เบื้องหลังภารกิจ พิชิต ‘แว้น’ 6 เครื่องมือมหัศจรรย์ พา ‘เด็กหลังห้อง’ ไปถึงฝั่งฝัน

“จอร์ช” เพิ่งจบ ม.3 โปรไฟล์ชัดเจนว่าเป็น “เด็กหลังห้อง” เรียนไม่รู้เรื่อง พร้อมจะไม่เรียนต่อ

คลิปนี้เป็นปฏิบัติการงานทดลองของ “ก๊วนรถตู้ร้อยพลังการศึกษา” ที่เดิมพันด้วย “อนาคต” ของเด็กขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

ภารกิจพิชิต “แว้นจอร์ช” กลับเข้าห้องเรียน …จะสำเร็จหรือไม่ ลุ้นเลย

Advertisement

เป็นคลิปที่หลังจากเพจ Toolmorrow ปล่อยออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว เพียง 10 วัน มียอดวิว 1.2 ล้านวิว ยอดแชร์อีกเกือบ 10,000 ครั้ง

Advertisement

แม้ไม่ถึงกับเปรี้ยงปร้างมากมาย แต่คลิปนี้ได้รับการกล่าวขานถึงอีกปัญหาสำคัญในสังคม กับภาพคุ้นตาของ กลุ่มเยาวชนที่ใช้ถนนหลวงยามราตรีเป็นสนามประลองความเร็ว

ทำไมพฤติกรรมของเยาวชนเหล่านี้จึงเป็นเช่นนั้น มีเหตุผลนานัปการ…

เช่นในกรณีนี้ จอร์ช เป็นเด็กรักความเร็ว รักการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ เรื่องในห้องเรียนสำหรับเขาเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ มองไม่เห็นประโยชน์ที่จะเรียน มักโดดเรียนเป็นประจำ ม.3 จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการตัดสินใจ จะเรียนต่อ หรือจะหยุดแค่ตรงนี้เช่นเดียวกับเพื่อนอีกหลายๆ คน

จอร์ช นับเป็นเคสปริ่มที่จะหลุดออกนอกระบบโรงเรียน “โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ” ลงพื้นที่ไปหยิบมาเป็นกรณีศึกษา นำร่องให้เห็นว่า ถ้าทุกฝ่ายจับมือกัน ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ ด้วยการพูดคุย แนะแนวและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาว่า สามารถนำสิ่งที่ชอบมาต่อยอดการเรียนรู้ได้ เช่น เปิดร้านมอเตอร์ไซค์

นั่นทำให้เขาเข้าใจ และยอมที่จะกลับเข้าห้องเรียนอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนขึ้น

‘ร้อยคนทำงานการศึกษา’ สร้าง ‘พลัง’ เครือข่าย

พัดชา มหาทุมะรัตน์

พัดชา มหาทุมะรัตน์ รองผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ เล่าให้ฟังว่า กรณีของจอร์ชนั้นเป็นความบังเอิญ เราได้ทราบจากทีมงานที่ลงพื้นที่ไปทำเรื่องการศึกษา และพบกับจอร์ช ที่จังหวัดอ่างทอง ด้วยเห็นว่าเป็นเคสที่น่าสนใจ จึงส่งทีมปฏิบัติการลงไปพูดคุย ซึ่งกรณีอย่างนี้อาจจะเห็นมากในกรุงเทพฯ ยามราตรี ที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งนิยมจับกลุ่มแข่งรถ แต่เมื่อพิจารณาจากฐานข้อมูล โรงเรียนต่างจังหวัดน่าวิตกมากกว่า ในแง่ของการด้อยโอกาส รวมทั้งรายได้ครอบครัว

สำหรับ โครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” เป็นการนำ “พลัง” ของกลุ่มบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศไทย มาร้อยเรียงกัน เกิดเป็นเครือข่ายทำงานเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือ ช่วยให้เยาวชนที่ขาดโอกาสได้รับการศึกษา

การให้ทุนการศึกษาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่หยิบมาใช้เพื่อการนี้ และเป็นเครื่องมือแรกๆ ที่ใช้ผ่านการทำงานของ “มูลนิธิยุวพัฒน์” ที่ให้ทุนการศึกษาแก่น้องๆ ทุกปี มาตลอด 25 ปี แต่การให้ทุนการศึกษาเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน จึงค่อยๆ หยิบเอา “เครื่องมือ” อื่นๆ เข้ามาเติมเพื่อช่วยในการบริหารจัดการปัญหาอย่างครบมิติ เมื่อ 2 ปีก่อน

