บุกกองอาสาจาม ‘บ้านแขกครัว’ มุสลิมบางกอก เสน่ห์ชุมชนเก่าที่ยังมีลมหายใจ

บริเวณเชิงสะพานเจริญผล ตรงที่เป็นที่ตั้งของมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ มีป้ายเล็กๆ เขียนไว้ว่า “ชุมชนบ้านครัว”

มองภายนอกเหมือนเป็นชุมชนเล็กๆ อยู่กันอย่างเงียบสงบ ทว่า เมื่อได้เข้าไปสำรวจจึงพบว่า ที่นี่เป็นที่ตั้งของชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ และเก่าแก่ที่สุดในฝั่งพระนคร บนพื้นที่ 14 ไร่เศษ ตลอดสองฝั่งคลองแสนแสบ

แต่เดิม 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในพื้นที่แห่งนี้ เป็นมุสลิมจาม ที่ได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 1 เป็นบำเหน็จรางวัลในการที่ได้ร่วมรบในกองอาสาจาม สมัยสงคราม 9 ทัพ ระหว่างสยามกับพม่า ราว พ.ศ.2328

กว่า 200 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าเรือนไม้เดิมๆ จะค่อยๆ หายไป ขณะเดียวกันการผลัดเปลี่ยนจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ภาษาพูดแทบไม่มีภาษาจามหรือภาษาเขมรอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่อย่างเต็มเปี่ยมคือ จิตวิญญาณของชุมชน

Advertisement

เพราะ “ชุมชน มัสยิด สุสาน คือเรือนร่างเดียวกัน” แม้ชุมชนบ้านครัว หรือที่เดิมใช้ชื่อว่า “บ้านแขกครัว” จะถูกแบ่งด้วยคลองแสนแสบ และถนนบรรทัดทอง แต่ไม่ว่าจะเป็นบ้านครัวเหนือ บ้านครัวใต้ หรือบ้านครัวตะวันตก ก็เป็นเรือนร่างเดียวกัน เป็นชุมชนที่มีความเป็นหนึ่งเดียวมาเนิ่นนานจวบจนปัจจุบัน

พิทักษมรดก โครงการเพื่องานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเข้าไปเก็บข้อมูลวิจัย พร้อมกับพาผู้ที่สนใจเข้าไปเปิดตำนานบ้านครัว พื้นที่มรดกแห่งมุสลิมกองอาสาจาม-มลายู

โคมไฟที่ระลึกในงานพระบรมศพ ร.5 ที่ ร.6 พระราชทานให้อิหม่ามที่เข้าเฝ้าฯ ยังคงรักษาเป็นอย่างดีที่มัสยิดบ้านครัว
ศาลาท่าน้ำมัสยิดยาเมียะอุ สร้างสมัย ร.3 มีการย้ายมลายูปัตตานีมาพักที่บ้านครัวไปตั้งถิ่นฐานที่แสนแสบมีนบุรี

จาม-จีน-อาหรับ-เปอร์เซีย ล้วนคือแขก

คนกรุงเทพฯ มักเรียกมุสลิมรวมๆ ว่า “แขก” ทว่า ในความเป็นจริง “แขก” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลาย มีถิ่นฐานอยู่ทางดินแดนตะวันตกของประเทศไทย

Advertisement

ผศ.ดร.อาดิศร์ อิดริส รักษมณี ผู้เขียน “มัสยิดในกรุงเทพฯ” อธิบายคำว่า “แขก” ที่คนไทยมักเรียกด้วยความคุ้นชินว่า หมายรวมไปถึงกลุ่มคนที่นับถือศาสนาต่างๆ คือ แขกพราหมณ์ แขกซิกซ์ และแขกที่นับถือศาสนาอิสลามหรือมุสลิม เช่นแขกอาหรับ แขกเปอร์เซีย แขกจาม แขกชวา และแขกมลายู เป็นต้น บางที่ก็เรียกเจาะจงถึงมุสลิมตามนิกาย เช่น แขกเจ้าเซ็น แขกซุนนี

มุสลิมที่มีบทบาทเด่นชัดในระยะแรก ได้แก่ ขุนนางมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียในราชสำนักสยาม ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระยาจุฬาราชมนตรี สังกัดกรมท่าขวา ผู้ดูแลการค้าของราชสำนักกับประเทศทางฝั่งตะวันตกของสยาม และดูแลชาวต่างชาติจากประเทศดังกล่าวที่อาศัยอยู่ในสยาม ซึ่งรวมถึงมุสลิมด้วย กลุ่มขุนนางเชื้อสายเปอร์เซียจึงมีโอกาสและบทบาทสำคัญในสังคมมากกว่ามุสลิมเชื้อชาติอื่นๆ ในสยาม

