นิทรรศการสัมผัสเพื่อผู้พิการทางสายตา ‘นำสัมผัสพระสุเมรุ’ สร้างประสบการณ์อย่างเท่าเทียม

เพราะงานศิลปะส่วนใหญ่เป็นงานทัศนศิลป์ ที่รับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสทางตา ฉะนั้นจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้ชื่นชมความงามนั้น

ในนิทรรศการการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ภายในมณฑลพิธี ท้องสนามหลวง

เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผ่านพระราชประวัติ พระราช กรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทย ที่มีการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้มาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

นอกเหนือไปจากการเผยแพร่ศาสตร์พระราชา ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงงานเพื่อพสกนิกรตลอด 70 ปีของการครองราชย์ นับเป็นครั้งแรกที่รวมเอาศาสตร์ทุกแขนงวิชาช่างโบราณเบื้องหลังงานพระเมรุมาศ มาไว้ที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะสถาปัตยกรรม จิตรกรรม งานประณีตศิลป์ในพระราชพิธี บนอาคารศาลาลูกขุนทั้งหก

Advertisement
อาคารขวาสุด คือ ทับเกษตร

ที่สำคัญคือ ยังจัดเตรียมพื้นที่สำหรับแบ่งปันความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะสถาปัตยกรรมไทย อันเนื่องจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อให้ทุกคนสามารถได้รับความรู้และประสบการณ์อย่างเท่าเทียม รวมถึงผู้พิการทางสายตา ที่แม้จะไม่สามารถมองเห็นความวิจิตรของงานศิลปะสถาปัตยกรรมชิ้นเอกและองค์ประกอบที่ประดับพระเมรุมาศ ที่บริเวณ “ทับเกษตร” ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระเมรุมาศ ซ้ายมือจากทางเข้าด้านหน้าฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ นิทรรศการ “นำสัมผัสพระสุเมรุ : นิทรรศการสัมผัสเพื่อผู้พิการทางสายตา” เพื่อให้ผู้พิการทางการมองเห็นได้มีโอกาสสัมผัสของจริงแทนการมองด้วยตา

พระเมรุมาศจำลอง

นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ภายในอาคาร โดยจะมีทางเดินสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็นกำกับในแต่ละจุด

เริ่มจากผังบริเวณมณฑลพิธีแบบนูนต่ำ พระเมรุมาศจำลองขนาดย่อส่วน องค์ประกอบและวัสดุตกแต่งอาคารขนาดเท่าจริง ไม่ว่าจะเป็นแบบงานซ้อนไม้ ซุ้มระเบียงอาคาร การจัดทำผ้าทองย่นสาบสีสอดแวว งานประติมากรรมปั้นหล่อรูปเทวดา และสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุมาศ พร้อมอักษรเบรลกำกับ และมีเสียงบรรยายเพื่อเสริมความเข้าใจทั้งภาพรวมและรายละเอียดของงาน

Advertisement

เอกสิทธิ์ โตรัตน์ เจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการ อธิบายให้ฟังว่า “นำสัมผัสพระสุเมรุ : นิทรรศการสัมผัสเพื่อผู้พิการทางสายตา” เป็นการจำลองงานศิลปะและสถาปัตยกรรมเพียงบางส่วนมาให้กับผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้ผ่านการสัมผัสจริง จึงไม่มีในส่วนของราชรถราชยาน

เอกสิทธิ์ โตรัตน์ เจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการ

“สัตว์หิมพานต์ที่คัดเลือกมาจัดแสดง จะเลือกมาเพียงบางตัวเพราะพื้นที่ที่มีจำกัด มีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเราพยายามดูที่ไม่ใหญ่เกินไป สามารถสัมผัสได้รอบตัว และไม่เปราะบางเกินไป อย่างบางชิ้นอาจจะมีขาที่เล็กก็จะเสี่ยงต่อการแตกหักเสียหายได้เพราะต้องจัดแสดงอยู่นานถึง 1 เดือน” และขยายความเพิ่มเติมว่า

“งานประติมากรรมจริงๆ มีผู้จัดสร้างอยู่หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร แม้แต่ช่างฝีมือของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งในส่วนของสัตว์หิมพานต์จะเป็นช่างเมืองเพชร ที่ปั้นโดยใช้เทคนิคปูนปั้นสด ส่วนการให้สีทางกรมศิลป์จะให้แนวทางการคุมโทนสี จึงออกมาในเฉดที่กลมกลืนไปด้วยกัน”

ตัวอย่างเช่น “คชสีห์” ซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์ที่จำลองจากของจริงที่ประดับอยู่ในสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 คชสีห์ยังเป็นตราประจำกระทรวงกลาโหม เป็นส่วนผสมของช้างกับสิงโต ศิลปินที่รังสรรค์พยายามถ่ายทอดทั้งในส่วนของการปั้น การลงสี ประดับตกแต่งอย่างงดงามเพื่อถวายพระเกียรติสูงสุด และยังมีงานประติมากรรมที่เป็นส่วนของเทวดาซึ่งเป็นงานหล่อ

กลุ่มสัตว์หิมพานต์ ขนาดกลาง

ส่วน “พญาครุฑ” ที่โดดเด่นอยู่กึ่งกลางอาคารนั้น จำลองมาจากพญาครุฑที่ชั้นชานชาลาของพระเมรุมาศ เพื่อให้ผู้พิการทางการมองเห็นได้มีโอกาสได้สัมผัสจับต้องและจินตนาการ แต่เนื่องจากสัตว์หิมพานต์เป็นสัตว์ในตำนาน การจับและจินตนาการอาจจะยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดจึงต้องมีผู้นำชมคอยเสริมข้อมูลในบางส่วนที่ผู้พิการทางสายตาอาจจะต้องการถามเพิ่มเติม