“ปัญหาการศึกษาหลักๆ มี 3 เรื่อง 1. ‘การเข้าไม่ถึงการศึกษา’ ซึ่งรวมถึงกรณีที่เรียนไม่จบ การให้ทุนการศึกษา เป็นเครื่องมือแรกที่หยิบเข้ามาเติมตรงส่วนนี้ 2. ‘คุณภาพการศึกษา’ เด็กเรียนไม่รู้เรื่อง มาจากหลายเหตุผล ครูสอนไม่เก่ง สอนคุณภาพต่ำ หรือปัญหาเรื่องหลักสูตร เรียนไม่สนุก และ 3. ‘ขาดทักษะชีวิต’ ไม่รู้ว่าเรียนเพื่ออะไร จึงเรียนเพื่อให้จบๆ อาจจะมีความฝัน แต่ไม่รู้วิธีที่จะไปให้ถึงความฝัน”

ทั้งนี้ เครื่องมือทั้งหก ที่นำลงไปแก้ปัญหาด้านการศึกษาของเยาวชน นอกจากเครื่องมือแรก คือ “การให้ทุนการศึกษา” แล้ว รอง ผอ.พัดชา บอกว่า เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพการศึกษา ทำให้ห้องเรียนสนุกขึ้น จึงนำ “ดิจิทัล” เข้ามาใช้กับวิชายากๆ อย่างวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีครูสอนอยู่หน้าจอ เรียกว่า “ห้องเรียนดิจิทัล” (เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น) แก้ปัญหาเด็กหลังห้องที่เรียนตามไม่ทัน สามารถ “กดย้อนหลัง” เรียนตามจนเข้าใจได้

เป็นการใช้คอมพิวเตอร์มา “ช่วยครู” ไม่ใช่ “แทนครู”

เช่นเดียวกับ เครื่องมือที่ 3 คล้ายกับเครื่องมือที่ 2 แต่เน้น “ภาษาอังกฤษ” เรียกว่า “วินเนอร์ อิงลิช” ให้เรียนผ่านออนไลน์ ฝึกฟัง-พูด-อ่าน-เขียน มีการให้คะแนนผ่านเกม เพื่อให้สนุกกับการเรียนมากขึ้น

ชวนคนรุ่นใหม่เป็นครูอาสา จูงมือ ‘น้อง’ เรียนรู้ไปด้วยกัน

อายุใครว่าไม่สำคัญ…“Teach for Thailand” หรือ “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง” นับเป็นอีกเครื่องมือที่โดดเด่น และก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมสำคัญในการแก้ปัญหาด้านการศึกษา

รอง ผอ.พัดชาอธิบายว่า กลุ่มครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นจากการชวนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยจากคณะต่างๆ ที่ไม่ใช่คณะครุศาสตร์ แต่มีความสนใจเป็นครูอาสา มาสอนวิชาการเป็นครูให้ แล้วส่งไปสอนตามโรงเรียนเป้าหมาย 2 ปี

“สิ่งที่ได้คือ ได้ครูที่มีวิธีการสอนใหม่ๆ ที่อยู่ในวัยที่ไม่ห่างจากนักเรียนมากนัก พูดภาษาเดียวกัน ทำให้ช่องว่างของการสื่อสารแคบลง นักเรียนก็มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น”

เช่นเดียวกับ “วัยรุ่นอุ่นใจ” เป็นอีกเครื่องมือที่เป็นความร่วมมือกับเครือข่ายจิตอาสา จับมือกับมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาลงไปทำงานกับโรงเรียนในโครงการ ไปหาแกนนำนักเรียน ในชั้น ม.2-ม.6 และช่วยกันคิดว่าในโรงเรียนหรือในชุมชนมีปัญหาอะไร และช่วยกันแก้ไข

ผลที่ได้คือ นอกจากนักเรียนจะได้เรียนรู้การคิดอย่างเป็นระบบ ชุมชนเองก็ได้ประโยชน์ได้แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในชุมชน

ล่าสุด รอง ผอ.พัดชา เพิ่งลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์การทำงานของกลุ่ม “วัยรุ่นอุ่นใจ” ที่โรงเรียนมัธยมป่ากลาง จังหวัดน่าน เล่าว่า ประทับใจในหลายสิ่ง

“ครั้งนี้กลุ่มพี่อาสาเป็น ‘ม้ง’ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และน้องๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นม้งเช่นเดียวกัน สิ่งที่ได้เห็นมันเป็นการช่วยเหลือกันระหว่างพี่กับน้อง น้องบางคนก็ค่อนข้างขาดความอบอุ่น ไม่มั่นใจตัวเอง พอมีพี่เลี้ยงให้พูดคุยปรึกษาปัญหาต่างๆ ทำให้เข้มแข็ง มีความมั่นใจมากขึ้น

“วันสุดท้ายเกิดความเชื่อใจกัน ก่อนกลับเขามีสัญญาใจกันว่า จะกลับมาเยี่ยมน้อง แล้วกอดกันร้องไห้”

