พระเพทราชา บ้านพลูหลวง ‘ช้างป่าต้น คนสุพรรณ’ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

วัดกุฎีทอง ริมแม่น้ำท่าจีน ต.รั้วใหญ่ อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี

สุนทรภู่ นั่งเรือทวนน้ำจากเมืองบางกอกไปเมืองสุพรรณ ผ่านบางปลาม้า (อ. บางปลาม้า) แล้วผ่านขึ้นไปอีกหลายหมู่บ้าน จนเข้าเขตตัวเมืองสุพรรณ ผ่านท่าโขลงกับวัดกุฎีทองเกี่ยวข้องกับช้าง

ท่าโขลง ปัจจุบันมีวัดท่าโขลง อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันออก (ตรงข้ามวัดกุฎีทอง) สุนทรภู่พรรณนาว่าท่าโขลงเป็นที่ช้างข้าม (แม่น้ำท่าจีน) แต่ไม่บอกจากฝั่งไหนไปฝั่งไหน ว่า “ท่าโขลงโขลงช้างค่าม ตามโขลง”

[ค่าม คือ ข้าม ต้องการรูปเสียงเอก ตามฉันทลักษณ์โคลง เลยต้องสะกดเป็น ค่าม เรียกเอกโทษ]

วัดกุฎีทอง อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันตก (ตรงข้ามวัดท่าโขลง) แต่ครั้งนั้นสะกดตามภาษาพูดว่า กะดีทอง หรือ กดีทอง สุนทรภู่พรรณนาว่ามีพวกลาวพูดเสียงเหน่อ มีอาชีพทำสวนทำไร่ ดังนี้

Advertisement

“บ้านตั้งฝั่งน้ำที่ กดีทอง

ลาวอยู่รู้เสียงสนอง เหน่อช้า”

[สุนทรภู่บอกไว้นานแล้วว่าเสียงเหน่อ มีต้นตอจากลาว]

Advertisement

วัดกุฎีทอง ชื่อนี้มีสมัยสุนทรภู่ อยู่สมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ แต่ไม่พบหลักฐานสมัยอยุธยาชื่ออะไร?

“บริเวณวัดกุฎีทอง สมัยอยุธยา อาจเรียกบ้านพลูหลวง” รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ค้นคว้าหลักฐานต่างๆ แล้วชวนให้เชื่ออย่างนั้น ด้วยเหตุผล ดังนี้

1. ศิลปกรรมบางอย่างในวัดมีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยา รุ่นพระเพทราชา

2. คานหามในศาลาการเปรียญเป็นฝีมือช่างหลวง สมัยอยุธยา

3. คำบอกเล่าชาวบ้านเชื่อว่าพระเพทราชาบูรณปฏิสังขรณ์วัดกุฎีทอง

[มีรายละเอียดมากกว่านี้ อ่านในมติชนสุดสัปดาห์]

ช้างป่าต้น

ท่าโขลง (ตรงข้ามวัดกุฎีทอง) เป็นที่ช้างข้ามแม่น้ำ โดยชื่อเกี่ยวข้องพระเพทราชา ทรงกำกับกรมคชบาล (หรือกรมช้าง) มีหน้าที่รวบรวมและควบคุมช้างในทางยุทธศาสตร์สนองราชสำนัก

สอดคล้องวลีพังเพยว่า “ช้างป่าต้น คนสุพรรณ” มีคำอธิบายของ ถาวร สิกขโกศล (นักปราชญ์ร่วมสมัยแห่งสุพรรณบุรี) หมายถึง ช้างป่าหลวงอยู่เมืองสุพรรณ โดยป่าต้นคือป่าหลวง อยู่ในพื้นที่ อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี

เพราะป่าต้นอยู่ในสุพรรณบุรี แหล่งช้างชั้นเยี่ยม จึงเปรียบคนสุพรรณได้กับช้างป่าต้น อุปมาเป็นเลิศเหนือช้างถิ่นอื่นฉันใด อุปไมยก็เป็นเลิศเหนือคนถิ่นอื่นฉันนั้น สำนวนนี้เป็นคำยกย่องคนสุพรรณโดยแท้ มีใช้มาตั้งแต่สมัยสุนทรภู่ อยู่ในโคลงนิราศสุพรรณ

[สรุปจากบทความเรื่อง “ช้างป่าต้น คนสุพรรณ” ในหนังสือ ความรู้เรื่องชง และเรื่องน่ารู้จีน-ไทย ของ ถาวร สิกขโกศล สำนักพิมพ์แสงดาว พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560 หน้า 209-218]

คานหาม มีตำนานท้องถิ่นเล่าว่าเป็นพระราชยานของพระเพทราชา เก็บไว้ในวัดกุฎีทอง ต.รั้วใหญ่ อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี

บ้านโพหลวง ไม่บ้านพลูหลวง

บริเวณที่เป็นบ้านพลูหลวงไม่ใช่ตำแหน่งปัจจุบัน (ตามกำหนดของทางการสุพรรณ) อ. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อธิบายดังนี้

1. โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ เดินทางทวนแม่น้ำท่าจีน จากใต้ขึ้นเหนือ ระบุชื่อบ้านตามลำดับ ดังนี้

โพคลาน (คือวัดโพธิ์คลานในปัจจุบัน), หัวเวียง (คือบ้านหัวเวียงในปัจจุบัน), ต่อจากนั้นชื่อ โพหลวง, ถัดไปชื่อสำปะทิว (คือวัดสำปะซิวในปัจจุบัน), โพพระ (คือบริเวณเหนือวัดสว่างอารมณ์), โพพญา (ปัจจุบันคือโพธิ์พระยา)

พื้นที่ระหว่างหัวเวียงกับวัดสำปะซิว ชื่อโพหลวงไม่ใช่พลูหลวง (ตามที่สุนทรภู่บอกในโคลง)

ชื่อบ้านนามเมืองขึ้นด้วยคำว่าโพ เช่น โพคลาน, โพคอย, โพพระยา ถ้าพิจารณาจากชื่อ โพหลวง ก็จะดูรับกับตำแหน่ง โพพระและโพพญา คือขึ้นด้วยโพและต่อท้ายบรรดาศักดิ์ขุนนาง


บ้านโพหลวง

โพหลวงห้วงน้ำลึก ไหลเนือย

ปะแต่ลาวเปล่าเปลือย ปลอดผ้า

อาบน้ำคล่ำริมเฟือย ฝูงหนุ่ม กลุ้มแฮ

เด็กเกลียดเบียดเบือนหน้า นิ่วร้องสยองแสยง

โพหลวง ชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน (โคลงบท 153) ในนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ อยู่ตรงตำแหน่งปัจจุบันที่ถูกเปลี่ยนใหม่เรียก บ้านพลูหลวง

นิราศสุพรรณ สุนทรภู่แต่งเป็นโคลง เมื่อ พ.ศ. 2384 สมัย ร.3 หลังเสร็จศึกเจ้าอนุ เวียงจัน (พ.ศ. 2371) แล้วได้กวาดต้อนลาวกลุ่มใหญ่ลงไปตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสุพรรณ



2. บ้านโพหลวง ถูกเปลี่ยนเป็นบ้านพลูหลวง ราวสี่สิบปีที่ผ่านมา
ตาม “เอกสารการประชุมพุทธสมาคม ครั้งที่ 11 ปี พ.ศ. 2506” บทความเรื่องพลูหลวงมีที่สุพรรณ เสนอว่าบ้านโพธิ์หลวงนั้นอาจจะเพี้ยนจากพลูหลวง และเอกสารเรื่อง “นิทานย่านสุพรรณ” ของ ศุภร ผลชีวิน ได้สันนิษฐานว่าบ้านโพหลวงเพี้ยนมาจากบ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นความเข้าใจส่วนบุคคล แต่ไม่ใช่หลักฐานประวัติศาสตร์


บ้านพลูหลวง

“บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณ” พงศาวดารบอกไว้แค่นี้ แต่ไม่ระบุว่าอยู่ตรงไหนของเมืองสุพรรณบุรี

ปัจจุบันทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้กำหนดตำแหน่งของบ้านพลูหลวงอยู่ทางทิศเหนือของกำแพงเมืองสุพรรณ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ต. พิหารแดง อ. เมืองฯ ทำให้คนทั่วเข้าใจว่าบริเวณนี้เป็นบ้านพลูหลวงถิ่นฐานพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระเพทราชา

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเสียหาย ไม่น่าทำ ขอแนะนำเปลี่ยนกลับคืนเป็น บ้านโพหลวง


 

วัดกุฎีทอง มีคำบอกเล่าเกี่ยวข้องกับพระเพทราชา ที่น่าเชื่อถือว่าเป็นย่านบ้านพลูหลวง ถ้ามีจริงตามพระราชพงศาวดาร [แผนผังตัวเมือง จ. สุพรรณบุรี (โดย ทนงศักดิ์ หาญวงศ์)]

พระเพทราชา กับพระญาติวงศ์
ชาวบ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณบุรี
มีบอกในพระราชพงศาวดาร

“ขณะนั้นส่วนพระญาติวงศ์, แลข้าหลวงเดิมทั้งหลาย, ซึ่งอยู่ ณ บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรีแจ้งว่า, สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผ่านพิภพแล้ว, ต่างคนต่างก็ชื่นชมยินดียิ่งนัก จึ่งชวนกันหามัจฉะมังสา, แลผลตาลแก่อ่อนสิ่งของต่างๆ ตามมีประสาชนบทประเทศบ้านนอกนำเข้ามาทูลเกล้าถวาย

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้เหล่าพระญาติวงศานุวงศ์, แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายเข้ามาในพระราชวัง, โดยทางประตูมหาโภคราชข้างท้ายสระ แลให้ยับยั้งอยู่ในพระราชวังใกล้พระราชนิเวศมหาสถาน แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้เข้ามาเฝ้าถวายสิ่งของทั้งปวง

แลพระญาติวงศ์นุวงศ์, แลข้าหลวงทั้งหลายเป็นชาวชนบทประเทศ, มิได้รู้จักเพ็ดทูลตามขนบธรรมเนียมประการใด, เคยพูดจาแต่ก่อนอย่างไร, ก็พูดจาเพ็ดทูลอย่างนั้น.

