‘5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย’ รับมือก้าวต่อไปสู่เทคโนโลยียุคใหม่

“Internet of Things” หรือไอโอที เป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจขึ้นเรื่อยๆ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยทำให้สิ่งของต่างๆ เชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการควบคุมทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ การผ่าตัดระยะไกล จนถึงแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ

การเชื่อมต่อเหล่านี้ต้องการโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายที่รองรับข้อมูลปริมาณมากได้

นั่นคือการก้าวสู่ยุค 5จี ที่กำลังมาถึงประเทศไทยในเวลาอันใกล้นี้

และก่อนจะนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ จำเป็นต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจ “หนังสือพิมพ์มติชน” จึงได้จัดเสวนา “5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเชิญผู้รู้ทั้งภาครัฐและเอกชนมาบอกเรื่องราว

Advertisement

ก่อนเริ่มเนื้อหาเข้มข้น บริเวณหน้าห้องประชุม มีการนำเทคโนโลยี 5จี รูปแบบต่างๆ มาจัดแสดงให้ผู้ร่วมเสวนาได้ลองสัมผัสด้วยตนเอง

ผู้ร่วมงานลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ด

บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) นำ “เกมกีฬาอัจฉริยะ” มาให้ได้ลองเล่นในแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ที่รวบรวม วิเคราะห์ และแชร์ข้อมูล เช่น วิดีโอสตรีมมิ่ง และตำแหน่งของผู้เล่นในสนามกีฬา โดยมีการใช้กับทีมสโมสรฟุตบอลปารีส แซงต์-แชร์กแมง ในวิเคราะห์ข้อมูลนักกีฬาแล้ว และยังได้พัฒนาให้ใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย

ด้าน บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด เปิดบูธจัดแสดงเทคโนโลยี 5จี และการประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ อุปกรณ์ที่ทำให้มองเห็นเสมือนจริง (VR) และกล้อง 360 องศา, รถยนต์ไร้คนขับ, โดรน, ระบบการแพทย์, หุ่นยนต์ในระบบผลิตโรงงาน

Advertisement

ด้วยการเชื่อมต่อ 5จี ทำให้อุปกรณ์แต่ละชนิดแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน จนถึงการควบคุมระยะไกลที่ทำให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้ร่วมงานทดลองเล่นเกมกีฬาอัจฉริยะของอีริคสัน

 

ปี’63 มาแน่ แนะสังคมปรับตัว

สำหรับหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่กำกับดูแลอย่าง กสทช. เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้และกำลังเตรียมความพร้อมรองรับ 5จี ที่ใกล้จะเข้ามา

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. กล่าวว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีการเปลี่ยนเทคโนโลยีในไทยไม่หยุดยั้ง นับตั้งแต่เทคโนโลยี 2จี ไปสู่ 3จี และ 4จี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมไทยไปมาก มีการพัฒนาเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน

“ไม่กี่วันข้างหน้าจากนี้ไทยจะเข้าสู่เทคโนโลยี 5จี เชื่อว่าจะเปลี่ยนสภาพสังคมไปอีกขั้นหนึ่ง กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล จะดำเนินการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5จี เพราะทราบดีว่าหากคิดไม่ทัน ดำเนินการไม่ทัน ประเทศไทยมีความเสี่ยงว่าจะล้าหลังได้” พล.อ.สุกิจกล่าว

สำหรับคำถามสำคัญที่ว่า 5จี จะมาถึงไทยเมื่อไหร่นั้น ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. บอกชัดว่า ปลายปี 2563 นี้ 5จี จะเข้ามาสู่ไทยแน่นอน ในช่วง 2 ปีนี้จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อม

เลขาธิการ กสทช.บอกว่า ในยุค 5จี จะมี 4 สิ่งเข้ามา คือ 1.Internet of Things หรือไอโอที 2.ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI 3.เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality หรือ VR) 4.เทคโนโลยีความจริงแบบแต่งเติม (Augmented Reality: AR) โดยยกตัวอย่างว่าต่อไปจะทำให้สามารถลองใส่เสื้อผ้าผ่านการช้อปปิ้งออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปร้านค้า

