เมื่อ ‘บุพเพฯ’ อาละวาด สะเทือนการเมือง สังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่ไม่มีในแบบเรียน

ออเจ้าเข้าทำเนียบพบนายกฯ 'บิ๊กตู่' ผู้หนุนข้าราชการแต่งไทย ใช้ประวัติศาสตร์ส่งเสริมความรักชาติ

ไม่ต้องเกริ่นให้มากความสำหรับปรากฏการณ์อันสืบเนื่องจากละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่ทำเอาสั่นสะเทือนแทบทุกวงการ ตั้งแต่ภาพใหญ่อย่างรัฐบาลที่โยงประเด็น “ไทยนิยม” ชวนท่องจินดามณี ร่อนจดหมายรณรงค์สถาบันการศึกษา “แต่งไทย” เกาะกระแสออเจ้าที่แห่เข้าเยี่ยมชมโบราณสถานในอยุธยาและลพบุรีระดับมหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไล่มาแม้กระทั่งระดับจุลภาคอย่างร้านเช่าชุดไทยที่พลอยได้อานิสงส์

แวดวงการศึกษาเสวนาประวัติศาสตร์ยุคพระนารายณ์อย่างคึกคัก

ฐานข้อมูลจารึกและเอกสารโบราณของหน่วยงานต่างๆ ที่ร้อยวันพันปีแทบไม่มีใครเข้าใช้งาน กลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ล้ำค่าที่คนไทยคลิกอ่านอย่างกระหายใคร่รู้

หนังสือประเภท “ขายไม่ออก” ครั้งเก่าก่อน กลายเป็นไอเท็มฮิตติดอันดับท็อปในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

Advertisement

กระทรวงวัฒนธรรมรับลูกด้วยการออกปากยินดีหนุนงบประมาณสร้างภาค 2

กระทั่งนักวิชาการ “บิ๊กเนม” อย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนบทความ “ออเจ้าเล่าจำอวด” ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในเพลานี้ ทั้งเห็นด้วยและคัดค้านจนโซเชียลแทบลุกเป็นไฟ

ยังไม่รวมเสียงกระซิบกระเส็นกระสายที่ตั้งข้อสงสัยโดยเทียบเคียงกับซีรีส์ “ศรีอโยธยา” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าถูกวิจารณ์ในแง่ลบถึงขนาดจับผิดแบบรายวัน

Advertisement

ทั้งหมดทั้งมวลของปรากฏการณ์เหล่านี้มีแง่มุมชวนให้คิดต่อมากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่หรือไม่ นอกเหนือจากการโหยหาอดีตและแต่งชุดไทย เราจะเอาอย่างไรกันดี

นี่จะเป็นเพียงกระแสที่ผ่านมาแล้วผ่านไป หรือจะใช้จังหวะในการ “โหน” ให้เกิดประโยชน์ระยะยาวโดยปรับเปลี่ยนวิธีคิดบางอย่างในระบบการศึกษาไทยกันเสียที

จินดามณีของจริง อ่านไม่ง่าย เพราะไม่ใช่แบบเรียนทั่วไป แต่คล้ายคู่มือการเขียนและแต่งโคลงฉันท์และกาพย์ เป็นต้น

‘การเมือง’ เรื่องบุพเพฯ และเกศสุรางค์ผู้ตั้งคำถามต่ออดีต

เริ่มต้นที่ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ที่วิเคราะห์ละครเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า ละครย้อนยุคที่ผ่านมามักมองว่าอดีตเป็นยุคทอง ตัวละครที่หลุดเข้าไปในอดีตจะเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนวิถีของตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของอดีต แต่เกศสุรางค์ไม่ใช่อย่างนั้น มิหนำซ้ำยัง “ตั้งคำถาม” ต่ออดีตเสมอ ไม่เห็นด้วยกับวิถีที่อดีตเป็น พยายามแสดงตัวของตัวเองให้เห็นซึ่งคุณค่าของความเป็นปัจจุบัน

