เปลี่ยนเด็กเกเรด้วย ‘พลังบวก’ ถอดหัวใจ ‘ครูสอนคิด’ ทางออกการศึกษาไทย 4.0

ประเด็นการปฏิรูปการศึกษาพูดกันมานาน และมีความพยายามในการจัดการมาเป็นสิบปี ทั้งในทางนามธรรมและรูปธรรม จากเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Centered) เป็น ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และอื่นๆ อีกมากมาย

ใครทำได้ก็ทำ ใครทำไม่ได้ก็ต้องทน นั่นทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะกับเด็กชนบท

ปัจจุบันด้วยคำว่า การศึกษา 4.0 ผนวกกับปัญหารอบด้านที่รุมเร้า ผลักดันให้สถาบันการศึกษาต่างพยายามหนีตาย ด้วยปัจจัยหนักหน่วงที่มาสำทับคือ “ตัวป้อน” ที่น้อยลง ถ้าไม่ปรับตัวก็ต้องปิดตัว

การแก้ปัญหาการศึกษามักมองกันที่ตำราเรียน ระบบการศึกษา เน้นแก้ที่ตัวผู้เรียน แต่ทว่า “ผู้สอน” ก็เป็นปัจจัยสำคัญ

Advertisement

“ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน” จึงเป็นอีกคีย์เวิร์ด แต่จะเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้เด็กคิดเป็น คิดเก่ง แก้ปัญหาได้ เพราะถ้าสอนให้รู้จักคิด เขาก็จะมีความคิดสร้างสรรค์ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะคิดทำสิ่งใดก็จะมีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นความแตกต่างอย่างที่ประเทศไทย 4.0 กำลังแสวงหา

เป็นที่มาของ Thinking School โรงเรียนสอนคิด ที่ ดร.ศราวุธ สุตะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นำมาพัฒนารูปแบบการสอนคิดในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทาง Thinking School ของ King’s School ประเทศนิวซีแลนด์ และได้จัดอบรม ติดตาม นิเทศจากครูโรงเรียนต้นแบบหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2553 เรื่อยมา ทำให้ครูได้รับความรู้และเทคนิคต่างๆ ในการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาความสามารถในการคิดของผู้เรียน โดยการ “ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน” พัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต โดยเน้นการออกแบบการเรียนรู้และใช้เครื่องมือการสอนคิด Thinking Tools เพื่อให้การเรียนรู้บรรลุผล

ห้องเรียนต้องสอนคิด

ดร.ศราวุธอธิบายถึงปัญหาของการศึกษาไทยในปัจจุบันว่า ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดของครูมีมาก 1.ครูมีภาระงานมาก และ 2.เด็กในห้องเรียนมีจำนวนมาก หรืออีกกรณีคือ เด็กมีไม่มากแต่มีครูไม่ครบชั้น ทำให้ครูจำนวนหนึ่งสอนตามหนังสือ ซึ่งจะได้ผลเฉพาะกับเด็กที่ชอบการเรียนวิธีนี้ แต่ก็ยังมีเด็กอีกหลายกลุ่มที่ไม่เหมาะกับการเรียนวิธีนี้ เช่นบางคนต้องค้นหาคำตอบด้วยตนเองจึงจะสำเร็จ

Advertisement

“อย่าลืมว่า เด็กบางคนเก่งกว่าครูด้วยซ้ำ ฉะนั้นในห้องเรียนจึงต้องเป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน โดยครูต้องไม่คิดว่าเป็นการเสียหน้า”

ดร.ศราวุธบอกว่า ครูไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ครูต้องเป็นผู้อำนวยการ เป็นคนจัดการการเรียนรู้หรือวางแผนการเรียนให้เด็กมากกว่า

“ผมไม่ค่อยสนใจว่าครูจะต้องเก่ง แต่ครูต้องเป็นผู้อำนวยการ เป็นคนจัดการการเรียนรู้หรือวางแผนการเรียนให้เด็กมากกว่า ไม่ใช่แบบเอาปลาไปให้เด็ก แต่ต้องสอนการจับปลาให้