โดยมองว่า การเข้ามาของ 5จี จะสร้างผลกระทบต่อ 10 ภาคธุรกิจและภาคสังคม

1.การเงินการธนาคาร คนใช้โมบายแบงกิ้งมากขึ้น มีการใช้เอไอวิเคราะห์สินเชื่อ ธนาคารต้องปรับตัว เพิ่มทักษะพนักงาน 2.อุตสากรรม การเปลี่ยนมาเป็นหุ่นยนต์ในการผลิตสินค้าในระบบอัตโนมัติมากขึ้น จำเป็นต้องลดแรงงานคนลง 3.การเกษตร สามารถเพิ่มมูลค่าการผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยใช้ไอโอทีวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก และต่อไปจะเป็นการเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งมากขึ้น 4.การขนส่ง 5จี จะทำให้การขนส่งน้อยลงเพราะการติดต่อสื่อสารคนที่มากขึ้น 5.การท่องเที่ยว

6.การแพทย์ เกิดการรักษาทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต-ใช้เอไอจ่ายยาแทนหมอ 7.การทำงานนอกที่ทำงาน ประสานงานผ่านอินเตอร์เน็ต โครงสร้างการทำงาน-สังคมต้องปรับตัว อาคารให้เช่าต้องระวัง 8.การค้าปลีก เมื่อทำเลทองอยู่บนโลกออนไลน์ 9.อุตสาหกรรมโทรทัศน์และสื่อ ทีวีดิจิทัลกระทบแน่นอน เมื่อคนไม่ดูทีวี แต่ดูผ่านมือถือ 10.ภาครัฐ ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยไม่อยากเห็นภาครัฐออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล แต่อยากให้สนับสนุนการปรับตัวของเอกชน

“คลื่นความถี่ที่เตรียมไว้รองรับการประมูล 5จี มีทั้ง 26000 MHz 1800 MHz โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) กำหนดคลื่นไว้ที่ 26000 MHz เพื่อรองรับ 5จี ซึ่งทำให้การใช้งานคลื่นความถี่มากขึ้น เพราะโลกทั้งหมดอยู่ในดาต้า และสามารถขยายได้ไม่มีที่สิ้นสุด” ฐากรกล่าว

และยืนยันว่า 5จี จะไม่ทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการแพงขึ้น แต่เมื่อมีการใช้งานมากขึ้น ก็ทำให้ต้องจ่ายเงินมากขึ้นตามปริมาณการใช้งาน

หลู ลี่หมิง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและธุรกิจ 5จี หัวเว่ย บรรยายเรื่อง “What 5G Will Bring To Thailand Future?”

‘หัวเว่ย’ เชื่อ 5จี ราบรื่น

อัน เจี้ยน ประธานบริหาร ฝ่ายขายและการตลาดโซลูชั่นไร้สาย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด เชื่อว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคม 5จี ได้อย่างราบรื่น และนำไปใช้พัฒนาเพื่อเป็นประโยชน์กับสังคม และการให้บริการเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

“เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา หัวเว่ยสร้างเทคโนโลยี 4จี และเริ่มลงทุนใน 5จี จากนั้นได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาทำให้มีนวัตกรรมเทคโนโลยีที่สูงขึ้น และจะพัฒนาให้ครอบคลุมทุกด้าน อยากย้ำว่า 5จี จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ทั้งการใช้ในด้านอุตสาหกรรมและด้านธุรกิจ ที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคม” อัน เจี้ยนกล่าว

‘อีริคสัน’ พร้อมหนุน
เชื่อเปลี่ยนผ่านใน 5 ปี

ด้าน นาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า กว่า 140 ปีที่ผ่านมา ที่อีริคสันอยู่ในแนวหน้าของโลกและเป็นผู้นำเทคโนโลยี จนมีสิทธิบัตรมากมายในวงการสื่อสารทั่วโลก โดยเฉพาะสิทธิบัตรบลูทูธ การเข้ามาของ 5จี จะทำให้การสื่อสาร-การทำธุรกิจดีขึ้น

