‘หนังสือ สตรีทอาร์ต ความบันดาลใจ’ 1 ชั่วโมง 28 นาที กับ ‘อเล็ก เฟส’ ผู้หลงใหลใน ‘โมเนต์’ และ’รงค์ วงษ์สวรรค์

ท่ามกลางสภาพอากาศที่เป็นไปตามพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งออกแถลงการณ์ว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ “มติชน” มีนัดกับศิลปินหนุ่มผู้คุ้นเคยกับสัมผัสของแสงอาทิตย์เจิดจ้า เพราะเขาคือศิลปิน “สตรีทอาร์ต” แถวหน้าของไทย ทั้งยังอนาคตไกลโดยปักป้ายโกอินเตอร์มาพักใหญ่

ลายเซ็นเด่นชัดด้วยภาพเด็กหญิง 3 ตาสวมชุดกระต่ายที่เห็นแล้วรู้ทันทีว่านี่คือผลงานของ “อเล็ก เฟส” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “น้องมาร์ดี” ลูกสาวของตัวเอง

สารภาพว่าเคยพ่นกำแพงด้วยความ “มือบอน” ก่อนเติบโตทางความคิด ใส่เรื่องราว มีคอนเซ็ปต์ กลายเป็นงานศิลปะที่ผู้คนยอมรับ

เป็นไอดอลของศิลปินรุ่นใหม่ที่อยากเช็กอินบนถนนสาย “กราฟฟิตี้”

Advertisement

“เราทำเพราะมีอะไรที่อยู่ข้างในอยากสื่อสาร ต้องมีจุดยืนและอุดมการณ์ของตัวเอง ไม่ใช่เห็นว่าเท่ หรือคูล ลองไปตากแดดพ่นกำแพงวันเดียว เดี๋ยวรู้เลย (ยิ้ม)”

ในวัย 36 ปีนี่คือข้อความถึงวัยรุ่นที่กำลังครุ่นคิดว่าจะหยิบกระป๋องสีออกไปพ่นกำแพงเพื่อกดปุ่มสตาร์ตเป็นมือกราฟฟิตี้จะดีไหม?

Advertisement

ด้วยบุคลิกสบายๆ ยิ้มง่าย ปล่อยหมัดฮุกด้วยมุขฮา ทว่าลึกซึ้ง คมคาย ทำให้ 1 ชั่วโมง 28 นาที ของการพูดคุยเต็มไปด้วยเรื่องราว สีสัน และคำบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจที่เจ้าตัวบอกว่าได้มาจากแหล่งที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “หนังสือ” ซึ่งตอนนี้ “อิน” เอามากๆ กับความสวิงสวายในภาษาของ ‘รงษ์ วงษ์สวรรค์

ออกตัวไม่กล้าใช้คำว่า “นักอ่าน” แต่ต้องพกหนังสือติดตัวตลอด

“ผมยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นนักอ่าน เพราะเปอร์เซ็นต์วันนึงในการอ่านน้อยกว่าวาดรูป แต่ต้องมีหนังสือติดตัวเวลาเดินทางไปไหนมาไหน อย่างจังหวะขึ้นเครื่องบิน”

และนี่คือศิลปินรับเชิญคนล่าสุดที่จะครีเอตงานศิลปะให้บูธ “สำนักพิมพ์มติชน” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-8 เมษายน ที่จะถึงนี้

เด็กหญิงสวมชุดกระต่าย สามตา ตัวละครที่เป็น ‘ภาพจำ’ ของผู้คนที่มีต่อ ‘อเล็ก เฟส’ 

กราฟฟิตี้ พื้นที่และเวลา

ก่อนอื่นไม่ถามไม่ได้ ว่ารู้สึกอย่างไรที่สังคมไทยรู้จักและยอมรับงานกราฟฟิตี้มากขึ้นเรื่อยๆ อเล็กบอกว่า กราฟฟิตี้คือสตรีทอาร์ต ซึ่งต้องเป็นการเรียกร้องอะไรบางอย่าง เพราะพื้นฐานมาจากการขบถ โดยขณะนี้ไม่ใช่แค่เมืองไทยที่คนหันมาสนใจแต่เกือบทั่วโลกก็ยอมรับ ทว่า ต้องทำให้ “ถูกที่ถูกเวลา”

