุภาพสตรีที่มีปัญหาเกี่ยวกับเต้านมโดยเฉพาะ ครอบคลุมทั้งมะเร็งเต้านม การรักษาดูแลเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง อาการเจ็บเต้านม และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเต้านม ด้วยวิทยาการเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่จะสามารถวิเคราะห์ตรวจหาสาเหตุของโรค และสืบค้นหาความเสี่ยงของโรคได้อย่างแม่นยำ

พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอย่างครบวงจร โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสหสาขาและบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมจะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล การบริการด้านศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างเต้านมเพื่อเพิ่มความมั่นใจในบุคลิกภาพให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม พร้อมด้วยกิจกรรมฟื้นฟูบำบัดสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

Advertisement

รวมทั้งยังมีการให้ยืมวิกผมแท้ แจกเต้านมเทียม และหมวกไหมพรม ฟรี!

ภัทรานิษฐ์ เมธีพิสิษฐ์

ภัทรานิษฐ์ เมธีพิสิษฐ์ หัวหน้าพยาบาลคลินิกการแพทย์ผสมผสานผู้ป่วยมะเร็งและญาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เล่าให้ฟังว่า

คลินิกเปิดตั้งแต่ปี 2553 พร้อมโรงพยาบาล ตามพระปณิธานของพระองค์ท่านที่เห็นประชาชนทุกข์ทรมานจากมะเร็ง โรงพยาบาลจึงดำเนินรอยตามพระองค์ ให้การพยาบาลแบบองค์รวม มีทั้งแพทย์ พยาบาล กายภาพ โภชนาการและสังคมสงเคราะห์ เป็นการดูแลแบบสหวิชาชีพ ซึ่งในคลินิกมีบริการหลายงาน

ตัวอย่างเช่น งานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ตั้งแต่แรกเริ่มจนเสียชีวิต และดูแลอย่างต่อเนื่องไปถึงครอบครัวผู้ป่วยภายหลังผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งเป็นการดูแลเป็นทีมร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้ ตั้งแต่ในโรงพยาบาลจนถึงบ้าน

“เพราะมะเร็งเกิดได้กับอวัยวะส่วนต่างๆ มีตั้งแต่มะเร็งส่วนศีรษะจนถึงผิวหนัง มะเร็งช่องท้อง ฯลฯ ซึ่งคนไข้มะเร็งต้องเผชิญกับความไม่สุขสบาย ทั้งป่วย เหนื่อย จนถึงภาพลักษณ์ต่างๆ ผลข้างเคียงจากการรักษา รวมทั้งครอบครัวก็รู้สึกว่าคนรักต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ เราก็เข้าไปช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วย” ภัทรานิษฐ์บอกและว่า

“คือเมื่อมารักษา เราก็ดูแลร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้ และเมื่อกลับไปบ้านเราก็ยังไปช่วยดูแลด้วย ไปเยี่ยมบ้าน จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต โดยไม่มีค่าใช้จ่าย”

กิจกรรมให้จิตอาสาทำเต้านมเทียม

สำหรับของการให้ยืมวิกผมนั้น เป็นกิจกรรม “ส่งต่อรอยยิ้ม” เพราะเส้นผมที่ร่วงไปคือความมั่นใจ บางคนรู้สึกว่าตนเองน่าเกลียด “รู้สึกเหมือนสูญเสียความรักไปกับเส้นผมของเขา” ก็จะไม่มั่นใจที่จะเผชิญกับสังคม

ฉะนั้นการมีวิกผม เป็นการเติมเต็มให้มั่นใจขึ้น โดยเราใช้ผมคนจริงๆ มาจากการเปิดโครงการรับบริจาคเส้นผม ซึ่งมีคนส่งเข้ามาเยอะมาก (เน้นเสียง) เป็นตัน เห็นได้ชัดว่าประชาชนมีจิตใจที่จะให้ แต่อาจจะไม่มีช่องทาง เมื่อเราประกาศรับเส้นผมจึงมีคนส่งเข้ามาให้เป็นจำนวนมาก

