บันทึกศิลปะแห่งแผ่นดิน ศิลปินแห่งยุคสมัย ‘สู่ฟ้าเสวยสวรรค์’

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขยายเวลาในการเข้าชมพระเมรุมาศและนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ออกไปอีก 30 วัน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2560 เนื่องจากต้องการให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้เข้าศึกษาเรียนรู้

เป็นโอกาสดีที่ปวงชนชาวไทยจะได้สัมผัสความงามสมพระเกียรติของพระเมรุมาศได้ยาวนานขึ้น

ราวปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ จัดงานเสวนา “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ มหัศจรรย์งานศิลป์พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9” พบกับ 4 บุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการรังสรรค์งานสร้างพระเมรุมาศ โดยนำผลงานมาสาธิตและอธิบายขั้นตอนการทำงานอย่างใกล้ชิด

ประกอบด้วย สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระโกศจันทน์, สมชาย บุญประเสริฐ ช่างปั้นปูนสดเมืองเพชรบุรี ผู้ควบคุมงานปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์, ชิน ประสงค์ ผู้ปั้นสุนัขทรงเลี้ยงคุณทองแดง คุณโจโฉ ประดับข้างพระจิตกาธาน และ นิดา ปิณฑานนท์ ผู้จัดทำผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ

Advertisement

พร้อมเสริมองค์ความรู้ก่อนเข้าชมนิทรรศการพระเมรุมาศจากวิทยากรแถวหน้าระดับประเทศ ประกอบด้วย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี, ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ, ผศ.ดร.รุ่งโรงจน์ ภิรมย์อนุกูล และ รศ.ยุวดี ศิริ

งานนี้ไฮไลต์พิเศษอยู่ที่นายช่างศิลปกรรมทั้ง 4 ท่าน เนื่องจากไม่บ่อยครั้งนักที่จะเห็นผู้อยู่เบื้องหลังงานสำคัญปรากฏตัวต่อสาธารณชน

ถือเป็นงานที่รวบรวม “ผู้ปิดทองหลังพระ” อย่างแท้จริง

Advertisement

งาน’ปั้นปูนสด’ เอกลักษณ์ที่ควรอนุรักษ์

“งานทุกชิ้นมีหนึ่งเดียวในโลก”

คำกล่าวของ สมชาย บุญประเสริฐ ช่างปั้นปูนสดเมืองเพชรบุรี ผู้ควบคุมงานปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ม้า โค สิงห์ และสัตว์ผสม ฯลฯ จำนวนกว่า 200 ชิ้น ประกอบงานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ผ่านมา

ในงานนี้เอง สมชายเผยว่า เป็นช่างปั้นปูนสดมากว่า 30 ปี สืบทอดวิชามาจากอาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติด้านปูนปั้น โดยปูนสดหมายถึงปูนโบราณ เป็นปูนตำที่มีส่วนผสมจากวัสดุธรรมชาติ เช่น น้ำตาล เยื่อกระดาษ ซึ่งการปั้นแต่ละครั้งใช้กระบวนการตำเพื่อให้วัสดุทุกตัวเข้ากัน ผสมเป็นก้อน

“งานปั้นปูนสดเป็นงานเฉพาะท้องถิ่น เฉพาะตน เฉพาะท้องที่ เฉพาะชิ้น เรียกได้ว่าแต่ละชิ้นจะไม่ซ้ำกัน มีเสน่ห์อารมณ์ที่รูปแบบไม่ซ้ำกันเลย”

 

แม้คนปั้นจะเป็นคนเดียวกัน แต่สมชายยืนยันว่า ชิ้นงานย่อมไม่เหมือนกัน แต่ละชิ้นมีเสน่ห์เฉพาะตัว เพียงแต่ให้อารมณ์คล้ายคลึงกันเท่านั้น

สำหรับการถวายงานการปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ประกอบงานพระเมรุมาศในหลวง รัชกาลที่ 9 ครั้งนี้ สมชายเล่าว่า ได้รับความไว้วางใจจากกรมศิลปากรและสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมงานได้มีส่วนร่วมในการทำงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มาก่อน โดยครั้งนั้นได้ปั้นสัตว์หิมพานต์หลายประเภท เพียงแต่ขนาดเล็กกว่า

“ยึดตำราการปั้นจากตำราโบราณวัดสุทัศน์ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นงานแนวประเพณีที่เป็นจิตรกรรม โดยการดึงภาพที่เป็นจิตรกรรมมาเป็นงานประติมากรรม”

โดยระหว่างงานเสวนามีการสาธิตปั้นปูนสด “นกอรหัน” หรือนกหน้าคน สัตว์หิมพานต์ที่อยู่ในสระอโนดาต ด้านทิศตะวันตก โดยสมชายเปิดเผยว่า ความพิเศษของการปั้นปูนสดคือมีเวลาจำกัด ด้วยวัสดุที่ค่อนข้างแห้งเร็ว ช่างปั้นต้องฉับพลันและแม่นยำในระดับหนึ่ง มิฉะนั้นปูนจะแห้ง แข็งติดตัว หลังจากนั้นจึงส่งให้สำนักช่างสิบหมู่ดำเนินการลงสี