“ปีนี้เป็นปีที่ 112 ที่อีริคสันเข้ามาทำธุรกิจในไทย เราต้องการที่จะดูแลลูกค้าในไทยและสร้างประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น ปลายปีที่ผ่านมาได้เริ่มเข้าไปทดสอบ 5จี กับ กสทช. ซึ่งมีความเร็วมาก เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากที่จะนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้ เพราะจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยมีกว่า 65 ล้านเลขหมาย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านเลขหมายเร็วๆ นี้”

นาดีนคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือในปี 2023 จะมีการเปลี่ยนไปใช้ 4จี และ 5จี ทั้งหมด โดยประมาณการว่า ผู้ประกอบการจะเพิ่มกำไร 22% หรือกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ประเทศไทยมีศักยภาพนำดิจิทัลมาใช้เพื่อความก้าวหน้า ซึ่งภาครัฐไทยต้องรับคว้าโอกาส 5จี เป็นไปได้จริง อีริคสันเองก็มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนไทยเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นประเทศดิจิทัลสมบูรณ์แบบและทุกคนได้ประโยชน์” นาดีนกล่าว

วุฒิชัย วุฒิอุดมเลิศ หัวหน้าฝ่ายเน็ตเวิร์ก โซลูชั่น อีริคสัน บรรยายเรื่อง “5G Move The World Forward”

มาเร็วกว่าที่คิด ในอีก 1 ปี

อีกความเห็นที่น่าสนใจจาก “ควอลคอมม์” บริษัทธุรกิจด้านเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์สำหรับโทรคมนาคมและการสื่อสาร

อเล็กซ์ ออเร้นจ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการรัฐบาล ไต้หวัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก บริษัท ควอลคอมม์อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ กล่าวว่า บริษัทดำเนินงานมา 30 ปี ในการสร้างสิ่งใหม่ทั้ง 3จี 4จี และ 5จี โดยเป็นระบบนิเวศหนึ่งในการแบ่งปันให้ความเชี่ยวชาญ ทำเทคโนโลยีสร้างการเปลี่ยนแปลงของโลก

“5จี เริ่มพัฒนามาประมาณ 18 เดือนแล้ว และเดือนธันวาคมปี 2560 ได้กำหนดมาตรฐาน 5จี ออกมาแล้ว และจะสำเร็จทั้งระบบกลางปีนี้ ทำให้สามารถใช้งานได้จริงทั้งระบบในปี 2563-2564 ตอนนี้อุตสาหกรรมต่างๆ กำลังพัฒนาเพื่อรองรับ และอีริคสัน โนเกีย มีการส่งสัญญาณ 5จี ออกไปแล้ว อนาคตจะมีการนำสินค้าต่างๆ ออกไปมากมาย

“ระบบ 5จี จะช่วยเรื่องความปลอดภัยของชีวิต เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วย และภายใน 1 ปีข้างหน้าจะมีมาตรฐานเครื่องมือเครื่องใช้ของ 5จี ออกมา ทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้า และเร็วๆ นี้จะมีเครือข่ายรองรับ ซึ่งผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ จะเริ่มขายปี 2562 โดย 5จี ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่อิงอยู่บนฐานของ 4จี

“เชื่อว่า 5จี จะมาเร็วกว่าที่เราคิดภายใน 1 ปีหลังจากนี้ เพราะฉะนั้นจะต้องรักษาแรงผลักดันของเทคโนโลยี 4จี เพื่อเป็นพื้นฐานในการรองรับและพัฒนา โดยประเทศไทยจะต้องวางแผนให้ชัดเจน” อเล็กซ์กล่าว

เชื่อว่านับจากนี้ทุกภาคส่วนต้องเตรียมตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและสังคมที่จะได้รับผลกระทบในความเปลี่ยนแปลงนี้

เริ่มนับถอยหลังสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยี

โจว ตงเฟย หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี 5จี หัวเว่ย บรรยายเรื่อง “5G Global Development Trend”
หัวเว่ยจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยี 5จี และการประยุกต์กับอุปกรณ์ต่างๆ
ฐากูร บุนปาน, ฐากร ตัณฑสิทธิ์, อัน เจี้ยน, พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร, นาดีน อัลเลน, อเล็กซ์ ออเร้นจ์ และวรศักดิ์ ประยูรศุข
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image