“ระบบของ Thinking School ช่วยได้ เพียงแต่ครูต้องได้รับการพัฒนา ต้องได้รับการเทรนอย่างที่ผมทำกับ ร.ร.อบจ.เชียงรายตั้งแต่ปี 2552 ครูผมก็ไม่ได้แตกต่างจากที่อื่น 8 ปีแล้ว เพียงแต่ครูเปลี่ยนวิธีคิดและเปลี่ยนวิธีสอนทุกคาบ”

“เพียงครูเปิดใจ และเปลี่ยนวิถีไปตามครรลอง แล้วจะเห็นความมหัศจรรย์ โดยมันจะไปเปลี่ยนที่ห้องเรียน เด็กจะมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ กระตือรือร้นอยากมาโรงเรียน อยากถกเถียงอยากพูดคุย และรับฟังเหตุผล” ผอ.ศูนย์พัฒนาการสอนคิดรับรอง

ครูต้องเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ

ปัญหาของเด็กออกนอกระบบโรงเรียนเป็นอีกปัญหาสำคัญ เพราะเบื่อ เพราะกลัวครูดุตี เพราะไม่สนุก ไม่มีอะไรน่าสนใจ ฯลฯ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กโดดเรียน ครูจึงต้องรู้จักวางแผนการเรียนการสอน

ทำอย่างไรให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้วว่าจะตอบผิด จะถูกลงโทษ จะถูกหัวเราะเยาะ นั่นคือต้องสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง ภาษากายต้องมี ภาษาพูดก็ด้วย การใช้ภาษาเดียวกับนักเรียน ยิ้มแย้ม อ่อนโยน เป็นสิ่งที่ครูต้องมี โดยเฉพาะต้องรู้จัก “การตั้งคำถาม”

การตั้งคำถามที่ดีคือให้คำถามเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กคิด ไม่ใช่ถามเพื่อความจำ ยกตัวอย่างเช่น การตั้งคำถามว่า “มีปัจจัยอะไรหรือเงื่อนไขอะไรที่เกี่ยวข้องที่จะนำมาพิจารณาในเรื่องนี้” เพื่อให้นักเรียนเปิดความเข้าใจที่กว้างขึ้นในการคิด

“เวลาเราถามเด็กจะทำร้ายจิตใจก็ได้ จะสร้างแรงบันดาลใจก็ได้ แต่ครูส่วนมากใจร้อน เด็กตอบไม่ได้หรือตอบไม่ตรงกับใจเราก็จะดุ ซึ่งจะเห็นผลในห้องเรียน เด็กจะไม่กล้าตอบ แต่ถ้าเปลี่ยนการตั้งคำถาม และรอคอยคำตอบจากเด็ก จะทำให้เด็กพยายามคิดหาคำตอบอื่นๆ ที่เพื่อนยังไม่ได้ตอบ ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนในห้องเรียน ขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กแถวหลังมีโอกาสได้ตอบคำถาม” ดร.ศราวุธบอก

สิ่งสำคัญคือ การกล่าวชมเชยและให้กำลังใจตลอดเวลา ต่อให้เด็กที่เกเรเด็กที่ดื้อให้มาอยู่ในห้องเรียนบรรยากาศอย่างนี้ 3 วัน ดร.ศราวุธยืนยันว่า จะเห็นว่าพฤติกรรมเปลี่ยน ซึ่งครูของผมจะจัดการเด็กดื้อเหล่านี้ได้ด้วยพลังทางบวก

นี่คือการจัดการชั้นเรียน ที่เรียกว่า Full Attention เป็นการทำให้เด็กใส่ใจ ตั้งใจเรียนรู้ตลอดเวลา

“เจ้าบุ๊ค” เอกนิษฐ์ ปัญญา (คนขวา) ลงสนามในนามทีมชาติไทย ชุด U-23 เตรียมเอเชี่ยนเกมส์ อุ่นเครื่องกับอินโดนีเซีย ผลทีมชาติไทย ชนะ 2-1

 

การเรียนยุคใหม่
ต้องได้ความรู้ ได้เกรด ได้ตังค์

นอกจากการ “ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน” จะสามารถเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุข ผ่านกระบวนการ Thinking school แล้ว ผอ.ศูนย์พัฒนาการสอนคิดเล่าให้ฟังถึง “การเปลี่ยนวิธีคิด” สามารถนำมาใช้ได้กับทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องการบริหารจัดการระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยยกตัวอย่างที่ ร.ร.อบจ.เชียงราย ว่า เมื่อแรกก่อตั้งโรงเรียนก็ใช้ “ปัญหา” เป็นโอกาสของการพัฒนา