“ผมทำมา 15 ปี เมื่อ 10 กว่าปีก่อนกับตอนนี้ต่างกัน แต่ต้องทำให้ถูกที่ถูกเวลา เช่น เลือกพ่นกำแพงร้างซึ่งจะเปลี่ยนจุดอับให้เป็นจุดที่มีสีสันขึ้นมา สิ่งที่เราทำเป็นมูลค่าของเมืองได้ เมื่อก่อนพ่นแล้วคนด่า เดี๋ยวนี้คนซื้อข้าวซื้อน้ำมาให้ อีกอย่างมองว่า 15 ปี เจเนอเรชั่นมันเปลี่ยนไป กลายเป็นงานที่ร่วมสมัยขึ้น มีการจัดเฟสติวัล ใช้ตกแต่งโรงแรม เพราะคนโตขึ้นมาพร้อมงานประเภทนี้ ฝีมือก็ดีขึ้นด้วย จากที่พ่นกันแบบกะโหลกกะลา พ่นเอามัน พอโตเป็นผู้ใหญ่ มีวิธีคิด ใส่เรื่องราวเข้าไปในงาน เทคนิควิธีการก็พยายามทำให้ดี ทุกอย่างเลยดูสมบูรณ์ไปโดยปริยาย ส่วนตัวมองว่าเรื่องราวต้องมาก่อน แล้วเทคนิคจะตามมา”

เปลี่ยนจุดอับ ให้มีสีสัน

เด็กหญิงยกธงขาว เมื่อ ‘เรื่องราว’ บันดาลใจ

จากประโยคทิ้งท้ายถึงเรื่องราวที่เป็นตัวนำ แล้วจึงตามด้วยเทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินหนุ่มได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจมากมายที่ได้จากเรื่องราวในหนังสือที่เคยอ่าน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

“ถ้าอ่านอะไรที่มันมากระทบอารมณ์ อย่างประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 พออ่านฝั่งอเมริกันเสร็จ ก็มาอ่านฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งก็รันทดไปคนละมุม แล้วก็มาอ่านอีกเรื่องนึง เป็นเรื่องผู้หญิงยกธงขาวที่เมืองฮิโรชิมา ผมก็เอามาวาดรูปเด็กถือธงขาว คิดว่าธงขาวถ้าเราชูขึ้นมาแล้วจะปลอดภัยจริงหรือ? สำหรับทหาร อย่างน้อยรู้ว่าตัวเองจะบุกไปทางนี้ ยิงทางนี้ แต่พลเรือนไม่มีทิศทาง เขาไม่รู้จะเดินไปทางไหน

ก่อนหน้านี้ผมต้องไปทำงานที่พนมเปญ เลยไปหาหนังสืออ่าน เจอเรื่อง Fisrt They Killed My Father เกี่ยวกับเขมรแดง รายละเอียดที่เขาเล่าทำให้ผมกินข้าวไม่เหลือแม้แต่เม็ดเดียว เขาอธิบายว่า เคี้ยวข้าวทีละเม็ด อย่างช้าๆ เป็นข้าวต้มที่มีข้าวแค่ 8 เม็ด เรามีข้าวกินแบบนี้แล้วจะมากินทิ้งกินขว้างได้ยังไง ผมเอาให้ลูกอ่านด้วย จริงๆ ก็รู้นะว่ามันดาร์ก (หัวเราะ)”

น้องมาร์ดี ลูกสาวผู้เป็นแรงบันดาลใจในคาแรคเตอร์เด็กหญิงสามตา หน้าบึ้ง สวมชุดกระต่าย ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

พูดถึงลูกสาววัย 8 ขวบ คุณพ่อเล่าเพิ่มเติมว่าชอบอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ส่วนภรรยานั้นอ่านหนังสือทุกประเภทที่มีสาระ เช่น ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ ของ มาร์ก เคอร์ลันสกี โดยสำนักพิมพ์มติชน สำหรับตัวเองกำลังตามอ่านงานของปรมาจารย์อย่าง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