“นี่ทำให้เห็นว่า ในเรื่องของคุณค่านั้น เราไม่อาจตัดสินได้ว่าของเก่าดีหรือของใหม่ดี แต่ขึ้นอยู่กับบริบท เช่น เกศสุรางค์อยู่ในบริบทปัจจุบัน เพราะฉะนั้น การชวนผู้ชายไปเที่ยวก่อนไม่ได้เสียหาย แต่พอใส่เข้าไปในอีกบริบท ก็มีปัญหาในสายตาของคนยุคนั้น”

ที่แยบยลและชวนขบคิดยิ่งกว่านั้น อาจารย์ยังบอกว่า ละครเรื่องนี้ยังส่งสารบางอย่างเกี่ยวกับ “การเมือง” เช่น ปัญหาความเท่าเทียม อย่างชายและหญิงควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่เท่าเทียมกันหรือไม่ รวมถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น ทำไมคนเป็นทาสถึงไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เหมือนคนมีฐานะ หรือคำสรรพนามในสมัยอยุธยา ซึ่งคนที่อยู่ในฐานะต่ำกว่าต้องถูกกดให้อยู่ในสภาพนั้น ในขณะที่เกศสุรางค์ในร่างการะเกดเรียกคนรับใช้ว่า “พี่ผิน พี่แย้ม”

ไขเหตุเทียบ ‘ศรีอโยธยา’ ชี้ ‘ไม่สนุก’ คือล้มเหลว

สำหรับความโด่งดังยิ่งกว่าพลุ พะเนียง และดอกไม้ไฟทั้งกรุงศรีอยุธยามาจุดพร้อมกัน จนนำไปสู่การ “โกอินเตอร์” นั้น อาจารย์บอก กรณีนี้ไม่เหมือนซีรีส์เกาหลี เพราะเราไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้วางแผน ดังนั้น สิ่งที่ตามมาคือการ “โหนกระแส” ให้อยู่นานที่สุด อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่จำเป็นต้องสร้าง “บุพเพฯ 2” แต่ขอให้มีคุณค่า ความสำคัญ

มีอะไรที่คล้ายจะส่งพลังและอิทธิพลที่ไม่น้อยไปกว่าละครเรื่องดังกล่าว

อีกประเด็นที่สังคมจับเข่าคุยผ่านโลกออนไลน์อย่างเซ็งแซ่ คือการนำไปเทียบกับซีรีส์ที่คาดว่าจะดัง อย่าง ศรีอโยธยา แต่กลับเป็นทางตรงกันข้าม

“ไม่สนุก เป็นอันดับต้น ถ้าไม่สนุก คือล้มเหลว พอสนุกปั๊บ ก็จูงใจให้คนติดตาม พอไม่สนุกก็เกิดปัญหา ส่วนทำไมไม่สนุกก็ต้องอธิบายยาว แต่สรุปคือไม่สนุก ตัวละครหลายตัวในศรีอโยธยา คนไทยไม่รู้จัก มันมีช่องว่างอยู่ และเรื่องก็ไม่ได้ช่วยกระชับคนดูกับตัวละครเข้าหากัน ทำให้คนดูกับตัวละครห่างเหิน ไม่ผูกพัน แต่ในบุพเพฯ เป็นตัวที่เราคุ้นชินอยู่ เพียงแต่ไม่เคยสร้างให้เป็นตัวละคร เช่น โกษาปาน และเจ้าพระยาวิชเยนทร์” ศ.ดร.สุเนตรวิเคราะห์

ย่านโบราณในอยุธยาควรได้รับการดูแลต่อยอดจากกระแสบุพเพฯ

แต่งไทยแล้วไงต่อ? แนะดึงประวัติศาสตร์สร้าง ‘นวัตกรรม’