“เราเอาเส้นผมที่ส่งมาทำเป็นวิก แต่ตรงนี้มีค่าใช้จ่าย วิกหนึ่งประมาณ 5,000-6,000 บาท เนื่องจากเราคัดเลือกเกรดที่ดีหน่อย โดยงบประมาณส่วนหนึ่งมาจากโรงพยาบาล แต่ก็ยังไม่พอ เพราะมีความต้องการสูงมาก ปีหนึ่งยืมประมาณ 150-200 วิก จึงเปิดรับบริจาคเป็นเงิน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการนำผมที่มีไปให้ร้านทำวิกให้”

ต้องขอบคุณทาง “โมก้า” ที่เข้ามาให้การสนับสนุนในส่วนของวิกผมแท้ 2 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2558 โดยทางคลินิกจะนำเส้นผมที่ประชาชนบริจาคไปมอบให้กับทางโมก้าจัดทำเป็นวิกผม แล้วส่งคืนกลับมาเป็นวิกผมสำเร็จรูป

ทีมโมก้าตัดเซตวิกผมสำหรับผู้ป่วย

 

ปัจจุบันก็ยังเปิดรับเส้นผมอยู่ ซึ่งภัทรานิษฐ์บอกว่า ไม่จำกัดอายุเจ้าของผม แต่ขอให้เส้นผมมีความยาวตั้งแต่ 12 นิ้วขึ้นไป เรารับหมด โดยเฉพาะผมเด็กค่อนข้างมีคุณภาพ เพราะไม่ได้ผ่านการย้อม ยืดหยุ่นได้ดี และนุ่ม เวลาทำวิกจะสวยมาก

“วิกผมเราให้ยืมใช้ชั่วคราวเนื่องจากหลังจากให้ยา (คีโม) ไปแล้ว 6 เดือน ผมจะขึ้นมาใหม่ ผู้ป่วยก็จะนำวิกผมมาคืน เพราะวิกผมสามารถส่งต่อให้กับคนอื่นได้หลายคน แต่ถ้าเป็นเต้านมเทียม หรือหมวกไหมพรมเราให้เลย เนื่องจากเป็นของส่วนตัว”

เช่นเดียวกันกับ “เต้านมเทียม” ที่มองผาดๆ อาจจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ “หน้าอก” เป็นอีกส่วนที่แสดงถึงการเป็นเพศหญิง ความสวยงาม และความมั่นใจ

“คนไข้เวลาผ่าตัดเต้านม ไม่เพียงสูญเสียความมั่นใจ แต่ความสมดุลจะไม่มี จะมีการปวด เนื่องจากข้างนึงมีน้ำหนัก ข้างนึงเบา การให้เต้านมเทียม นอกจากจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ ยังช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อของคนไข้ได้”

ภัทรานิษฐ์บอกเพิ่มเติมอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นวิกผม หมวกไหมพรม หรือเต้านมเทียม คนไข้ทุกคนจากที่ไหนก็ตามสามารถมารับได้ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงแต่ขอให้สำเนาบัตรประชาชน และเบอร์โทรให้เราติดต่อได้ (สอบถามรายละเอียดโทร 0-2576-6000)

“ถ้ามารับเองได้จะยิ่งดี โดยเฉพาะวิก เพราะแต่ละคนมีขนาดของศีรษะไม่เท่ากัน แนะนำว่าให้มาลองเอง นอกจากนี้ เรายังมีวิกผมหลายทรงให้เลือกได้ บางทีทรงผมเดิมอาจจะสวยน้อยกว่าวิกก็ได้”

เพราะการรักษาเยียวยาคนไข้ไม่ได้จบเพียงแค่ทางกาย แต่ทางใจก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

อุปกรณ์ให้บริการผู้ป่วย วิกผม หมวกไหมพรม และเต้านมเทียม

ลลิดา มังกรกนก

เปิดใจ ‘ลลิดา มังกรกนก’

“ลูกค้าเข้ามาร้านเราและมีความสุขกลับไป อยากจะสานต่อความสุขนี้ให้กับผู้ป่วยด้วย”

“ลูกค้าส่วนใหญ่เราเป็นผู้หญิงรักสวยรักงาม มันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว และเท่าที่ทราบมาคือผู้ป่วยมะเร็งหลายรายจะกังวลว่าความสวยของเขาจะหายไป มันก็ตรงกับธุรกิจด้วย จึงอยากเริ่มจากตรงนี้ก่อน”