“ตอนนี้อยากสร้างบ้าน ก็เลยอ่านเรื่อง พูดกับบ้าน ของลุงรงค์ อินมาก ใครจะเขียนภาษาได้เหมือนแก ชอบภาษาเปรียบเปรย กวนๆ ทั้งที่เขียนนานแล้ว แต่อ่านสมัยนี้ภาษาก็ยังได้อยู่นะ ผมรู้สึกว่าอยากเกิดยุคนั้น มันคลาสสิก เป็นรุ่นที่ยังไม่มีดิจิทัล”

จากสตรีทอาร์ต สู่บูธ ‘มติชน’

มาถึงงานออกแบบบูธสำนักพิมพ์มติชนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ อเล็กบอกว่า เมื่อได้รับการติดต่อ ก็ไม่ลังเลที่จะร่วมงาน โดยนึกถึงประเด็นการอ่าน และโจทย์เรื่องพื้นที่

“โปรเจ็กต์นี้ผมสามารถพูดถึงหนังสือ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะการอ่านช่วยพัฒนาคน ครอบครัวผมก็ชอบอ่านหนังสือ โปรเจ็กต์แบบนี้มันก็น่าจะกระตุ้นให้คนอ่านหนังสือ หาความรู้จากโลกของหนังสือ สำหรับงานที่ออกมาก็สื่อสารแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา เป็นตัวละครเดิมคือเด็กสามตานอนอ่านหนังสือ ในหนังสือมีลูกกะตาหลายๆ อัน สื่อถึงการเปิดจินตนาการในการมอง เพราะการอ่านทำให้เราเห็นอะไรเยอะขึ้น ถามว่าทำไมต้องเป็นตัวนอน ก็เป็นเรื่องขององค์ประกอบ ถ้าไม่ทำตัวนอนแล้วไปจัดวาง พื้นที่จะเหลือเยอะ”

ผลงานที่ออกแบบให้บูธ “สำนักพิมพ์มติชน” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 รูปหนังสือมีดวงตามากมายสื่อถึงการเปิดจินตนาการในการมองเห็น เพราะ ‘การอ่าน’ ทำให้เห็นสิ่งต่างๆมากขึ้น

แล้วงานออกแบบในลักษณะนี้มีขั้นตอนแตกต่างจากงานกราฟฟิตี้ตามกำแพงหรือผนังแบบกลางแจ้งอย่างไร ต้องปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีการหรือไม่?

“แตกต่างนะ เวลาไปพ่นตามกำแพงสาธารณะจะมีสภาพแวดล้อม เช่น สายไฟ ต้นไม้ ถังขยะ หรือแม้แต่รอยกำแพงที่แตก ซึ่งบางครั้งเราก็เอาพวกนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของงานไปด้วย หรือเล่นกับความเป็นบริบทของชุมชนนั้นๆ ส่วนบูธงานสัปดาห์หนังสือ มีไอเดียที่เรามาคุยกัน โดยทางมติชนบอกว่าอยากได้อะไรบ้าง เช่น แบ๊กดร็อป จุดแลนด์มาร์ก ของพรีเมียม อะไรอย่างนี้ ผมก็เอามาคิดต่อ เรื่องที่เราจะพูด คืออยากให้คนมางานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และพื้นที่ในบูธเป็นยังไง เช่น พื้นที่กว้าง 7 เมตร ยาว 27 เมตร ผมก็ต้องคิดว่าจะทำอะไรไปวางตรงบูธ ต้องมีดีไซน์อะไรบ้าง ของพรีเมียมที่เอาไปขายคืออะไร โดยใช้ตัวละครตัวเดิมนี่แหละเล่าเรื่อง”

เมื่อถามถึงความเชื่อมโยงกับความเป็น “มติชน” อเล็กบอกว่า ได้ออกแบบโลโก้มติชนขึ้นมาเป็นพิเศษด้วยตัวหนังสือสไตล์อเล็ก เฟส ที่ให้อารมณ์กราฟฟิตี้หน่อยๆ แล้วเอาคาแร็กเตอร์กระต่ายและขนนุ่มๆ เข้าไปอยู่ในโลโก้ด้วย

“ขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่เริ่มคิดไอเดีย จนถึงทำผลงานก็ประมาณอาทิตย์นึง ที่เร็วคงเพราะเทคนิคพ่นสีสเปรย์ ถ้าชำนาญแล้วจบงานได้เร็ว ส่วนของพรีเมียม ยังดูอยู่ อาจมีเสื้อยืด กระเป๋า อะไรแบบนี้”

จากเรื่องงานย้อนมาคุยเรื่องลูกสาวบ้าง ถามตรงๆ ว่า ถ้าน้องมาร์ดีโตขึ้นจะคิดคาแร็กเตอร์เพิ่มไหม จะมีเด็กสาววัยรุ่นในชุดกระต่ายหรืออะไรอย่างอื่นหรือไม่?

“ก็บอกตรงๆ ว่ายังไม่รู้ (ยิ้ม) อาจมีคาแร็กเตอร์ใหม่ หรืออาจจะไม่มี หรืออาจจะเปลี่ยนงานเป็นแบบอื่นไปเลยก็ได้ มันเป็นเรื่องในอนาคต เลยยากที่จะตอบ ชีวิตเราอาจจะมีจุดหักเห พลิกผัน งานศิลปะเหมือนทำตามวิถีชีวิตเรา ถ้าผมไม่มีลูก ก็คงไม่มีเด็กสามตาคนนี้ขึ้นมา เมื่อก่อนผมก็ทำอย่างอื่น ไม่ได้ทำรูปเด็กมาแต่ไหนแต่ไร อยู่ๆ ชีวิตมันเปลี่ยน มีแรงบันดาลใจใหม่ มีข้อมูล วัตถุดิบใหม่ งานก็เป็นไปตามนั้น”

ศิลปิน ศิลปะ ในความ’อีเหละเขละขละ’ สุด ‘สตรอง’ !

ปิดท้ายด้วยคำถามเชิงนามธรรม ว่าตามอุดมคติ วาดหวังอยากเห็นอะไรในวงการสตรีทอาร์ต?

“คนทำงานไม่ว่าอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นกราฟฟิตี้ สตรีทอาร์ต อย่างน้อยต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ เพราะงานพวกนี้ไปสู่สาธารณะ เป็นการสื่อสาร เป็นเครื่องมือสากล ถ้าใช้ดีๆ ก็แข็งแรง บางครั้งศิลปะสตรองกว่าที่คิด ไม่งั้นทำไมบ็อบ มาร์เลย์ แต่งเพลงแล้วถูกลอบยิง เพราะศิลปะอาจจุดกระแสอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ ไม่งั้นคนพ่นนาฬิกาบิ๊กป้อม ก็คงไม่เดือดร้อนขนาดนั้น”

ผลงานที่สร้างสรรค์ในชุมชนต่างๆ คำนึงถึง ‘บริบทสังคม’ และสิ่งที่น่าสนใจในท้องถิ่นนั้นๆ

อเล็ก ยังชวนคุยถึงภาพลักษณ์ของศิลปินที่เขาออกปากเองว่า “ดูอีเหละเขละขละ” แต่จริงๆ แล้วต้องทำงานมากมาย แถมต้องมีระเบียบวินัยเพราะไม่มีใครมาบังคับ

“ดูศิลปินอีเหละเขละขละ จริงๆ ตื่นมาต้องทำงานเยอะมาก ต้อง alert ตลอดเวลา หาไฟให้ตัวเอง กลับมาอ่านหนังสือซึ่งช่วยได้เยอะ หรืออยู่กับคนเก่งๆ ผมเคยเจอศิลปินกราฟฟิตี้ดังๆ เขาไม่นอน กลางคืนออกไปพ่น ตื่นเช้าก็ไปพ่น เราเห็นแล้วได้พลังจากคนแบบนี้ ถ้ามาโอ้เอ้ ขี้เกียจ เซื่องซึม ก็ไม่ทันเขา แต่ไม่ใช่ขยันอย่างเดียว ต้องโฟกัสประเด็น รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีการวางแผนชีวิต ว่าตอนนี้อายุเท่าไหร่แล้ว ถ้าอยากประสบความสำเร็จก็ต้องแลกกับการทำงานหนัก มีวินัย ผมเคยคุยกับรุ่นน้องบางคนบอก พี่ๆ ผมอยากเป็นศิลปิน แต่จะลองสัก 2 ปี ถ้าไม่เวิร์ก ค่อยว่ากัน ผมว่าถ้างั้นไปทำอย่างอื่นเลยเหอะ เพราะมันไม่มีทางลัด” ศิลปินดังพรั่งพรู จิบน้ำในแก้ว แล้วตบท้ายว่า

