ก้าวข้ามข้อจำกัดของ ‘ยีน’ ‘จากดาวน์ สู่ดาว’ สัมผัสหัวใจ ‘แคทลียา อังศวานันท์’ ผ่านงานศิลปะ

บรรยากาศที่ หอศิลป์ เวนิส อาร์ท สเปซ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความชื่นมื่น

วันนี้เป็นวันเปิดนิทรรศการสำคัญ “จากดาวน์ สู่ดาว” ศิลปะแห่งแรงบันดาลใจ The Art of Inspiration นิทรรศการศิลปะครั้งแรกในเมืองไทยของ “น้องเหมียว” แคทลียา อังศวานันท์ ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย และเยาวชนกลุ่มดาวน์ซินโดรมจากสถาบันราชานุกูล มี เอกชัย วรรณแก้ว รับเชิญร่วมวาดภาพกับแคทลียา ประกอบการบรรเลงขิม โดย ด.ญ.ชนิตา ธรรมธัชพิมล สาวน้อยมหัศจรรย์ ดาวน์ดนตรี เป็นการเปิดนิทรรศการ รายได้จากการประมูลภาพชิ้นนี้ สนับสนุนมูลนิธิราชานุกูลโดยไม่หักค่าใช้จ่าย

“ดาวน์ซินโดรม” แม้จะเป็นฝันร้ายของหลายๆ ครอบครัว เพราะทำให้ผู้ป่วยมีเชาวน์ปัญญาต่ำ พูดช้า มีปัญหาการใช้กล้ามเนื้อ และมีลักษณะภายนอกที่สังเกตได้ค่อนข้างชัดเจน แต่สำหรับ “ครอบครัวอังศวานันท์” น้องเหมียว คือของขวัญพิเศษของครอบครัว

แคทลียา อังศวานันท์ หรือน้องเหมียว ถึงจะมีพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ แต่ได้รับการเลี้ยงดูส่งเสริมจากครอบครัวที่ดีเยี่ยม โดยคุณพ่อ ทพ.สุนทร และคุณแม่ พรประภา อัศวานันท์ เป็นผู้ผลักดันส่งเสริมสำคัญ ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนคนอื่นๆ ได้ และน้องเหมียวก็สามารถทำได้ดีมาก ในฐานะศิลปินอิมเพรสชันนิสต์คนแรกของเมืองไทย กับ นิทรรศการศิลปะครั้งนี้ ที่หอศิลป์เวนิส อาร์ท สเปซ วัชรพล รามอินทรา จัดแสดงจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตั้งแต่ 10.00-19.00 น. ยกเว้นวันจันทร์-อังคาร

Advertisement
น้องช่อแก้ว ด.ญ.ชนิตา ธรรมธัชพิมล สาวน้อยมหัศจรรย์ ดาวน์ดนตรี
เขียนภาพประกอบเพลงขิมร่วมกับ เอกชัย วรรณแก้ว

ของขวัญล้ำค่าจากดวงดาว

เดือนฉาย แสงรัตนายนต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล อธิบายให้ฟังว่า คนเป็นดาวน์ ซินโดรม จะมีหน้าตาคล้ายเป็นพี่น้องกันไม่ว่าจะชาติใดภาษาใดก็ตาม เนื่องจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ซึ่งในคนปกติจะมี 2 แท่ง แต่คนกลุ่มนี้จะมีเกินมา 1 แท่ง หรือบางรายอาจเกิดจากการย้ายที่ของโครโมโซมคู่ที่ 14 มายึดติดกับโครโมโซมคู่ที่ 21 เป็นต้น

“ปัจจุบันการตรวจของหมอจะดูตามความจำเป็น ถ้าเห็นโอกาสเสี่ยงจะให้เจาะน้ำคร่ำตรวจ และเมื่อทราบว่าเป็นจะอยู่ที่การตัดสินใจของคุณแม่แล้วจะเห็นสมควรอย่างไร ซึ่งเมื่อคลอดออกมาแล้วก็จะมาช่วยกัน เนื่องจากอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “สติปัญญาบกพร่อง” หมายความว่า “สามารถเติมเต็มได้” ไม่ว่าจะพัฒนาด้านร่างกาย หรือด้านการใช้ภาษา พูดช้ากว่าคนอื่น แต่ก็ยังสามารถพัฒนาการได้”