งานปั้นปูนสดถือเป็นศาสตร์และศิลป์ของศิลปวัฒนธรรมของชาติ ขาดไม่ได้สำหรับงานประติมากรรมประกอบงานสถาปัตยกรรม เช่น วัด โบสถ์ วิหาร โดยส่วนมากเป็นงานปูนปั้น และไม่ใช่เฉพาะปูนปั้นเพชรบุรีเท่านั้น แต่เป็นปูนปั้นทุกแขนง

“เราอนุรักษ์กันมานาน และอนุรักษ์ต่อๆ ไปเท่าที่ยังมีผู้สนใจอยู่”

ทำได้แค่ครั้งเดียวในชีวิต

ด้าน ชิน ประสงค์ อดีตผู้อำนวยการส่วนประติมากรรม กรมศิลปากร ประติมากรปั้นสุนัขทรงเลี้ยงคุณทองแดง คุณโจโฉ ประดับข้างพระจิตกาธาน เล่าว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของการถวายงาน เพราะเมื่อปี พ.ศ.2553 มีโอกาสปั้นคุณทองแดงและครอบครัว และได้เข้าไปวัดขนาดตัวของคุณทองแดงถึงในพระราชวัง

“ปี พ.ศ.2553 เคยถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในการปั้นคุณทองแดงและครอบครัว มาถึงคราวนี้ดีใจมากที่ได้ถวายงานเป็นครั้งสุดท้าย”

แต่กระนั้นแล้ว ประติมากรแห่งกรมศิลป์ยอมรับว่า “ไม่รู้จักคุณโจโฉมาก่อน” การปั้นให้ออกมาสมจริงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“คุณโจโฉเป็นสุนัขทรงเลี้ยงตัวแรกของรัชกาลที่ 9 ผมอาศัยแค่ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเคยตีพิมพ์ลงหนังสือราชินี จำนวน 3 ภาพ ที่สำนักพระราชวังส่งให้ดูเป็นแบบ”

หลังจากนั้นจึงวางแผนการปั้น และกำหนดสัดส่วนของคุณโจโฉขึ้นเองทั้งหมด โดยคิดว่าควรมีขนาดไล่เลี่ยกับคุณทองแดง

ชิน ประสงค์

ขณะเดียวกัน การปั้นจะสะท้อนอุปนิสัยของสุนัขทรงเลี้ยงทั้ง 2 ตัว คุณโจโฉจะดูมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า ในขณะที่คุณทองแดงจะเป็นความงามตามอุดมคติ

“คุณโจโฉเป็นสุนัขพันธุ์เทศ เพศผู้ ขี้เล่น รูปปั้นคุณโจโฉจึงมีความเป็นตะวันตก ด้วยท่าทีที่ดูผยองหน่อยๆ กำลังคาบไปป์ ซึ่งผมอ้างอิงจากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์

“ส่วนคุณทองแดงเป็นสุนัขพันธุ์ไทย เพศเมีย รูปปั้นจึงต้องลดขนาดลง สะท้อนความซื่อสัตย์ ความเรียบง่ายแบบไทย และความงดงามของสุนัขประจำรัชกาล

“มีคนเคยว่าจ้างให้ปั้นสุนัขทรงเลี้ยงอีกครั้ง แต่ยืนยันว่างานนี้สามารถทำได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต หากทำตามผู้ว่าจ้างนั่นหมายถึงกำลังทำเพื่อเงิน แต่การถวายงานครั้งนี้ทำด้วยหัวใจ”

โดยทั้งคุณทองแดงและคุณโจโฉจะมี “หูกระต่าย” ตรงลำคอ เพื่อให้มีความเป็นทางการ เหมาะสมกับงานพระราชพิธี

ประกอบกันนี้ ชิ้นยังแสดงการขึ้นรูปคุณทองแดงด้วยดินน้ำมันให้แก่ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ชมด้วย

ทำดีไว้ แล้วจะดีเอง

มาถึง สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ ผู้ออกแบบพระโกศจันทน์ หีบพระบรมศพจันทน์ พระโกศทองคำลงยาบรรจุพระบรมอัฐิ ฯลฯ กล่าวว่า เคยถวายงานแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งมีพระชนม์ชีพหลายครั้ง สำหรับงานพระเมรุมาศครั้งนี้ งานที่ออกแบบชิ้นแรกคือพระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากร ก่อนนำแบบขึ้นถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเวลาต่อมา