เช่น เราจะสอนให้เด็กติดทีมชาติฟุตบอล การจะจ้างโค้ชสักคนมาสอนที่โรงเรียนด้วยเงินเดือน 15,000 บาท เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ จับมือกับสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด แทนที่ทางสโมสรจะต้องซื้อนักกีฬาในค่าตัวหลักแสนหลักล้าน ถ้าได้สร้างนักกีฬาเองตั้งแต่ยังเล็กน่าจะดีกว่า โดยทางสโมสรเป็นผู้จัดหาโค้ชมาสอนให้ที่โรงเรียน แลกกับการได้สิทธิในการเลือกตัวเล่นใหม่ๆ ที่มีทักษะการเล่นถูกใจเข้าไปร่วมทีมตามต้องการ

“ตอนนี้เรามีนักฟุตบอลที่อยู่ในโรงเรียน 100 คน เชียงรายยูไนเต็ดเอาไปแค่ 8 คน โดยเขาเป็นคนลงทุนจ้างโค้ชเอง ส่วนนักฟุตบอลที่เหลือก็สามารถไปขายให้กับทีมอื่น เช่น เชียงใหม่ เอฟซี อุตรดิตถ์ เอฟซี ฯลฯ”

เช่นเดียวกับการสอนอาชีพก็ใช้วิธีการจับมือเป็นทวิภาคีกับผู้ประกอบการโดยตรง ห้องเรียนการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร เป็นการจับมือกับร้านอาหารในเชียงราย 30 ร้าน เด็กจะเรียนหลักการพื้นฐานครึ่งวันที่โรงเรียน อีกครึ่งวันไปฝึกงานที่ร้านอาหาร โดยได้รับค่าแรงเป็นการตอบแทนด้วย

“เด็กถ้าเรียนอาชีพ แล้วไม่ได้ตังค์ เขาจะไม่รู้คุณค่าว่าเขาเรียนไปทำไม ตอนนี้ร้านอาหารที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดตากด้วยเป็นพม่าทั้งหมด ถ้าคนกลุ่มนี้กลับประเทศเขา ใครจะเป็นแรงงาน ผมจึงเปิดห้องกุ๊ก ม.4-5-6 แล้วคุยกับร้านอาหาร ตอนนี้คุณจ้างพนักงานเดือนละ 25,000 บาท เด็กผมจบใหม่ ตัวไหนดี คุณหยิบเอา จบ ม.6 ขอสตาร์ตที่ 20,000 บาท ได้มั้ย ซึ่งทางร้านก็ตกลง เพราะรู้จักเด็กตั้งแต่ฝึกงานแล้ว”

นี่คือการเปลี่ยนวิธี วิ่งไปหาผู้ประกอบการ แทนที่จะให้ผู้ประกอบการวิ่งมาหาเรา

เพิ่มคุณภาพครู ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

“การปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน” ในห้องเรียน ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ถ้ามองขึ้นไปที่ต้นเหตุ สถาบันผลิตครูนับว่าสำคัญมาก ดร.ศราวุธสะท้อนภาพให้ฟังว่า เราพบปัญหาหลายอย่างเนื่องจากปัจจุบันการศึกษาเฟื่องฟู นักศึกษาจบปริญญาตรีแล้วศึกษาต่อปริญญาโททันที โดยไม่เคยลงสนามเลย ต่อไปถ้าให้ไปสั่งการรบ ถามว่าคนไม่เคยรบมาก่อนจะบอกให้คนรบรบได้เก่งมั้ย

ในทำนองเดียวกันปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยบางแห่งเจอวิกฤตนี้ เด็กเก่งมาเป็นครู แต่เขาไม่เคยเป็นครูด้วยจิตวิญญาณมาก่อน เมื่อต้องถ่ายทอดให้กับเด็กรุ่นใหม่จึงถ่ายทอดไม่เป็นหรือถ่ายทอดได้ไม่เต็ม