โดยในพื้นที่ 1 สถานี หรือ 1 อาคาร จะมีผู้นำชม 3-4 คน ซึ่งจะเวียนสลับสับเปลี่ยนไปประจำตามอาคารต่างๆ ตามแต่ตารางการอยู่เวร เช่น อลิสา พงษ์สวัสดิ์ นักศึกษา ปี 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่สมัครเข้ามาเป็นผู้นำชมนิทรรศการอีกคน ก็จะประจำเฉพาะในวันที่ไม่มีคาบเรียน

อลิสา พงษ์สวัสดิ์ ผู้นำชมอีกคนกับผังแสดงภายในมณฑลพิธี ท้องสนามหลวง

อย่างไรก็ตาม เอกสิทธิ์บอกอีกว่า สำหรับผู้พิการทางสายตาหลังจากผ่านจุดคัดกรองแล้ว น่าจะมีจิตอาสานำเข้ามาที่อาคารทับเกษตรเลย เพราะเวลา 1 ชั่วโมงในการชม แม้แต่ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถชมได้หมด จึงให้มาชมที่นี่ดีกว่า แม้พื้นที่จะไม่ใหญ่มาก แต่ต้องใช้เวลาในการสัมผัส โดยจะสัมผัสได้ตั้งแต่ผังการจัดแสดง รูปแบบของพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ชั้น ซึ่งจับได้ทั้งมุมตื้นและที่เป็นสามมิติ และยังมีงานประติมากรรมและสถาปัตยกรรมที่เป็นงานซ้อนไม้ งานประดิษฐ์ผ้าทองย่นสาบสีสอดแวว ซึ่งที่เป็นไฮไลต์น่าจะส่วนของงานประติมากรรม

ทางด้าน ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนแรกที่เดินทางเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ “นำสัมผัสพระสุเมรุ” ตั้งแต่เช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งเปิดให้ทดสอบนำชมนิทรรศการ เล่าความรู้สึกด้วยรอยยิ้มว่า ดีใจมากที่นิทรรศการมีโซนสำหรับผู้บกพร่องทางสายตา

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กับ “พฤกษวารี”

“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม วีระ โรจน์พจนรัตน์ คลุกคลีกับพวกเรามานาน ตั้งแต่เป็นรองอธิบดีกรมศิลป์ ก็เริ่มทำสื่อมีทั้งภาพ เบรล ตัวหนังสือเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึง รวมทั้งส่งเสริมคนพิการเล่นดนตรีไทย จึงได้ทำเช่นนี้” ศ.วิริยะบอก และว่า เดินทางมาที่งานนิทรรศการพระเมรุมาศตั้งแต่ 7 โมงเช้า และมุ่งตรงมาที่อาคารทับเกษตรเลย

“ผมชอบผังบอกภาพรวมทั้งหมดภายในมณฑลพิธีท้องสนามหลวงว่าอะไรอยู่ตรงไหน แต่ถ้าเป็นชิ้นงานแล้วชอบตัวนี้ที่สุด” บอกพร้อมกับใช้สองมือลูบที่ประติมากรรมรูปเทวดา

“ยังไม่ได้ไปเยี่ยมชมอาคารอื่นเลยครับ เพราะถ้าเราเข้าใจจากตรงนี้แล้ว เมื่อไปฟังคำอธิบายในส่วนอื่นๆ เราก็จะเข้าใจตามได้ไม่ยาก”

อาจารย์คณะนิติศาสตร์คนเดียวกันนี้ ยังบอกเล่าถึงความรู้สึกเมื่อนึกย้อนไปถึงพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ว่า

“คนตาบอดเราซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างที่สุด เพราะในปี 2495 คนไทยไม่ได้เชื่อเลยว่าคนตาบอดจะทำอะไรได้ ก่อตั้งโรงเรียนคนตาบอดก็ไม่มีใครส่งลูกมาเรียน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “ยิ้มสู้” เป็นกำลังใจให้คนตาบอด

ศ.วิริยะ สอนเด็กให้รู้จัก “มัจฉานุ”

“จะเห็นว่าขณะที่สังคมกดทับเราไว้ไม่ให้เราทำอะไรเลย นอกจากขอทาน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงให้กำลังใจ ตรัสหลายครั้งว่า คนพิการไม่อยากเป็นคนพิการ การช่วยคนพิการต้องช่วยให้เขาพึ่งตัวเองได้ เขาจะได้ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม หรือเมื่อครั้งที่พระองค์ไปทรงดนตรีที่จุฬาฯ ยังทรงตรัสว่านิสิตเมื่อจบแล้วอย่าลืมคิดถึงคนที่อ่อนแอกว่า เราจะเห็นว่าท่านทรงพยายามให้สังคมไทยหันมาดูแลคนที่ด้อยโอกาส

“แล้วพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนดนตรีให้พวกเรา ทรงสอนแซกโซโฟน และยังทรงซื้อแซกโซโฟนให้คนตาบอดด้วย” ศ.วิริยะบอก และย้ำว่า

“ยุคนั้นไม่มีใครเชื่อศักยภาพของคนตาบอด แต่ท่านทรงเชื่อ และพระราชทานกำลังใจให้พวกเราสู้ พวกเราจึงมีวันนี้”

 

 

คุณครูพาเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษา เมื่อวันเปิดทดลองนำชมนิทรรศการ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image