“งานพระเมรุมาศครั้งนี้มีแนวคิดว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 เปรียบเสมือนพระนายรายณ์อวตาร จึงทำลายที่พระหีบเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นลายที่มีเกียรติยศยิ่ง ใจกลางลายก้านขดเป็นลายพระครุฑพ่าห์ ซึ่งพระครุฑพ่าห์เปรียบเสมือนราชพาหนะของพระนารายณ์

“ส่วนพระโกศจันทน์ตรงจงกลพระโกศเป็นกลีบจงกล ทำเป็นใบเทศ ตรงกลางกลีบจงกลได้แกะไม้จันทน์ลอยตัวออกมา”

สำหรับการออกแบบช่อไม้จันทน์ สมชายเล่าว่า มีทั้งหมด 7 แบบ แต่ละแบบไม่เหมือนกัน โดยออกแบบเป็นลายดอกไม้เทศแบบฝรั่ง ลวดลายนูนต่ำ ดอกไม้ 1 ช่อ ประกอบด้วยลายทั้ง 2 ข้าง เจาะคว้านทะลุจนเห็นธูปเทียนไม้ระกำ ลงสีทองตามไส้เหมือนพระโกศจันทน์ให้เข้าชุดกัน

สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร

นอกจากนี้สมชายยังเป็นผู้ออกแบบลายผ้าม่านประดับพระเมรุมาศให้กับ นิดา ปิณฑานนท์ เป็นผู้จัดทำ โดยมีลวดลาย พุ่มข้าวบิณฑ์, อินทร์-พรหม, โคมลายกนก และนกคาบออกรูปทวยเทพถวายกร

ระหว่างนั้นสมชายได้สาธิตการเขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายสัตตบงกชบนพระหีบจันทน์ ตลอดจนลายเทพนม พร้อมกล่าวว่า ตลอดการทำงานได้ยึดพระบรมราโชวาทของในหลวง รัชกาลที่ 9 “ทำดีไว้ แล้วจะดีเอง” ที่ท่านวุฒิ สุมิตร อดีตรองราชเลขาธิการ ได้ยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้มาใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้เสมอ

“ทำปุ๊บเป็นดี ไม่ต้องรอให้คนนู้นคนนี้มาชม”

ถักทอด้วยหัวใจ

ปิดท้ายที่ นิดา ปิณฑานนท์ ผู้จัดทำผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ บอกเล่าการต่อสู้กับจิตใจของตัวเองตลอดระยะเวลา 5 เดือนของการทอผ้า และความปลื้มใจเมื่อเห็นผลงานเสร็จสมบูรณ์ออกมาอย่างสมพระเกียรติ

“ดิฉันทำงานผ้าม่านครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ครั้งแรกคืองานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งที่สองคือสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พอมาถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 รู้สึกเสียใจเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนที่สูญเสียพระองค์ท่านไป ตอนแรกก็ยังบอกว่าจะไม่ทำ แต่สุดท้ายเวลาพ้นผ่านไปตั้ง 3 เดือนแล้ว ตั้งแต่ตุลาคมจนถึงมกราคม ยังไม่เห็นมีใครทำอะไร ความรู้สึกของการรับผิดชอบก็เกิดขึ้น จึงกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทันที”

นิดาอธิบายต่อว่า พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช เป็นงานที่จะถูกถ่ายทอดไปสู่สายตาของคนทั่วโลก ผ้าม่านจึงควรมีรูปลักษณ์ที่ผสมผสานกับความทันสมัย

นิดา ปิณฑานนท์

“ตอนประชุมกัน เขาบอกว่าจะใช้สีสนิม ฉันก็คิดว่ามันไม่ใช่ ไม่สมพระเกียรติ ฉันจะทอเป็นไหม ทอให้เป็นประวัติศาสตร์ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะทอเป็นลายอะไร อาจารย์สมชายได้ออกแบบมาเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ สีก็ยังอิงแบบโบราณอยู่ จึงใช้ความรู้ที่เรียนมาและความสามารถ เพื่อถวายพระองค์ท่านให้ถึงที่สุดของชีวิต”

“แต่ละสีบนผ้าไม่ได้มีความหมาย แต่ต้องการให้ออกมาดูสมัยใหม่ จากปกติสีกรมท่า ฉันเปลี่ยนเป็นสีดอกอัญชัญ เพื่อให้เด่นออกมา หรือสีเขียวแก่ๆ ได้ปรับเป็นสีเทอร์คอยซ์ คนไทยน่าจะเรียกว่าสีน้ำทะเล ปรับทั้งหมดเพื่อให้มีมิติ เพื่อให้ออกมาเป็นที่สุด”

ชาวโลกจะได้เห็นว่า นี่เป็นจิตรกรรมไทย คนไทยทำ

ติดตามเนื้อหาที่ครบถ้วน ทุกรายละเอียดของศิลปะแห่งแผ่นดิน ทุกความทุ่มเทของศิลปินแห่งยุคสมัย ใน “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” หนังสือบันทึกประวัติศาสตร์ที่คนไทยพึงมีไว้ในครอบครอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image