แต่ถ้าย้อนกลับไปดูการเข้ามาของมุสลิมในยุคแรกๆ จะพบว่ามีมาไม่ต่ำกว่า 1,000 ปีแล้ว

พื้นที่กุโบร์หรือสุสานคือปอดใหญ่ของชุมชน

ศุกรีย์ สะเร็ม ประธานคณะทำงานสภาศิลปวัฒนธรรมมุสลิมสยาม บอกว่า มีหลักฐานที่เรารู้ว่า อาหรับเมื่อตอนเข้ามาค้าขายในภูมิภาคนี้ก็นำศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาแต่เนิ่นนาน หลักฐานที่เราพบโดยมากจะเป็นพวกเหรียญ กระทั่งล่าสุด การพบเรืออาหรับโบราณ 2 ลำ อายุกว่า 1,000 ปี พร้อมกับชิ้นส่วนกระเบื้องเครื่องถ้วยในเรือ ทั้งเรือโบราณพนมสุรินทร์ ที่บ่อกุ้ง ต.พันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสงคราม เมื่อปี 2556 และอีกลำที่ ต.ธรรมศาลา จ.นครปฐม กลางปี 2558 เป็นหลักฐานยืนยันถึงการเข้ามาของมุสลิมในประเทศไทย

ศุกรีย์ สะเร็ม กับมีดโบราณสมัยสงคราม 9 ทัพ ที่ป้าอรุณี สุมานันท์ ยังคงเก็บรักษาเป็นอย่างดี

“เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะพบว่าไม้ที่ใช้ทำเรือเป็นไม้สนซีดาร์ และการต่อเรือคือการเย็บท้ายเรือต่อกันเป็นเทคนิคอาหรับโบราณ ถือเป็นเรือที่สมบูรณ์ที่สุดและใหญ่ที่สุดที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี่คือหลักฐานใหม่ที่บอกเล่าถึงมุสลิมในประเทศไทย บอกเล่าถึงการเข้ามาของตะวันตกอันไกลโพ้นเมื่อประมาณ 1,000 กว่าปีที่แล้ว แต่น่าเสียใจคือ เรือที่กู้ขึ้นบางส่วนถล่มลงในน้ำอีก” ศุกรีย์บอก และว่า

ถ้าจำแนกตามกลุ่มชาติพันธุ์ เราพบว่ากลุ่มมุสลิมที่มีบทบาทในสยามประเทศในอดีต มี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มมุสลิมที่มาจากโลกมลายูกับอินเดีย และกลุ่มเติร์ก อาหรับและเปอร์เซีย ซึ่งในส่วนของคนเปอร์เซียมีข้อมูลอ้างอิงน้อยมาก แต่สามารถแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1.มุสลิมจีน ที่เราทราบคือ เจิ้งเหอ แม่ทัพเรือเมื่อ 600 กว่าปีที่แล้วที่เดินกองเรือเข้ามาในสยาม และไปเยือนถึงกรุงศรีอยุธยา มีบันทึกว่าท่านให้ตั้งกองเรือที่หน้าวัดพนัญเชิง

2.กลุ่มจาม ขึ้นฝั่งที่เวียดนามเมื่อพันปีที่แล้ว และเป็นจามตั้งแต่สมัยนับถือผี จามที่นับถือพราหมณ์และมาเป็นพุทธมหายาน และนับถือศาสนาอิสลาม คนสยามจะเรียกจาม ว่า “แขกจาม” จามที่ว่าคือ จามปา

3.จากโลกมลายู ที่มาจากแหลมมลายู 4.โมกุล (อินเดีย ปากิสถาน และบังกลาเทศ) 5.เปอร์เซีย 6.อาหรับ และ 7.กลุ่มเติร์ก หรือมะหง่น

“สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ประมาณ 400 กว่าปีที่แล้ว เราพบว่ากองทหารที่มาเป็นทหารอาสาในสมัยนั้นเป็นพวกเติร์กด้วย และเติร์กเคยไปช่วยรบกับพวกเชียงใหม่ ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1”

