สาวอังกฤษหาคู่ จากเมืองฝรั่งถึงฝั่งอินเดีย

สังคมชาวยุโรปในอินเดีย ปิกนิกริมทะเลสาบราวทศวรรษ 1920 (ภาพจากหนังสือ "The Fishing Fleet : Husband Hunting in the Raj")

หากกล่าวถึงยุคล่าอาณานิคม เรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์บันทึกมักเป็นเรื่องของการขยายพื้นที่อาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป, การเสียดินแดนประเทศที่อ่อนแอกว่า, การใช้กำลังบีบบังคับให้ประเทศในเอเชียต้องยอมเปิดการค้าที่เสียเปรียบ ฯลฯ

นั่นคือมุมมองและผลกระทบที่เกิดกับประเทศ หากวันนี้เราจะชวนท่านผู้อ่านมาดูในมุมของประชาชน และผลกระทบที่เกิดกับประเทศเจ้าอาณานิคมที่ไม่ค่อยมีการนำเสนอกันมากนัก ผ่านกรณีของประเทศอังกฤษที่ยึดครองประเทศอินเดีย

โดยนักเขียนฝีมือที่มีผลงานมากมาย สุภัตรา ภูมิประภาส กับบทความชื่อ “กองเรือหาคู่ จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่งที่อินเดีย” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2561

อังกฤษเข้ายึดครองประเทศอินเดียทั้งประเทศใน พ.ศ.2400 สถาปนารัฐบาลของตนขึ้นปกครองประเทศแทนรัฐบาลเดิม ต่อมาในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2401 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษมีพระบรมราชโองการ ความว่า

Advertisement

“เราตัดสินใจที่จะตั้งรัฐบาลแห่งอินเดีย ซึ่งบริษัทอีสต์อินเดียคอมปานี ได้ทำหน้าที่บริหารจัดการแทนเรามาจนกระทั่งบัดนี้”

นั่นทำให้สมดุลระหว่างประชากรชาย-หญิงในอังกฤษ เสียหายอย่างรุนแรง

เมื่ออังกฤษใช้บริษัทอีสต์อินเดียคอมปานีทำหน้าที่ขยายอาณาเขตการค้าในอินเดีย และยึดครองพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น

Advertisement

ดังนั้น อีสต์อินเดียคอมปานีจึงต้องการแรงงาน “ชายหนุ่ม” จำนวนมาก มาเป็นพนักงานในการค้าของบริษัท และเป็นทหารในกองทัพของบริษัท

ภาพวาดเรือของอีสต์อินเดียคอมปานี จุดเริ่มต้นของกองเรือหาคู่ (ภาพจาก https://www.youtube.com)

แม้เมื่อสิ้นสุดยุคอีสต์อินเดียคอมปานี แรงงานชายก็ยังเป็นที่ต้องการสำหรับงานของราชการอังกฤษที่ประเทศอินเดียทั้งในส่วนของพลเรือนและกองทัพ

เมื่อผู้ชายส่วนใหญ่ไป “ขุดทอง” ที่อินเดีย จำนวนประชากรชายในประเทศก็ลดลงอย่างมาก หญิงสาวในอังกฤษต้องหันมาพึ่งโฆษณาประกาศหาคู่ในวารสาร “จัดหาคู่” ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

ขณะที่ผู้ชายอังกฤษในอินเดียก็เผชิญปัญหาขาดแคลน “สาว” เช่นกัน แม้จะมีสาวพื้นเมืองมากมาย แต่อังกฤษและบริษัทอีสต์อินเดียคอมปานีก็พยายาม “กัน” ไม่ให้หนุ่มอังกฤษที่มาทำงานอยู่ในอินเดียไปมีเมียเป็นคนท้องถิ่น หรือไปใช้บริการโสเภณีชาวอินเดีย ทั้งจริงจังขนาดกำหนดเป็น “ข้อห้าม” มิให้ลูกของผู้ชายอังกฤษที่เกิดกับผู้หญิงอินเดียเข้าทำงานกับบริษัท

วิลเลียม ซัวมาเรซ สมิธ หนุ่มอังกฤษคนหนึ่งที่ทำงานในอินเดีย บรรยายถึงชีวิตในจดหมายถึงบ้านอย่างไร้ความสุขเกี่ยวกับอารมณ์และความปรารถนาทางเพศ ว่า “แต่งานของผมมีแต่ผู้ชายทั้งหมด ซึ่งพูดจริงๆ ก็คือผมอยู่ในโลกที่มีประชากรเพศเดียว นี่เป็นเรื่องผิดธรรมชาติและผิดปกติ”

ชายหนุ่มอังกฤษที่ยังไม่แต่งงานมักเช่าบ้านอยู่รวมกัน เรียกกันว่า “บ้านหนุ่มโสด” (ภาพจากหนังสือ “The Fishing Fleet : Husband Hunting in the Raj”)
ซ่องโสเภณีอินเดียในเมืองลาฮอร์ ปี 1946 (ภาพจาก https://www.icp.org)

ในที่สุดบริษัทก็หาทางออก ด้วยการริเริ่ม “กองเรือหาคู่” เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างบริษัทที่อยู่ในอินเดีย

กองเรือหาคู่ของบริษัท รับสมัครหญิงสาวเป็นสมาชิกแล้วพาพวกเธอไปเลือกคู่ จากบรรดาหนุ่มอังกฤษที่ทำงานอยู่ที่ประเทศอินเดีย โดยบริษัทสัญญาว่า