ลลิดา มังกรกนก ผู้อำนวยการกลุ่มร้านทำผม โมก้า บอกและเล่าถึงการก้าวเข้ามาให้การสนับสนุนบริจาควิกผมให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เมื่อ 2 ปีก่อนหน้าว่า ปกติจะมีกิจกรรมรณรงค์การกุศลอยู่แล้ว กระทั่งวันหนึ่งทำรีเสิร์ชกิจกรรมตัดผมบริจาค จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ในหนึ่งกิจกรรมของการตัดผมบริจาคสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้กี่คน

เมื่อได้พูดคุยกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์จึงพบว่า เส้นผมที่วันหนึ่งๆ ได้จากการตัดผมให้ลูกค้าใช่ว่าจะสามารถบริจาคทำวิกผมให้ผู้ป่วยได้ เพราะมีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในเรื่องของสารเคมีตกค้างจากการทำผม อีกทั้งวิกผมแฟชั่นทั่วไปก็ไม่เหมาะกับผู้ป่วย

“เพราะเรามีผมอยู่แล้ว การใส่วิกจะไม่เจ็บ แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งซึ่งผมร่วง การที่หนังศีรษะต้องรองรับกับวิกผมทุกวัน ถ้าวิกผมไม่มีคุณภาพนอกจากทำให้เกิดการอับชื้นแล้ว ตะเข็บด้านในที่เย็บไม่ดีจะทำให้เจ็บหนังศีรษะ”

ในเมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องการวิกผม ขณะที่โรงพยาบาลเองมีเส้นผมที่ประชาชนบริจาคเข้ามา แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด ทำให้มองว่า โมก้าน่าจะเข้ามาสนับสนุนเงินทุนช่วยทำวิกจะดีกว่า

จึงเริ่มกิจกรรม “คัทตะธอน” (MOGA Breast Cancer Care Cut-a-Thon) ให้ช่างตัดผมในแต่ละสาขาแข่งขันตัดผมลูกค้าในวันและเวลาที่กำหนดด้วยความสมัครใจ รายได้ทั้งหมดนำมาจัดทำวิกผมบริจาคโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยปีแรก (2558) ได้เกือบ 90 วิก

“เป็นกิจกรรมที่ช่างก็สนุก และได้บุญด้วย” ลลิดาบอก และว่า

วันที่บริจาควิกผมปีแรก เรามาตัดเซตทรงผมให้ด้วย เพราะวิกจะมีทรงสแตนดาร์ด ที่มีเซตไว้ไม่มาก ซึ่งโมก้าเราปกติจะเน้นที่ว่าแต่ละคนมีบุคลิกไม่เหมือนกัน ดังนั้นทรงผมจะเป็นตัวบ่งบอกบุคลิกเราเหมือนกัน เราจึงอยากจะให้ผู้ป่วยแฮปปี้มากขึ้น โดยจะดูว่าผู้ป่วยท่านนี้เป็นอย่างไร ตัดแบบแนวๆ เรียบๆ หรือแฟชั่นหน่อย เรามีการพูดคุยกับเขา ได้รับรู้ถึงความสุขตรงนั้น เราประทับใจมากๆ กับปีแรก

ลูกค้าเข้ามาร้านเราและมีความสุขกลับไป เราก็อยากจะสานต่อความสุขนี้ให้กับผู้ป่วยด้วย เลยทำมา 2 ปีแรกเป็นวิก

สำหรับปีนี้ ลลิดาบอกว่า มอบเป็นเครื่องออกซิเจน โดยจากการพูดคุยกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์โดยตลอด ทำให้เข้าใจว่า ผู้ป่วยบางทีก็ไม่ได้ต้องการแต่เพียงวิกผม ซึ่งเราบริจาคไปเกือบร้อยอันแล้ว จึงขอคำปรึกษาว่า สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น สบายตัวขึ้นคืออะไร ทราบว่าเป็นเครื่องผลิตออกซิเจน ส่งมอบไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จำนวน 5 เครื่อง

“ตั้งแต่ตอนแรกเราก็เคยมีความรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นวิก แต่อยากจะบริจาคอะไรที่สามารถช่วยคนไข้ได้จริงๆ ดีกว่า ซึ่งถ้าปีหน้ายังอยากจะได้เครื่องออกซิเจนมากสุดมั้ย เราก็จะพยายามสมทบทางด้านนี้ดีกว่า” ลลิดาบอก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image