มาถึงกระแสแต่งชุดไทยแชะภาพและเยี่ยมเยือนโบราณสถาน ถามว่า ควรนำไปสู่สิ่งอื่นๆ ที่ไกลกว่านี้หรือไม่ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า พอมีการจุดประกายให้คน “อิน” กับประวัติศาสตร์ ภาครัฐ เอกชน สื่อสารมวลชน บริษัทการค้า ธุรกิจ สามารถ “เล่นต่อ” ได้ โดยควรดึงมาขยายความเรื่องที่เป็นปัจจุบัน ในแง่มุมของปัญหาที่ส่งผลถึงอนาคต อาจเป็นนโยบาย, แผนงาน CSR หรืออื่นๆ

“สิ่งที่จะทำต่อไปควรมีมิติของอนาคต เช่น รักษาสภาพแวดล้อม นิเวศวิทยา แม่น้ำลำคลอง แล้วแต่ใครถนัดเรื่องอะไรก็เอามาต่อกับกระแสรักชาติได้ ไม่ต้องแต่งชุดไทยอย่างเดียว วันไหนอยากแต่งก็แต่ง การออกจดหมายขอความร่วมมือสถานศึกษาและหน่วยงานราชการแต่งชุดไทย ถ้ารัฐเชื่อว่าต่อไปคุณต้องแต่งแบบการะเกดทุกคนจะได้ดูดี อันนี้ไม่ไหว เรารู้ว่าทำแบบนี้ สังคมไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน สิ่งที่คนอยากเห็นคือปัจจุบันกับอนาคต ประวัติศาสตร์ คือเครื่องมือ ช่วยกระตุ้นนิดเดียวก็ไปได้ แต่จะไปยังไงแค่นั้นเอง จะไปแบบจูงจมูกกันไป หรือคลานกันไป หรือเปิดโอกาสให้คนคิดอย่างก้าวหน้า ควรใช้ศักยภาพให้เต็มที่ และเลิกเซ็นเซอร์เสียที ต้องสร้างนวัตกรรม”

เปิดปมไทยนิยม สู่วิวาทะ ‘ออเจ้าเล่าจำอวด’

สำหรับปมวิวาทะอันร้อนแรงหลังบทความ “ออเจ้าเล่าจำอวด” ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ รวมถึงการวิจารณ์ถึงข้อความในเฟซบุ๊ก “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ที่มีต่อแนวทางภาครัฐที่รณรงค์แต่งไทย โดยส่วนหนึ่งมองว่าไปก่นด่าละครบุพเพสันนิวาส

ถามว่า สังคมกำลังหลงทางหรือไม่?

ศ.ดร.ธเนศบอกว่า ควรเลิกทะเลาะกันว่าอีกฝ่ายพูดไม่ตรงกับที่เข้าใจ ให้ถือว่าเป็นการมองคนละมุมจะดีกว่า

“อย่าไปโทษสังคม เอาแค่ว่าต่างคนต่างมอง แต่ละกลุ่มมองไปคนละอย่าง เป้าหมายของ อ.นิธิ คือให้ข้อคิด วิพากษ์ เปรียบเทียบให้เห็นความหมายเรื่องไทยนิยมที่เกิดมานานแล้วตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนโยบายรัฐที่จะรักษาหน้าตาและมาตรฐานให้ทัดเทียมประเทศอื่น แต่ปัจจุบันเราไม่ต้องใช้นโยบายแบบนั้นแล้ว คนที่วิจารณ์เขาอยากมองอะไรที่มีความหมายกว่านี้” ศ.ดร.ธเนศกล่าว ก่อนกล่าวถึงหนึ่งในคุณูปการของละครเรื่องนี้ว่า “ประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ยากนะ ต้องเรียนปริญญาโทถึงจะรู้เรื่อง แต่นี่ชาวบ้านรู้แล้ว ฟอลคอนคือใคร ฝอยทองมาจากไหน (หัวเราะ)”

ประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยกรมศิลปากร ซึ่งเคยถูกวิจารณ์อย่างมาก