บ้านโบราณประดับกระจกสีลายพิกุลของป้าอรุณี สุมานนท์

ชุมชนหน้าด่านแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ บางกอกเป็นศูนย์กลางที่ดึงดูดมุสลิมจากหลายเชื้อชาติให้เดินทางเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในลักษณะต่างๆ เช่น ชุมชนนักรบเชื้อสายจามที่มัสยิดบ้านครัว ชุมชนนักวิชาการและนักธุรกิจเชื้อสายอาหรับที่มัสยิดบางกอกน้อย ชุมชนช่างฝีมือเชื้อสายมลายูที่มัสยิดจักรพงษ์และมัสยิดตึกดิน ชุมชนนักธุรกิจชาวอินเดียที่มัสยิดตึกแดงและมัสยิดขาว และชุมชนเกษตรกรเชื้อสายมลายูที่มัสยิดกองดิน เป็นต้น โดยมุสลิมกลุ่มต่างๆ ปรับวิถีชีวิตสอดคล้องกับสังคมรอบข้าง

ทั้งนี้ ในส่วนของกองอาสาจาม ศุกรีย์บอกว่า เข้ามาตั้งแต่ต้นอยุธยา มีการนำขุนนางมลายูเข้ามาเป็นแม่กองอาสาจาม นั่นคือพระยาราชบังสัน (แม้น) แล้วก็มีการผสมผสานกัน จามมลายูที่เข้ามาในระบบขุนนางสยามมีเป็นจำนวนมาก แต่เราแทบจะไม่ได้ยินเรื่องของขุนนางมลายูเลย เพราะคำ “มลายู” เป็นคำใหม่ที่ใช้เรียก ส่วน “จาม” เป็นคำโบราณ

“คนบ้านครัว โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก เป็นคนเก่าแก่ที่มาจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผ่านสงครามแล้วมาสร้างเมืองตั้งแต่สมัยธนบุรี จนกระทั่งย้ายพระนครมาฝั่งตะวันออก บรรดาขุนนางจากฝั่งธนบุรี เคยไปรบในสงคราม 9 ทัพชนะ มีความสามารถเก่งกาจมาก ข้ามฝั่งมาตั้งชุมชนตรงนี้ โดยได้รับพระราชทานที่ดินเพื่อเป็นรางวัล แต่ทางยุทธศาสตร์ สุดคลองนางหงษ์หรือคลองมหานาคคือสุดชายแดน ออกไปจากตรงนี้ไม่มีกองทหารเลย”

ในจดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ บันทึกถึงชุมชนบ้านครัว เมื่อ พ.ศ.2439 (ร.ศ.115) ตามแผนที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมแต่อยู่นอกเขตพระนคร สมัยรัชกาลที่ 1-3 เขตพระนครทางทิศตะวันออกคือ พื้นที่ในแนวคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง, คลองบางลำภู) สมัยรัชกาลที่ 4 เขตพระนครทางทิศตะวันออกขยายเพิ่มขึ้นอีก คือพื้นที่ในแนวคลองผดุงกรุงเกษม กระนั้นบ้านครัวก็ยังคงอยู่นอกเขตพระนคร

“บ้านครัว” นอกจากทอผ้าคือทำประมง

ชุมชนบ้านครัวตั้งขึ้น พ.ศ.2330 คือ ประมาณ 230 ปี สมัยที่กรุงเทพฯยังมีป่ามีทุ่ง พื้นที่ตรงนี้เรียกว่า “ป่าไผ่ทุ่งพญาไท” โดยมีพื้นที่อยู่ 2 ฟากคลองแสนแสบ ทางเหนืออยู่ในเขตพื้นที่ราชเทวี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกไปถึงซอยเพชรบุรี 12 ใกล้สะพานหัวช้าง ไปจรดใต้ทางด่วนสายบางโคล่-แจ้งวัฒนะ ทางทิศใต้มีชุมชนมุสลิมบ้านครัวเช่นกัน แต่มีจำนวนน้อย อยู่ในเขตปทุมวัน

นอกจากอาชีพทอผ้า ซึ่ง จิม ทอมป์สัน นักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่เข้ามาช่วยพัฒนาออกแบบลวดลายและสีสัน จนเป็นที่มาของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย เป็นที่รู้จักในระดับโลกแล้ว อาชีพดั้งเดิมของคนบ้านครัวนับตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คือทำประมง เนื่องจากบรรพชนมีความเชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ ค้าขาย รับราชการทหารเรือ นั่นหมายถึงเมื่อก่อนเก่าครั้งที่การสัญจรยังใช้ทางน้ำ วิถีทำกินของผู้คนยังผูกพันอยู่กับคลอง