บางครั้งการทำงานต้องแลกมาทั้งชีวิต

 


 

Alex Face

อเล็ก เฟส หรือ พัชรพล แตงรื่น เป็นชาวอำเภอบางปะกง ฉะเชิงเทรา ศิษย์เก่าภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตั้งชื่ออเล็กตามฉายาสมัยเรียน แล้วเติมคำว่าเฟส ที่แปลว่าใบหน้า เพราะเคยฮิตพ่นหน้าตัวเองบนกำแพงมาก่อน

เคยทำงานโฆษณาและรับงานศิลปะหลากหลาย กระทั่งมุ่งมั่นกับศิลปะบนท้องถนน หรือสตรีทอาร์ตจนประสบความสำเร็จ มีผลงานเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ

จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตคือลูกสาว แรงบันดาลใจในตัวละครเด็กสามตาหน้าบึ้ง ซึ่งมีตาสีแดงและน้ำเงินอันเกิดจากความบังเอิญเมื่อสีหมด จึงคิดถึงตัวเองว่าบางทีก็มี 2 บุคลิก บางครั้งเป็นคนดี บางครั้งก็ปากเสีย เลยพ่นตา 2 สีแล้วนำคาแร็กเตอร์นี้มาใช้ต่อ ส่วนตาที่ 3 เดิมพ่นเป็นรูปสัตว์ แต่บางครั้งมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เลยพ่นรูปดวงตา ซึ่งเชื่อมโยงความเชื่อในวัฒนธรรมตะวันออก ประกอบกับความวุ่นวายใน กทม.เลยคิดว่าเด็กควรมีตาอีก 1 ดวง เพื่อระวังภัย

สำหรับใบหน้าบูดบึ้ง ก็ได้แบบมาจากลูกสาวตอนทำหน้ากังวล สงสัยเหมือนกำลังคิดอะไรบางอย่าง

ภาพเด็กสามตาใน ‘สระบัว’ แรงบันดาลใจจาก ‘โมเน่ต์’ ในนิทรรศการ ‘ALIVE’ เมื่อปี 2560 ที่ Bangkok City Gallery (ภาพจาก fb : ALEX FACE)

ไอดอลด้านศิลปะคือศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ระดับโลกนาม “โมเนต์” (Claude Monet) ที่เจ้าตัวตามไปบุกบ้านที่ฝรั่งเศสมาแล้วโดยงานของอเล็กก็มีกลิ่นอายศิลปะแนวดังกล่าวอย่างเด่นชัด

“ศิลปินที่ยิ่งใหญ่มีมาในโลกไม่รู้นานเท่าไหร่แล้ว เราเทียบไม่ได้แม้แต่เศษเสี้ยวของเขา ขนาดตายไปแล้ว เรายังต้องไปต่อแถวยืนซาบซึ้งงานเขา ศิลปินที่โลกจารึกทุกคนล้วนทำงานหนัก เมื่อเลือกเป็นคนทำงานศิลปะแล้ว ก็ต้องเอามาเป็นต้นแบบ ทำงานไม่หยุด จริงจัง ทุ่มเท ศิลปินทุกคนให้พลังแก่กันได้ในผลงาน หวังว่างานของเราจะให้พลังกับคนรุ่นถัดไปที่เขาเห็นแล้วคิดว่าอยากทำแบบนี้บ้าง แล้วเขาทำได้ดีกว่าเรา ยิ่งใหญ่กว่าเรา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image