‘กิน ขี้ ปี้ นอน’ ประวัติศาสตร์ในบุพเพฯ ที่ “โดนเท” ในแบบเรียน

มาถึงประเด็นแบบเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่เคยถูกวิพากษ์จากนักวิชาการกลุ่มหนึ่งตลอดมาว่ามีแต่เรื่องราวของสงคราม มิหนำซ้ำยังสร้างความแตกแยกกับเพื่อนบ้าน ทว่าประวัติศาสตร์ในแบบฉบับบุพเพสันนิวาสมากมายไปด้วย “ความเป็นมนุษย์” หรือ “กิน ขี้ ปี้ นอน” ตามวลีของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังที่พยายามกระทุ้งแง่มุมเหล่านี้มานับเป็นสิบๆ ปี

หนึ่งในความสำเร็จของละครเรื่องนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่ามาจากความรู้สึก “ใกล้ตัว” ของคนดูกับประวัติศาสตร์หลากสีสัน ทั้งเว็จขับถ่าย การกินอยู่หลับนอน รวมถึงอาหาร ซึ่งทำเอาคนแห่ทำ “หมูสร่ง” กว้านซื้อน้ำปลาหวาน และน้ำลายสอกับกุ้งเผาแม่การะเกด

กฤช เหลือลมัย คอลัมนิสต์ด้านอาหาร และอดีตกองบรรณาธิการนิตยสารเมืองโบราณ ผู้คลุกคลีต้นฉบับบทความวิชาการด้านประวัติศาสตร์มานานเกือบ 30 ปี มองว่า ส่วนหนึ่งเราอาจ “ตายอดตายอยาก” กับละครที่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้นเยอะๆ เพราะกลุ่มละครย้อนยุคมักหมกมุ่นกับการรบพม่าตามประวัติศาสตร์ฉบับทางการ มีแต่สงคราม การเมือง

“จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เวลาดูละครอิงประวัติศาสตร์คนน่าจะแอบเครียด เพราะถูกผูกมัดไว้ด้วยประวัติศาสตร์ฉบับโรงเรียน พอมีบุพเพสันนิวาสที่เป็นเรื่องชีวิตปกติของมนุษย์ ก็กระตุ้นความสนใจว่าแบบนี้ก็สนุกดีนี่หว่า”

สำหรับในมุมของแบบเรียนและแนวทางการศึกษา หากมองผลงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จะพบว่ามีหนังสือที่พยายามให้ “ภาพชีวิต” ของผู้คน และย่านต่างๆ ไว้อย่างมีสีสัน ถามว่า ประเด็นเหล่านี้ควรถูกให้ความสำคัญและบรรจุไว้ในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยแล้วหรือยัง

“ควรตั้งนานแล้ว และคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาก็น่าจะเปลี่ยนได้แล้ว เช่น มีคนบอกควรคุยว่าลูกครึ่งในอยุธยาเป็นยังไง คือมันต้องเกิดความสงสัยใหม่ๆ แต่จะเกิดไม่ได้ถ้ายังถูกยึดกุมโดยนักเขียนประวัติศาสตร์ฉบับทางการ ขนาดสุจิตต์ วงษ์เทศ ยังทำได้แค่ในระดับหนึ่ง เขาพูด เขาเขียนมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ตอนนี้มันอาจถูกเรียกร้องจากคนดู จากสังคม ว่าฉันสนใจเรื่องอาหารแล้ว สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระดับคนต่อคน เกิดคำถามว่า จริงไหมที่สมัยนั้นมีไอ้นั่นไอ้นี่แล้ว นี่เป็นคำถามชุดแรกๆสำหรับความสนใจใหม่ๆ ซึ่งนำไปสู่คำถามอื่นๆ อีกมากมายแต่ไม่เคยถูกถาม”

เมื่อมาถึงตรงนี้ ชวนให้นึกถึงคำกล่าวที่ไม่น่าเชื่อว่าจะได้ยินบ่อยครั้งอย่าง “อยุธยาไม่มีอะไรให้ศึกษาแล้ว” ถามว่า จริงหรือไม่?