แต่ปัจจุบันน้ำในคลองใช้การอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากเพื่อการสัญจร ส่วนอาชีพทอผ้า หลังจาก จิม ทอมป์สัน หายตัวไปเมื่อ 50 ปีก่อน ไม่มีออเดอร์งานผ้าทอ วิถีการทอก็ค่อยๆ หายไป มีเหลือเพียงหลังเดียวที่ยังคงสืบทอดวีถีการทอผ้ามุสลิมจาม คือ นิพนธ์ มนูทัศน์ เจ้าของแบนด์ “ผ้าไหมบ้านครัว” ในปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงในช่วง 200 กว่าปีที่ผ่านมา สภาพของความเป็นชุมชนบ้านครัวอาจะไม่เหลือให้เห็น แต่ยังมีหลายสิ่งที่ยังจับต้องได้ อย่าง อาคารสถาปัตยกรรมแบเดิม อาคารทรงไทย และสิ่งที่เป็นพยานหลงเหลือบอกถึงการเป็นทหารกล้าที่ร่วมรบกับไทย เป็นกองทัพอาสา ยังมีเหลือให้เห็นบ้าง

เสาตอม่ออนุสรณ์การต่อสู้กรณีทางด่วนบางโคล่-แจ้งวัฒนะ

ตำนานการต่อสู้ของชาวบ้านครัว

บ้านครัวนับเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งที่ยังคงวิถีชุมชนเดิม ส่วนหนึ่งเพราะจิตใจที่ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวผ่านเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกประกาศเวนคืนเพราะการตัดผ่านของทางด่วน

และเป็นชุมชนเดียวที่สามารถคัดค้านต้านทานจนสำเร็จ ด้วยพลังบนวิถีของมุสลิมที่ถือว่า ชุมชน มัสยิด สุสาน คือเรือนร่างเดียวกัน

ยูลัด ดำริห์เลิศ ทายาทของ เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ ซึ่งต่อสู้เรียกร้องกรณีทางด่วนซีดีโรด มานานถึง 2 ปี 8 เดือน กระทั่งได้รับชัยชนะ เล่าว่า การก่อสร้างทางด่วนครั้งนั้นเกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรีในยุคนั้นให้ก่อสร้างทางด่วน และมี พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินมารองรับ เป็นผลให้เกิดการเรียกร้องต่อสู้ของชุมชน เพราะชุมชนสืบรู้มาว่า ทางด่วนจะพาดผ่านชุมชน มัสยิด สุสาน เป็นผลให้ 1.เกิดการแยกชุมชนออกจากมัสยิด ซึ่งถ้ามีการก่อสร้างทางด่วนจะผ่ากลางสุสาน 2.มีความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้น เพราะเส้นทางตรงนี้ไปถึงถนนวิทยุ ถูกตัดออก 800 เมตร ไม่มีเรื่องการก่อสร้าง แต่ถ้าไปดูแผนที่จะเห็นว่าเส้นทางยังครอบคลุมอยู่ 3.ชาวบ้านครัวพิสูจน์ได้ว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา กระทำการผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพราะการก่อสร้างระดับเมกะโปรเจ็กต์จะต้องมีการทำอีเอชไอเอ แต่ไม่มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนจะมีการอนุมัติการก่อสร้าง

“ในช่วงการต่อสู้สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีการทำประชาวิจารณ์ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการทำประชาพิจารณ์หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 โดยมีการทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง ครั้งแรก ปี 2536 มีการไต่สวนอยู่ 6 ครั้ง คณะกรรมการชุดนั้นมีมติให้ยกเลิกเส้นทางสายนี้ เราดีใจกันพักหนึ่ง แต่หลังจากนั้นมีการไต่สวนขึ้นอีกในปี 2537 โดยตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา และครั้งนี้ก็มีมติยืนตามชุดเก่าคือให้ยกเลิก และให้เจรจากับบีอีซีแอล (บริษัททางด่วนกรุงเทพ)”

ปัจจุบันจึงยังคงหลงเหลือเสาต้นแรกไว้เป็นอนุสรณ์การต่อสู้ของชาวชุมชนบ้านครัว ขณะที่ใต้พื้นที่ทางด่วนซึ่งเดิมเป็นพื้นที่เวนคืน มีการปรับภูมิทัศน์ พร้อมกับทำเป็น “ลานกีฬา” เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนออกกำลังกายของชุมชน

เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ เล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งต่อสู้เรียกร้องกรณีทางด่วนนานถึง 2 ปี 8 เดือน
มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ (สุเหร่ากองอาสาจาม) มัสยิดหลังแรกของฝั่งพระนคร สร้าง พ.ศ.2328 โดยพระยาราชบังสัน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image