แลว่าดูข้าทั้งหลายรู้ว่า, นายท่านได้เป็นเจ้า, ก็ยินลากยินดียิ่งนัก, ชวนกันเข้ามาเพื่อจะชมบุญนายท่าน. แลซึ่งตายายผู้เฒ่าผู้แก่คนนั้นๆ, พ่อแม่อีนั่นไอ้นั่น, ป่วยเจ็บอยู่เข้ามาไม่ได้, ได้ฝากแต่สิ่งของอันนั้นเข้ามาให้กำนัลนายท่านด้วย,

ส่วนข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลายได้ฟังดั่งนั้นจึ่งห้ามว่า, ท่านทั้งหลายอย่าเรียกว่านาย. พระองค์ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์เจ้าแผ่นดินแล้ว. แลท่านทั้งหลายอย่าพูดจาเพ็ดทูลดั่งนี้มิสมควรยิ่งนัก.

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังดังนั้น, ก็ทรงพระสรวลดำรัสว่า, คนเหล่านี้มันเป็นชาวบ้านนอก, เคยชำนาญพูดจามาแต่ก่อนอย่างนั้น, เรามิได้ถืออย่าห้ามมันเลย. แล้วทรงพระกรุณาให้วิเสทตกแต่งโภชนาหารมาเลี้ยงดูให้อิ่มหนำ.

แลพวกพระญาติวงศ์, แลข้าหลวงเดิมทั้งหลาย, ได้รับพระราชทารโภชนาหารอันมีรสอร่อยต่างๆ, บางคนเป็นนักเลงสุรา, ก็กราบทูลว่านายท่านตูข้าอยากกินสุรา, ก็ทรงพระกรุณาให้เอาสุรามาพระราชทานให้บริโภค. ครั้นได้รับพระราชทานแล้วก็เมาสุรา, บ้างก็ร้องเพลงเก็บดอกไม้ร้อย, แลเพลงไก่ป่าต่างๆ.

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตรัสได้ทรงฟังดั่งนั้น, ก็ทรงพระสรวล, แล้วมีพระราชดำรัสให้เจ้าจอมเถ้าแก่นำเอาพระญาติวงศ์, แลข้าหลวงเดิมทั้งหลาย, เข้าไปเที่ยวชมในพระราชวังข้างใน, แลบนพระราชมนเทียร แลพระญาติวงศาแลข้าหลวงเดิมทั้งหลาย, ได้เห็นเครื่องสิริราชสมภารอันงามวิเศษต่างๆ, แลนางพระสนมทั้งหลายอันมีสิริรูปอันงาม, กอปรด้วยเครื่องอลังการนุ่งห่มงามต่างๆ, ต่างคนต่างสรรเสริญเป็นอันมาก, แลชมพระราชกฤษฎาธิการว่า, นายเรามีบุญยิ่งนัก, แลเที่ยวชมบนพระราชมนเทียร, แลจังหวัดพระราชวังทั้งปวงทั่ว, แล้วกลับมาเฝ้าถวายบังคมทูลสรรเสริญโดยได้เห็นทั้งปวงนั้น แล้วทูลถามว่า, ค่ำวันนี้นายท่านจะให้ตูข้าทั้งหลายนอนที่ไหน,

จึงมีพระราชดำรัสว่า, เอ็งทั้งหลายจงนอนอยู่บนพระราชมนเทียรเถิด. แล้วทรงพระกรุณาให้เหล่าพระญาติวงศ์, แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายนอนอยู่บนพระราชมนเทียรสถาน.

ครั้นรุ่งเช้าทรงพระกรุณา ให้จัดแจงเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญแล้ว, ก็ทรงพระราชทานเงินทองพรรณผ้านุ่งห่ม, สิ่งของเครื่องศรีสัมฤทธิ์ต่างๆ เป็นอันมากโดยลำดับฐานานุรูป, ถ้วนทุกคนแล้ว. ให้พระราชทานเงินทองสิ่งของทั้งปวง, ฝากไปให้แก่ผู้ซึ่งมิได้มานั้น

แต่เหล่าพระญาติวงศ์, แลข้าหลวงเดิมทั้งหลาย, ได้รับพระราชทานสรรพวัตถุทั้งหลาย, แล้วถวายพระพรต่างๆ แล้วถวายบังคมลา. ทรงพระกรุณาโปรดให้กลับคืนออกไปอยู่ตามภูมิลำเนาแห่งตนดุจก่อน.”

[พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน สำนักพิมพ์บรรณาคาร พิมพ์ครั้งที่ห้า พ.ศ. 2515 หน้า 496-499]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image