ทางด้าน พรประภา อังศวานันท์ คุณแม่น้องเหมียว เล่าว่า น้องเหมียวพูดช้า คำแรกที่พูดไม่ใช่เรียก “พ่อ” หรือเรียก “แม่” แต่คำแรกที่พูดในวันลอยกระทงเมื่อเห็นกระทงลอยไป บอกว่า “สวยใหญ่แล้ว”

Advertisement

น้องเหมียวถูกเลี้ยงดูมาพร้อมเด็กปกติมาตั้งแต่เล็ก เพื่อให้มีพัฒนาการต่างๆ และรู้สึกว่าไม่แตกต่างจากใคร โดยเริ่มเรียนที่โรงเรียนรักลูกและต่อเนื่องจนมาถึงโรงเรียนรุ่งอรุณ ถึงจะเรียนได้ช้า แต่ก็สามารถผ่านเกณฑ์ปกติ จนเราเห็นความชอบของน้องที่มีต่องานศิลปะ น้องสามารถอยู่กับการสร้างสรรค์งานศิลป์ได้เป็นวันๆ โดยไม่เบื่อ

“ตอนที่น้องเหมียวอยู่ชั้นมัธยมเห็นน้องสาวเข้ามหาวิทยาลัยแล้วเขารู้สึกแย่มาก คิดว่าตัวเองจะเลี้ยงดูพ่อแม่อย่างไรจึงร้องไห้ใหญ่ จนคุณยายตกใจต้องช่วยปลอบ เขาบอกว่าอยากเรียนมหาวิทยาลัย แม่จึงซื้อใบสมัครให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยตามปกติ” คุณแม่บอก และว่า

“การที่มีน้องเหมียวเป็นลูก จริงๆ แล้ว คือของขวัญจากดวงดาวสำหรับครอบครัวเรา ครอบครัวเรารักเหมียวและส่งเสริมในกิจกรรมที่ลูกชอบ พาไปชมนิทรรศการภาพวาดในสถานที่ต่างๆ เท่าที่จะสามารถพาไปได้ จนน้องเกิดแรงบันดาลใจและถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานในวันนี้”

กับคุณพ่อคุณแม่และพี่สาว

ไม่เก่ง แต่คะแนนขยันเต็มร้อย

ทางด้าน สุทธาสินี สุวุฒโฑ หรือ อาจารย์กอล์ฟ ครูสอนศิลปะ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เล่าถึงการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยว่า ในเบื้องต้นเราจะสอนเขียนให้เหมือนจริงก่อน แม้ว่าเหมียวจะเขียนไม่เหมือน แต่ก็มีส่วนอื่นที่ดีเข้ามาเสริม

“เหมียวมามหาวิทยาลัยแต่เช้า ทำงานส่งครบ แม้ว่าเมื่อประเมินงานแต่ละชิ้นถือว่าตกเพราะเขียนไม่เหมือน แต่ทำได้มากชิ้น คนอื่นทำ 1 ชิ้น เหมียวทำ 5 ชิ้น” และว่า

แคทลียา อังศวานันท์ หรือน้องเหมียว

พอเทอม 2 จึงมีเรื่อง “การสร้างสรรค์” เข้ามาด้วย โดยคุณครูเราจะกำหนดหัวข้อ ให้นักศึกษาพรีเซนต์เอง เหมียวพูดไม่ได้มากมายเท่าเด็กปกติ แต่สามารถเขียนคำจำกัดความงานของตนเองได้ เหมียวผ่านหลายครูมาก คณบดีก็เคยสอนวาดเส้นให้

“เหมียวเป็นคนแรกเข้ามาเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป ปกติพี่ๆ จะจบภายใน 4 ปี แต่บางคนทางบ้านไม่มีค่าเทอมก็จะพักการเรียนไปทำงาน 1 ปี แล้วค่อยกลับมาเรียนต่อก็มี สำหรับเหมียวเรียนมากสุดในสาขา ถ้าจบในปีนี้ก็เท่ากับ 7 ปี เป็นพี่ซีเนียร์ของสาขา” อาจารย์กอล์ฟเล่าด้วยน้ำเสียงชื่นชม และบอกเพิ่มเติมว่า