สร้างแรงบันดาลใจแล้วไปให้ถึง ‘ครูแนะแนว’ หัวใจของโรงเรียน

นอกจากทุนการศึกษา ตำรา สื่อการเรียนการสอน อีกหัวใจสำคัญคือ “ครูแนะแนว” เป็นที่ปรึกษาที่ช่วยให้เด็กแต่ละคนเห็นศักยภาพของตน จะช่วยเปิดโลกกว้างให้เห็นทางเลือกของอาชีพต่างๆ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กที่จะกล้าเดินตามฝันของตนเอง

“โรงเรียนโดยมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด วิชาแนะแนวไม่ค่อยได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่มันสำคัญมาก เพราะนักเรียนจะได้รู้ว่าตัวเองอยากจะเป็นอะไร และมีอาชีพอีกมากมายในโลกนี้ที่เขาอาจจะไม่รู้จัก และไม่รู้ว่าแท้ที่จริงตัวเองถนัดด้านไหน และต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติมเพื่อจะเป็นในสิ่งที่เขาเป็นได้” รอง ผอ.พัดชา บอก

วิชาแนะแนวจึงเป็นจุดเปลี่ยนความคิด และอาจจะเป็นอนาคตทั้งชีวิตของเด็กแต่ละคน

“อาชีฟ” (A-chives) เป็นอีกเครื่องมือสำคัญของการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา เป็นโครงการอบรมครูแนะแนวถึงสิ่งที่ครูควรไปทำที่โรงเรียน เช่น ทำอย่างไรให้เด็กรู้จักศักยภาพ รู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง และที่สุดรู้ว่าควรพัฒนาตัวเองอย่างไร

เช่น กรณีของ “จอร์ช” ซึ่งมีทั้ง “อาชีฟ”, “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” ไปคุยให้เข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องเลิกเรียนตอนนี้เพื่อไปขี่มอเตอร์ไซค์ แต่เรียนเพิ่มเติมเรื่องเครื่องยนต์ จะสามารถไปเปิดร้านมอเตอร์ไซค์ของตัวเอง และสามารถมีอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้

“โครงการอาชีฟเป็นโครงการที่ช่วยให้ครูนำสิ่งที่ได้เรียนมาใช้ในโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กรู้ถึงศักยภาพของตนเอง และพัฒนาข้อด้อย โดยครูเป็นคนคอยให้ข้อมูล และคอยสนับสนุนให้เด็กได้ไปในสิ่งที่เขาอยากไป รวมทั้งครูที่ได้รับการเทรนยังสามารถเป็นเทรนเนอร์ให้กับโรงเรียนอื่นๆ ได้ด้วย เป็นการนำกระบวนการนี้ไปขยายต่อไป”

ปัจจุบันแม้จะเพิ่งมีการอบรมครูแนะแนวเป็นครั้งแรก มีครูทั้งหมด 25 คน จาก 18 โรงเรียน แต่ รอง ผอ.พัดชาบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำเวิร์กช็อปที่ผ่านมา ครูแนะแนวจะมาแชร์กันว่าปัญหาที่เจอมีอะไร แชร์การแก้ปัญหา นอกจากได้ความรู้ ยังทำให้ครูแต่ละคนมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป ซึ่งการได้พูดคุยเช่นนี้เกิดเป็นเครือข่าย เกิดเป็นแรงกระเพื่อมที่จะไปทำต่อ

“ทั้ง 6 เครื่องมือนี้เราใส่ลงในโรงเรียนเดียวกัน เราเชื่อว่าการพัฒนาต้องพัฒนาไปในทุกมุมทุกมิติ”


ผ้าป่าร้อยพลังการศึกษา

โครงการร้อยพลังการศึกษา เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว โดยต่อยอดจากมูลนิธิยุวพัฒน์ ที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสมา 25 ปี ซึ่งแต่เดิมใช้เพียงเครื่องมือที่ 1 แม้ว่าที่ผ่านมาจะช่วยให้เด็กๆ จบการศึกษาไปเป็นจำนวนมาก และหลายๆ คนกลับมาช่วยเหลือน้องๆ ต่อ แต่ก็มีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่เพียงแค่ “ทุน” ไม่สามารถทำให้ก้าวพ้นปัญหาได้ จึงคิดเครื่องมือขึ้นมาเพิ่มเติมทีละเครื่องมือ จนปัจจุบันมีทั้งหมด 6 เครื่องมือเพื่อให้ครบมิติของการแก้ปัญหา

เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไป จึงมีการระดมทุนด้วย “โครงการผ้าป่าการศึกษา” ณ วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ วันที่ 18 มิถุนายน 2561 (รายละเอียดบริจาคที่ www.tcfe.or.th) สำหรับการทำงานในปีการศึกษาหน้า 51 โรงเรียน ใน 52 จังหวัด ซึ่งตั้งเป้าจะขยายความช่วยเหลือต่อไปถึง 100 โรงเรียนทั่วประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image