กฤชส่ายหน้า บอกว่า คำถามมันมีไม่จบสิ้น ควรมีการสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์มากขึ้น โดยอาศัยกระแสจากละครเรื่องนี้ ที่ไม่ควรยุติแค่แต่งชุดไทย แต่สามารถไปไกลได้มากกว่านั้น ยิ่งถ้าโยงไปเชิงมานุษยวิทยา ยิ่งเกิดคำถามไม่จบสิ้น

นี่คือส่วนหนึ่งของความเห็นจากนักวิชาการต่อหลากหลายประเด็นสืบเนื่องจากละครสุดฮอตในยามนี้ และที่แน่ๆ “บุพเพสันนิวาส” ที่เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ได้กลับกลายเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์เสียเอง อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้

คลองหลายสายในอยุธยา ปัจจุบันตื้นเขิน บางส่วนถูกละเลย ทั้งที่เป็นเส้นทางสำคัญในประวัติศาสตร์

เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด ‘บุพเพสันนิวาส’

พลัง ‘สังคมศาสตร์’ ที่ไม่เคยตาย

ท่ามกลางกระแสการ “เมิน” ความสำคัญของการศึกษาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ผ่านการประกาศตัดงบสาขา “ไม่มีงาน” อีกทั้งล่าสุดภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ก็ถูกยุบเหลือเป็นเพียงสาขาวิชา แต่ในทางตรงกันข้าม คณะโบราณคดีกลับมีคนแห่สมัครเรียนพุ่งพรวด กระทั่งคณบดีต้องออกมาแจ้งเตือนว่าชีวิตจริงอาจไม่สวยงามเหมือนละคร

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของบุพเพสันนิวาส ที่ตั้งต้นจากบทประพันธ์ของ จันทร์ยวีร์ สมปรีดา “รอมแพง” ไม่ได้มาด้วยบุพเพสันนิวาสหรือความบังเอิญ หากด้วยความแตกต่างในการนำเสนอข้อมูลหลากสีสัน ทว่าแน่นหนักด้วยหลักฐานที่เจ้าตัวทุ่มเทสืบค้นจาก “เอกสารโบราณ” ต้นฉบับที่หอสมุดแห่งชาติเป็นเวลานานนับปี ตั้งแต่ครั้งยังไม่มีการออนไลน์สมุดไทยขาวไทยดำและกระดาษฝรั่ง

ศิษย์เก่าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ไม่เพียงใช้ความรู้ความสามารถด้านงานเขียน หากแต่ดึงเอาความสนใจในประวัติศาสตร์มาใช้อย่างเต็มความสามารถ ยังไม่นับความทุ่มเทถึงขนาดเคยเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยยอมรับเองว่า เพื่อนำมาใช้ “เขียนนิยาย”

ละครประสบความสำเร็จล้นหลาม กระทั่งใครๆ ก็ขอ “โหน” แม้ว่าครั้งหนึ่งเคยส่งบุพเพฯเข้าชิงมงฯเป็น “หนังสืออ่านนอกเวลา” แต่ไม่ได้รับคัดเลือก

มาถึงวันนี้ หลายฝ่ายหนุนว่าไม่เพียงคู่ควรได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นคณะโบราณคดี ยังควรได้โล่จากภาครัฐในการปลุกกระแสความสนใจประวัติศาสตร์อย่างถล่มทลายที่ไม่เคยมีมาก่อน โบราณสถานที่เงียบเหงา พิพิธภัณฑ์ที่ฝุ่นเกาะ ก็กลับมามีชีวิตชีวาด้วยปลายปากกาของนักเขียนคนนี้

นี่คือพลังของความคิดสร้างสรรค์ที่ “รอมแพง” เคยบอกผ่านสื่อหลายครั้งว่าเป็นคน “ชอบคิดอะไรแปลก”

และแน่นอน นี่คือพลังของสังคมศาสตร์ ที่ไม่เพียงจำเป็นต่อชาติ หากแต่สำคัญต่อมนุษยชาติ ไม่ว่าจะอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต

ชีวิตจริงนักโบราณคดีที่อาจไม่ได้สวยงามหรือสนุกเหมือนในละคร (ภาพจากสำนักศิลปากรเชียงใหม่)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image