1.ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ทั้งหมด

2.จัดเตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้

3.รับผิดชอบดูแลพวกเธอเป็นเวลา 1 ปีในอินเดียระหว่างที่พวกเธอกำลังเลือกเนื้อคู่

กิจการ “กองเรือหาคู่” ได้รับความนิยมอย่างดีจากสาวๆ และผู้ปกครอง

เพราะเสียงร่ำลือในอังกฤษเกี่ยวกับประเทศแสนไกลอย่างอินเดียว่าที่นี่ “ตลาด” ขนาดใหญ่ที่แม้แต่ผู้หญิงไร้เสน่ห์ยังมีผู้ชายรุมล้อม

ไม่นานบริษัทจึงเปลี่ยนจากรับผิดชอบการจัดส่งสาวๆ ไปอินเดียแบบไม่มีค่าใช้จ่าย มาเป็นคิด “ค่าดำเนินการ” สาวใดที่ต้องการไปอินเดียต้องจ่ายเงิน 200 ปอนด์ สำหรับการอนุญาตให้เดินทางโดยเรือของบริษัทอินเดียแมน และพวกเธอยังต้องจ่ายค่าโดยสารของตัวเองด้วย

การเดินทางจากอังกฤษมาอินเดียใช้เวลาหลายเดือนบนเรือ จากอังกฤษมาฝรั่งเศสมายังเมืองมาร์แซย์ และจากมาร์แซย์ไปยังท่าเรือซาอิด แล้วข้ามทะเลทรายมายังสุเอซ จากนั้นลงเรือกลไฟไปอินเดีย ไปขึ้นบกที่ท่าเรือใหญ่ๆ 3 แห่ง คือ บอมเบย์ กัลกัตตา และมัทราส

จากท่าเรือใหญ่ สาวจากกองเรือหาคู่จะเดินทางต่อโดยรถไฟไปยังสถานีประจำการหรือค่ายทหารที่ครอบครัว เพื่อน หรือเจ้าภาพของเธอพำนักอยู่ ซึ่งบางแห่งเป็นชนบทห่างไกลของอินเดีย

ท่าเรือเมืองกัลกัตตายุคบริติชราช ราวทศวรรษ 1890 (ภาพจาก https://www.oldindianphotos.in)
สาวยุโรปผู้มาพำนักในอินเดียราวทศวรรษ 1870 (ภาพจาก https://www.oldindianphotos.in)

บรรยายภาพการมาถึงของสาวๆ กองเรือหาคู่ ในแต่ละเมืองที่พวกเธอไปถึงคล้ายๆ กัน คือ การได้รับเชิญไปงานเลี้ยงดินเนอร์, งานปาร์ตี้ ที่จัดตามสโมสร, โรงแรม ฯลฯ พวกเธอจะถูกขอเต้นรำเกือบตลอดคืน, ได้รับการเอาอกเอาใจต่างๆ

แต่ทุกคนไม่ได้จบด้วยการได้คู่ครอง บ้างถูกชายชาติเดียวกันที่มีครอบครัวแล้วหลอกลวง และที่หนักข้อสุดคงเป็นกรณีของสาวกองเรือกับมหาราชาแห่งปาเตียลา ประเทศอินเดีย ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม ซึ่งไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้

นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างในเรื่องศาสนา, วัฒนธรรม, ความเชื่อ ฯลฯ ระหว่างอินเดียกับอังกฤษ หากนั่นเป็นเรื่องที่สาวกองเรือซึ่งจะเป็นมาดามของบ้านต้องเรียนรู้เพื่อรับมือ เพราะคนงานที่มาเป็นสาวใช้, แม่ครัว, คนสวน, พ่อบ้าน ฯลฯ ล้วนเป็นชาวอินเดีย

ซึ่งในช่วงเวลานั้นงานรับใช้ตามบ้านไม่ใช่เรื่องต่ำต้อยสำหรับชาวอินเดีย แต่เป็นการเพิ่มฐานะให้ด้วยค่าจ้างที่เกินความคาดหวัง คนอินเดียที่จะมาทำงานนี้จึงคัดมาจากพวกที่มีสถานะสูงในสังคมหมู่บ้าน

นั่นทำให้เกิดธรรมเนียมประหลาดสำหรับสาวกองเรือผู้มาใหม่ เช่น คนรับใช้ที่มาจากวรรณะสูงจะไม่สามารถยืนรอที่โต๊ะอาหาร หรือบริเวณใกล้เคียงได้, การห้ามรบกวนคนงานหรือ

ใช้งานคนบางคนเวลา 14.00 น. และ 17.00 น. เพราะเป็นเวลาที่เขาต้องปฏิบัติกิจทางศาสนา เป็นต้น

ทั้งหมดที่ยกมาข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนน้อยจากอีกหลายสิบตัวอย่างที่มีในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2561 ที่สุภัตราบอกว่า

เรื่องเล่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่สีสันการผจญภัยเสี่ยงโชคหาคู่ของสาวอังกฤษ แต่ยังเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ต่างสถานะ ต่างเชื้อชาติอันซับซ้อนของผู้ยึดครองและผู้ถูกยึดครอง ซึ่งไม่มีบอกเล่าในตำราประวัติศาสตร์เล่มใด

คนรับใช้ในครอบครัวชาวอังกฤษที่อินเดีย ที่แต่ละครอบครัวจะมีคนรับใช้หลายคน (ภาพจาก https://www.oldindianphotos.in)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image