ในงานนิทรรศการครั้งนี้แนะนำให้ชมงานจากห้องด้านในสุดก่อน จะเห็นพัฒนาการงานของเหมียว การทับซ้อนสีและอิลิเมนต์ ซึ่งเมื่อแรกที่เหมียวผสมสีเสร็จแล้วปาดเลย-จบ แต่พอมีการเรียนการสอน ต้องส่งสเกตช์มาดูก่อนว่าขาดตรงไหนบ้าง โดย 1 ชิ้นใช้เวลาทำ 1 เดือน เพื่อให้การทับซ้อนสีตรงตามสเกตช์และตรงตามใจตัวเอง มีอาจารย์หลายท่านแวะเวียนเข้ามาให้กำลังใจ

“ความพิเศษของเหมียวที่ชนะใจอาจารย์หลายคน คือ ทำงานทุกวัน เราจะเจอเหมียวมาคนแรกของห้อง บางทีมาก่อนอาจารย์เสียอีก”

ชีวิตที่มีตาราง ทุกอย่างต้องเป๊ะ

ประเด็นหนึ่งที่สะท้อนผ่านวงสนทนาในงานเปิดนิทรรศการวันนั้น คือ ความเป๊ะของตารางชีวิต เช่น 6 โมงครึ่งต้องกินข้าวเช้า 2 ทุ่มครึ่งอาบน้ำแล้วเข้านอน

“…มีอยู่วันหนึ่งสอนทฤษฎีแล้วเลิกเที่ยง เหมียวต้องกินข้าวตอนสิบเอ็ดโมงครึ่ง นั่งร้องไห้….” อาจารย์กอล์ฟเล่า

เดือนฉาย ผู้ช่วย ผอ.สถาบันราชานุกูล อธิบายเสริมว่า ผู้ที่เป็นดาวน์ ซินโดรมจะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายช้ากว่าคนปกติ เช่น ยืนช้าเดินช้าพูดช้า เป็นปัญหาของกล้ามเนื้อมัดใหญ่กล้ามเนื้อมัดเล็ก แต่กิจกรรมที่น้องเหมียวทำเข้ามาช่วยทดแทนได้สุดยอด สามารถเอาจุดเด่นเรื่องงานศิลปะมาพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาจินตนาการของเขา ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การพัฒนาอารมณ์และสังคม

แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่คุณแม่สามารถช่วยเขา ทำให้เขารู้สึกว่ามีกิจกรรมเป็นลำดับขั้น ทำให้เขาคาดเดาได้ อาจจะมีกังวลบ้าง แต่ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการฝึกให้รู้จักยืดหยุ่นจะทำให้เขาปรับตัวได้ง่ายขึ้น บอกเขาสักนิดว่าวันนี้จะมีกิจกรรมอะไรเพิ่ม เหมือนเวลาจุดพลุถ้าเรารู้ว่าจะเสียงดัง เราจะปรับตัวได้

เดือนฉายย้ำอีกว่า การฝึกให้รู้จักการยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อว่าการปรับตัวเข้ากับสังคมจะทำได้ง่ายขึ้น คือแม้ช้าแต่สามารถเดินต่อไปได้โดยมีคุณแม่ช่วยดูแล ทำให้มีความมั่นใจด้านอารมณ์ จะเห็นว่าระหว่างที่เราพูดคุยกัน เมื่อคุณแม่พูดถึงน้อง คุณแม่จะจับมือน้อง ทำให้น้องสามารถสัมผัสได้ เวลาที่คุณแม่พูด

“เขาแอบฟังอยู่นะ ฟังได้เข้าใจ แล้วเอาคีย์พอยต์มาตอบ ซึ่งความรู้สึกซาบซึ้งในจิตใจมันต่อยอดด้วยงานศิลปะได้ดียิ่ง”

พัฒนาการ Level 1 “มีเมตตารักสุนัข” สีอะคริลิก 120×150 ซม.

