ศิลปินดังจ้างจีนวาดแทน เมื่อ ‘เสิ่นเจิ้น’ บุกหอศิลป์ เขย่าศรัทธาบนผืนผ้าใบ

นับเป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปีที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในแวดวงศิลปะร่วมสมัย เมื่อมีการเผยแพร่จดหมายของศิลปินดังอย่าง “เอกชัย ลวดสูงเนิน” ที่เจ้าตัวเขียนด้วยลายมือ มีเนื้อหายอมรับ “สารภาพ” ถึงประเด็นที่เคยมีการร่ำลือกันให้แซ่ดมานานถึง 2 ปี ว่าเจ้าตัวไม่ได้เขียนภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการใหญ่ชุดหนึ่งที่หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดลเมื่อ พ.ศ.2558 ว่า “เป็นความจริงตามนั้น” และขอรับความผิดพลาดนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่สุดในชีวิต

เอกชัย ลวดสูงเนิน (ภาพจาก www.unhcr.or.th)

ด้าน “ถาวร โกอุดมวิทย์” ศิลปินรุ่นใหญ่ในฐานะผู้อำนวยการหอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล ก็ออกแถลงการณ์แสดงความรับผิดชอบ พร้อม “กราบขออภัยต่อสาธารณชน” ที่ไม่รอบคอบ เพราะไม่คาดคิดว่าจะมีใครกล้าทำเช่นนี้

ที่น่าสนใจคือ มีการให้รายละเอียดด้วยว่า เป็นการให้ “ศิลปินจีน” วาดแทน เพราะไม่สามารถวาดได้ตามที่ตั้งใจ

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงสร้างความตกตะลึงและผิดหวังให้แก่สังคม หากยังนำมาซึ่งคำถามสำคัญ พร้อมการ “ขุดคุ้ย” ว่านอกจากศิลปินดังท่านนี้แล้ว ยังมีรายอื่นๆ อีกหรือไม่ หลังผ้าใบบางผืนที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีสัน ลายเส้น ฝีแปรง อาจแท้แค่ลายเซ็นด้านล่างของภาพ?

Advertisement

‘รุ่นใหญ่ ใครๆ ก็ทำกัน’ เบื้องลึกสุดฉาว
หรือเรื่องเมาธ์ ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้?

หลังข่าวสะท้านวงการศิลปะแพร่สะพัดออกไป ไม่เพียงวงดินเนอร์ยามค่ำคืนที่ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาสุดร้อนแรง ทว่ากระแสในโลกโซเชียลก็ถกกันผ่านคีย์บอร์ดอย่างล้นทะลัก เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งเป็นคนในยุทธจักรศิลปะร่วมสมัยเผยแพร่ความเห็นในทำนองที่ว่าการจ้างคนอื่นมาวาดรูปแล้วลงชื่อตัวเอง “ทั่วโลกก็ทำกัน” ไม่เพียงเท่านั้น ยังอ้างว่า ศิลปินดังของไทยท่านหนึ่งให้คนอื่นเขียนภาพแล้วลงชื่อตัวเองมานานถึง 20 ปี รวมแล้วราว 500 ภาพ ส่วนอีกรายให้ลูกศิษย์เป็นลูกมือ เป็นที่ร่ำลือมานานแล้ว

รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ (ภาพจาก www.rama9art.org)

ยังมีการเปิดเผยข้อมูลอีกว่า ศิลปินบางรายเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาวาดภาพแล้วตัวเองเซ็นชื่อขาย หลอกนักสะสมว่าเป็นผลงานตัวเอง พิรุธอยู่ที่จำนวนผลงาน เช่น ใน 1 เดือนผลิตออกมานับสิบภาพราวกับโรงงานอุตสาหกรรมทั้งที่มีงานประจำคือการสอน แถมยังเดินทางตลอด จึงชวนงงอย่างยิ่งว่าเอาเวลาที่ไหนมาวาดรูป?

“เมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็ต้องถือเป็นข่าวลือ”

Advertisement

คือคำตอบของ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อถูกถามถึงประเด็นดังกล่าว

 

 


ผลงานของนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล

ผิดตรงไหนแค่ใช้ ‘ลูกมือ’?
เส้นบางๆ ของจรรยาบรรณ
กะเทาะหลักการ ทำได้-ไม่ได้?

เขยิบมาถึงอีกประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบว่าแท้จริงแล้วศิลปินสามารถมี “ลูกมือ” คอยช่วยเหลืองานได้ ซึ่งในต่างประเทศก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะงานชิ้นใหญ่ๆ ที่ทำคนเดียวไม่ไหว จะมีการว่าจ้าง “ทีมงาน” มาสะบัดฝีไม้ลายมือภายใต้การควบคุมของศิลปิน ดังนั้น กรณีของเอกชัยไม่น่าจะผิดจรรยาบรรณแต่อย่างใด

ประเด็นนี้ สุธีอธิบายว่า ศิลปะมีหลายแบบ หลายแนวทาง บางอย่างอยู่ในวิสัยที่ให้ลูกมือช่วยได้ เช่น แนว “คอนเซ็ปชวลอาร์ต” (Conceptual art) ซึ่งศิลปินเป็นผู้คิดและออกแบบ โดยให้ลูกมือทำตามแนวทางที่คิดไว้ได้ เป็นงานที่ไม่ได้เน้นทักษะ แต่เป็นการทำตามไอเดีย อย่างงานของ “นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล” ศิลปินชื่อดัง เป็นต้น หากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็คล้ายๆ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่คอยดูแลทีมงาน เช่น ฝ่ายฉาก คนทำดนตรีประกอบ และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม งานศิลปะที่เป็นเรื่องของ “ฝีมือ” ทักษะ สไตล์ เส้นสาย ทีแปรง และการแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก อย่างงาน “จิตรกรรม” จะทำเช่นนั้นไม่ได้ เนื่องจากงานดังกล่าวต้องเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินคนนั้นๆ คล้าย “ลายเซ็น” นั่นเอง

“ถ้าคนอื่นเขียน ก็คือการปลอมลายเซ็น”


เจฟฟ์ คูนส์ ศิลปินชาวอเมริกัน (ภาพจาก www.spiegel.de)

หอศิลป์-นักสะสม
เหยื่อหอมหวานที่ต้องทันเกม

ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์เมื่อ 2 ปีก่อนซึ่งมีการซื้อขายผลงานที่เชื่อว่าเป็นของเอกชัย ลวดสูงเนิน ครั้นได้รับการสารภาพในภายหลัง ถาวร โกอุดมวิทย์ ผอ.หอศิลป์อาร์เดล ระบุว่าได้ติดต่อขอซื้อภาพดังกล่าวคืนจาก “นักสะสม” ท่านหนึ่งเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่เจ้าตัวไม่ประสงค์จะขายคืน เงินที่ได้จากครั้งนั้นจึงจะถูกมอบให้องค์กรการกุศล

ถามว่า ในอนาคตหอศิลป์ต่างๆ ควรระแวดระวังตัวเองอย่างไรไม่ให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้?

อาจารย์สุธีบอกว่า หอศิลป์ก็ต้องรู้ทัน ต้อง “ดูออก” ว่าอะไรของแท้ หรือไม่แท้ ใช่งานของเจ้าตัวจริงหรือไม่ เหมือนดูโบราณวัตถุได้ว่าของจริงหรือปลอม ยิ่งศิลปินดัง ยิ่งไม่น่าพลาด ต่างจากศิลปิน “หน้าใหม่” ที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน อย่างไร นอกจากนี้ ยังมองว่าต้องย้อนไปปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาศิลปะว่า “อะไรควรไม่ควร”


ทาคาชิ มูราคามิ ศิลปินญี่ปุ่นโด่งดังระดับโลก (ภาพจาก IG @murakamipom)

ไขปมงานศิลป์ ‘เมด อิน ไชน่า’
เมื่อ ‘เสิ่นเจิ้น’ ไม่ได้ก๊อปแต่กระเป๋า

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปมถกเถียงปนเสียงฮาก็คือการที่เอกชัย ลวดสูงเนิน ให้ศิลปินชาวจีนเป็นผู้เขียนภาพ ชวนให้ขบคิดว่างานเมด อิน ไชน่า กำลังรุกคืบมาในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ศิลปะร่วมสมัย

ขนาดรุ่นใหญ่อย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ยังยั่วล้อผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยโพสต์ผลงานชิ้นหนึ่งแล้วพิมพ์ข้อความว่า “เชื่อหรือไม่ ภาพนี้ผมจ้างคนจีนวาด เท่าที่ผ่านมา ผมจ้างคนจีนวาดรูปมาตลอด” นอกจากนี้ยังระบุว่า คนจีนหลอกได้ทุกเรื่อง รวมถึงการเข้ามาเป็นมหาเศรษฐีในเมืองไทย แล้วบอกว่าเป็น “กิมหงวน ไทยแท้”

ถามว่าทำไมต้องจ้างคนจีน?

สุธีมองว่า จีนเป็นประเทศใหญ่มาก คนเยอะ คนเรียนด้านศิลปะและมีฝีมือมีมากมาย พื้นฐานเข้าขั้นดีมาก บางส่วนที่ไม่ได้เป็นศิลปินสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางของตัวเอง ก็มา “รับจ๊อบ” หรือทำงานเชิงพาณิชย์

อาจารย์ยังเล่าว่า ที่ “เสิ่นเจิ้น” มีแหล่งรวมตัวของจิตรกร รับทำงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ มีทุกเกรด และราคาไม่แพง

“ทุกมิติ ทุกเกรด ตั้งแต่ออริจินอลจนถึงก๊อบปี้ มีหมด”

สรุปว่าเดี๋ยวนี้จีนไม่ได้ก๊อปแต่สินค้าแบรนด์เนม หากแต่ “มาแรง” ในทุกวงการ หลากสาขาอาชีพ

แล้วเหตุใดคนจีนจึงมีพรสวรรค์ในการก๊อป หรือเลียนแบบฝีมือของคนอื่นได้อย่างน่าอัศจรรย์?

ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะจีน บอกว่า “ประวัติศาสตร์การก๊อป” ในวัฒนธรรมจีนมีมาอย่างยาวนาน ตัวอย่างในสมัยราชวงศ์ชิง มีฝรั่งนำภาพวาดสไตล์ตะวันตกมาให้ศิลปินจีนก๊อบปี้ แล้วส่งกลับไปขายในยุโรป เรียกได้ว่างานก๊อปจีนเคยเปิดตลาดตะวันตกมาตั้งแต่ยุคโบราณ การเรียนรู้และฝึกฝนของจิตรกรจีนก่อนจะมีฝีมือ ก็ต้องฝึกคัดลอกงานของปรมาจารย์อย่างเข้มข้น โดยนับเป็น “ศาสตร์” อย่างหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นกันหมดทั้งเอเชีย อย่างคนไทยก็ฝึกคัดลอกลายรดน้ำบนตู้พระธรรมวัดเซิงหวาย

“ปักกิ่งมีตลาดขายของเก่า ซึ่งมีทั้งเก่าแท้ และไม่แท้ อย่างพวกภาพม้วน ของก๊อปเยอะ ปลอมจากงานศิลปินจีนดังๆ นี่พูดถึงงานยุคโบราณ ส่วนศิลปะร่วมสมัยที่ว่ามีแหล่งในเสิ่นเจิ้น อันนี้ยังไม่ทราบ แต่ไม่แปลกใจ”

คำสารภาพที่สะท้านวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยในครั้งนี้ ไม่ได้สร้างเสียงฮือฮาเพียงชั่วครู่ หากแต่เปิดมุมมองของสังคมที่มีต่อความงดงามทางสายตา ว่าข้างหลังภาพเหล่านี้อาจซุกซ่อนไว้ด้วยร่องรอยที่ไม่ได้ขาวสะอาดเหมือนผืนผ้าใบเสมอไป



‘คำต่อคำ’
จดหมายสารภาพของ
เอกชัย ลวดสูงเนิน

แถลงการณ์ขออภัยต่อสาธารณชน

เรียน ทุกท่าน สืบเนื่องจากเหตุการณ์ในนิทรรศการ…………. เมื่อปี 2558 ที่อาร์เดล แกลเลอรี่ ผมได้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าผมไม่ได้เขียนเองนั้น ซึ่งเป็นความจริงตามนั้น ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดที่สำคัญที่สุดของผม โดยที่ทางอาร์เดลแกลเลอรี่ไม่มีส่วนรู้เห็นและเกิดความเสียหาย

ผมต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจและขอรับผิดชอบต่อผลงานอีกบางชิ้น (ประมาณ 5 ภาพ) ที่เกิดขึ้นในปี 2557 ความผิดพลาดครั้งนี้จะเป็นบทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผม

ด้วยความเคารพ
เอกชัย ลวดสูงเนิน
7 ธันวาคม 2560


ซัลวาดอร์ ดาลี ศิลปินระดับโลกชาวสเปน โด่งดังจากผลงานแนวเหนือจริง (Surrealism)

Q & A โดยศิลปินหนุ่ม
‘ตะวัน วัตุยา’

ถาม : ศิลปินระดับโลกมี “ทีมงาน” ช่วยทำจริงหรือ?

ตอบ : จริง แต่เป็นเรื่องเปิดเผย ไม่ได้ปิดบังหรือเข้าข่ายหลอกลวง เช่น “ทาคาชิ มูราคามิ” ศิลปินชาวญี่ปุ่น และเจฟฟ์ คูนส์ ชาวอเมริกัน ใช้ช่างที่วาดเก่งมาก เป็นงานโคตรฝีมือ

ถาม : มีคนดังในประวัติศาสตร์โลกทำเรื่องอื้อฉาวอย่างการจ้างคนอื่นเขียนรูปแล้วลงชื่อตัวเองไหม

ตอบ : มีที่คล้ายๆ กันคือ ซัลวาดอร์ ดาลี เซ็นกระดาษเปล่าเยอะมากให้ลูกน้องวาด จริงๆ เขาเก่งมากที่ทำแบบนี้ คงเพราะอยากทำงานได้เยอะๆ

ถาม : เคยได้ยินเรื่องการจ้างคนอื่นวาดรูปแทนในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทยหรือเปล่า คิดว่า “คนใน” รู้ไหม?

ตอบ : ได้ยินมานานแล้ว และคิดว่าเป็นที่รู้กัน แต่ไม่มีใครเอามาพูดอย่างเปิดเผย จนเกิดประเด็นนี้ที่มีหลักฐานชัดเจนคือจดหมายและแถลงการณ์

ถาม : มองอย่างไรต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในเรื่องนี้

ตอบ : ก็ดีนะ จะได้ตื่นตัวกันบ้าง นานาความเห็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image