“ผมยังเห็นด้วยว่าเราน่าจะมีสถาบันการผลิตครูโดยเฉพาะ แต่ตอนนี้ 90% ของสถาบันสอนครูไม่ใช่คนที่เรียนครู แต่เป็นสาขาอื่นๆ ทำให้ความลุ่มลึกความเข้มข้นของการเป็นครูอาจจะน้อยเกินไป” ผอ.ศูนย์พัฒนาการสอนคิดบอกอีกว่า

“การศึกษาไทยยังไม่สามารถสร้างคนให้เป็นคนดีได้ ผมเคยเข้าไปสอนในเรือนจำ เคยถามคนในเรือนจำและพบว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้อยากเป็นคนไม่ดี เพียงแต่เขาคิดไม่ได้ เขาสู้คนอื่นไม่ได้ สิ่งที่ทำไปบางคนไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดด้วยซ้ำ

“ประเทศไทยเอาความเหลื่อมล้ำมาจัดการการศึกษา ลูกคนรวยเรียนต่างประเทศ ลูกคนจนเรียนตามมีตามเกิด ถ้าเมื่อใดประเทศไทยทำการศึกษาเป็นสวัสดิการ ทำโรงเรียนทุกตำบลทุกอำเภอเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ปัญหาจะคลี่คลาย ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยากมาก” ดร.ศราวุธบอกอีกว่า

การศึกษาไทยถ้าจะเปลี่ยนได้ ต้องไปเปลี่ยนที่ห้องเรียน อย่าหลงทางนโยบายที่ไกลตัวเด็กเกินไป ไกลโรงเรียน ไกลสถานศึกษา ทำอย่างไรจะให้เด็กคิดเป็น มีอาชีพติดตัว สามารถอยู่ในสังคมใกล้ตัวของเขาได้อย่างมีความสุข

ขณะที่วิสัยทัศน์ของการศึกษาของประเทศต้องชี้ให้ชัดว่าอยากเห็นคนไทยเป็นอย่างไร ผมคิดว่าโรงเรียนแต่ละแห่งรู้ว่าเขาจะพัฒนาเด็กไปอย่างไร แต่เขาไม่มีโอกาสได้คิดและทำตามวิธีของเขา


 

สร้างประเทศต้องสร้างคนไทยก่อน

เพื่อเป็นการขยายแนวคิดนี้ มูลนิธิช่วยการศึกษาตันติสุนทร ร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดตาก เขต 1 เชิญ ดร.ศราวุธ สุตะวงศ์ และทีมวิทยากรจากศูนย์พัฒนาการสอนคิด โรงเรียน อบจ.เชียงราย จัดอบรมโครงการครูสอนคิดให้กับตัวแทนครูจาก 120 โรงเรียนในจังหวัดตาก เขต 1 เมื่อวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2561 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาตาก

“เพราะการสร้างประเทศไทยต้องสร้างคนไทยก่อน”

อุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิ บอกถึงความตั้งใจของการจัดโครงการครั้งนี้ ความที่เป็นคนที่สนใจเรื่องการศึกษาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องขององค์กรท้องถิ่น จึงตั้งมูลนิธิเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

“ผมเป็นคนเสนอกฎหมายท้องถิ่นกับท่านคึกฤทธิ์ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) เมื่อปี 2526 พยายามอยู่ 11 ปี จนผมเป็น รมช.มหาดไทย เป็นการให้ความสำคัญกับบุคคลท้องถิ่นว่าต้องเข้ามาดูแลโรงเรียน การสอนเด็กทุกวันนี้เป็นการสอนให้จำเพื่อไปตอบข้อสอบปลายปี ซึ่งไม่ใช่ ต้องสอนให้รู้จักคิดตั้งแต่ระดับอนุบาล”

การอบรมครั้งนี้เป็นระยะเวลาสั้นแค่ 3 วันเป็นการจุดประกายให้กับผู้เข้ารับการอบรม ฉะนั้นถ้าโรงเรียนใดสนใจจะนำวิธีการเรียนการสอนนี้ไปขยายต่อยอด ทางมูลนิธิจะให้ทุนไปอบรมเพิ่มเติมที่จังหวัดเชียงราย

เพราะที่สุดมันจะช่วยให้เด็กมีองค์ความรู้ มีทักษะ ให้รู้จักคิด ไม่ใช่แค่รู้จักจำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image