เรียนรู้พัฒนาการผ่านงานศิลปะ 3 เลเวล

“จากดาวน์ สู่ดาว” ศิลปะแห่งแรงบันดาลใจ The Art of Inspiration จัดขึ้นด้วยความตั้งใจของครอบครัวอังศวานันท์ที่จะให้นิทรรศการครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่จะส่งต่อไปยังผู้อื่น และครอบครัวของผู้ที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม

บนผนังสีขาวภายในหอศิลป์ ที่จัดแสดงงานสีสันสดใสเกือบ 300 ชิ้น ของน้องเหมียว แบ่งเป็น 3 ส่วน สะท้อนถึงพัฒนาการทางความคิด การสื่อสารผ่านงานศิลปะเป็น 3 ระดับ เป็นผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการนับตั้งแต่เข้าเป็นนิสิตปี 2 ที่คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในปี 2553

อาจารย์กอล์ฟบอกว่า ภาพเหล่านี้เป็นความประทับใจส่วนตัว แต่ละชิ้นมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเหมียว หยิบเอาเรื่องใกล้ตัว เช่น ความสุข ความเศร้า ความสะเทือนใจ เช่น ภาพ “ชุดหมา” ที่วาดขึ้นจากความรู้สึกที่เพิ่งสูญเสียน้องหมาที่เลี้ยงมา ยังมี ชุดเพื่อน เล่าถึงความสนิทกับเพื่อน ชุดวัด ชุดของขวัญ ชุดไปต่างประเทศ เป็นการหยิบเอาความประทับใจมาสร้างสรรค์ แสดงออกในทางสีสันที่มีความสุข และเชื่อว่าต่อไปเหมียวจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้

ภาพเซตแสดงพัฒนาการ Level 3

ขณะที่ เดือนฉายให้ข้อคิดจากงานศิลปะที่เห็นตรงหน้าว่า เด็กทุกคนพ่อแม่ต้องให้โอกาส และเด็กเองก็ต้องให้โอกาสตัวเอง แม้จะช้าหน่อย แต่เป็นการเรียนรู้ไปตามสเต็ป

สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ 1.ไม่เร่งเร้าและเร่งรัด ให้น้องมีเวลาค่อยเป็นค่อยไป ถ้าดูรูปจะรู้เลยว่ารูปไหนถูกเร่งรัด ภาพจะดูไร้ชีวิตไร้จิตวิญญาณ

ประเด็นที่ 2 เรามักจะคาดหวังว่าลูกจะต้องก้าวไปข้างหน้า บอกเลยว่า คาดหวังได้ แต่อย่ากดดัน ไม่เช่นนั้นแล้วจะบล็อกความคิดสร้างสรรค์ของเขา จะเห็นว่าน้องพยายามถ่ายทอดความรู้สึกอารมณ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าวาดซ้ำๆ เมื่อใดที่เราคาดหวังจะเป็นการสร้างความกดดัน ควรรอให้เขามีความพร้อม

ประการสุดท้ายที่สำคัญคือ ความสุขในการสร้างสรรค์ การส่งเสริมได้ถูกทาง สิ่งนั้นจะสร้างแรงบันดาลใจให้ลูก นั่นเป็นการสร้างความสุข

เมื่อใดที่เด็กทำกิจกรรมแล้วยิ้ม นั่นคือ ความสำเร็จ สิ่งนี้คือคำตอบ

พัฒนาการ Level2 “การต่อสู้แบบมวยไทย” สีอะคริลิก 60×80 ซม.

“ประทับใจคุณแม่มาก เพราะเป็นการประกาศว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ สามารถสร้างสรรค์ให้เกิดความสุขได้ และกำลังสอนเหมียวว่าสามารถแบ่งปันได้ และแรงบันดาลใจนั้นก็ส่งมอบให้กับเด็กทุกคน

ขณะที่ คุณแม่พรประภาบอกว่า “แค่หาข้อดีของลูกให้ได้ก็พอ คนไทยมีแต่ข้อวิจารณ์แรงๆ เราจะแสดงด้านลบใส่กันมากกว่าด้านดี อยากให้ชมกันบ้าง พ่อแม่ทุกคนรู้จักดูแลลูกอยู่แล้ว เพียงเติมสิ่งดีๆ ให้ลูกไปเรื่อยๆ ไม่เรียกร้องไม่ทำลายแล้วเด็กจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ และมีชีวิตที่มีความสุข”

ปิดท้ายด้วย อาจารย์กอล์ฟ ที่บอกว่า เหมียวเรียนรู้ผ่านการฝึกอย่างอดทน ตั้งแต่เหมียวจับพู่กันวาดรูป อารมณ์หงุดหงิดที่เคยมีก็หายไป นี่คือการเรียนรู้ฝึกอารมณ์ผ่านงานศิลปะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image