‘End-To-End Mobile@1745’ ประชาชนอุ่นใจ เพิ่มความมั่นใจต่างชาติรองรับการเปิดประเทศ

หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลก็ใส่เกียร์เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นการเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเอสเอ็มอีและภาคธุรกิจรายย่อยที่ลมหายใจกำลังรวยริน ให้พลิกฟื้นกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง

หนึ่งในแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้ผลดีก็คือการเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งออกแคมเปญต่างๆ เพื่อเชิญชวนคนไทยท่องเที่ยวในประเทศกันเอง เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจีดีพีอันดับต้นๆ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่จะเป็นไฮซีซั่นของฤดูกาลท่องเที่ยว เคยสร้างรายได้มหาศาลก่อนจะมีโควิด-19

อย่างไรก็ดี ขณะที่วันแรกของการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังคงมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เมื่อบวกกับมาตรการคลายล็อกในหลายๆ กิจกรรม แม้ว่าจะยังมีเงื่อนไขของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเคร่งครัดก็ตาม และถึงแม้จะมีการฉีดและกระจายวัคซีนไปเกือบทั่วประเทศแล้ว แต่พวกเราคนไทยก็ยังคงต้องระมัดระวังอย่างถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดโควิด-19 ระบาดคลัสเตอร์ใหม่อีกระลอก

ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่โควิด-19 มาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2563 ทุกคนตื่นตระหนกเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่มาก รวมถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตยังอยู่ในหลักสิบ แต่ด้วยมาตรการควบคุมและป้องกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบในแง่ความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ

Advertisement

จนเมื่อเกิดการระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 รุ่นกลายพันธุ์ตั้งแต่ต้นปี ไล่มาจนถึงจุดพีคสุดๆ เมื่อกลางปี จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่อยๆ สะสมในระดับ 10,000 – 20,0000 กว่าคนต่อวัน เหล่าบุคลากรทางการแพทย์หรือนักรบด่านหน้าเริ่มหมดแรงลงไปทุกที อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็เริ่มขาดแคลน เรียกว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต เป็นที่มาของการร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องคนไทยและองค์กรหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ ผนึกกำลังพร้อมยื่นมือช่วยเหลือเพื่อให้สถานการณ์ที่เลวร้ายนั้นคลี่คลายลงไปให้ได้

ในช่วงเวลานั้นเราได้เห็นฮีโร่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการเตียงเพื่อเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และกลุ่ม ปตท. ที่ได้จัดตั้งโครงการลมหายใจเดียวกัน เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 อย่างจริงจัง

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ มาจากการที่พบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการอยู่ในระดับร้ายแรงจำนวนมาก เมื่อสำรวจโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยขั้นวิกฤตถึงความต้องการอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ก็พบว่าจำเป็นต้องมีเครื่องช่วยหายใจที่โรงพยาบาลทั่วประเทศกำลังอยู่ในภาวะขาดแคลน 

Advertisement

โครงการลมหายใจเดียวกันในระยะแรกจึงเป็นการเร่งส่งมอบเครื่องช่วยหายใจและเครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูงเพื่อยืดต่อลมหายใจของผู้ป่วยในขั้นวิกฤตของแต่ละโรงพยาบาลจำนวนกว่า 400 เครื่อง พร้อมสนับสนุนออกซิเจนเหลวแก่โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ระบาดหนักทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค รวมถึงกว่า 300 แห่ง

ต่อมาเป็นการสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง และร่วมจัดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกในพื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงสูง กระทั่งสถานการณ์การระบาดวิกฤตยิ่งกว่าเดิม ปตท. และบริษัทในกลุ่มจึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ และโรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)

ถือเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบครบวงจร มีการดำเนินการในแบบ ‘ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว’ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ซึ่งหมายถึงลดโอกาสเสียชีวิตลง โดยประกอบไปด้วย 4 จุดหลัก เริ่มจากหน่วยคัดกรองที่อาคาร EnCo ถนนวิภาวดีรังสิต สำหรับเป็นจุดคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโดยใช้ชุดตรวจ ATK ถ้าพบว่ามีการเสี่ยงติดเชื้อ จะนำส่งตรวจ RT-PCR ต่อ หากตรวจพบเชื้อในระดับสีเขียวก็จะมอบกล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน  ในกล่องมีชุดอุปกรณ์การทางแพทย์ ยาฟาวิพิราเวียร์ และอื่นๆ สำหรับใช้ดูแลตัวเองเบื้องต้นที่บ้านหรือในชุมชน พร้อมกับมีระบบติดตามอาการผู้ป่วย

จุดต่อมาเป็นโรงพยาบาลสนามครบวงจรรองรับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อทุกระดับความรุนแรง ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ โดยโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเขียวกระจายอยู่ตามโรงแรมในกรุงเทพฯ กว่า 1,000 เตียง ส่วนโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง จำนวน 300 เตียง แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยสีแดงจะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามระดับวิกฤต ICU บนพื้นที่ 4 ไร่ของโรงพยาบาลปิยะเวท สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้ถึง 120 เตียง

สำหรับผลงานของหน่วยตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่อาคาร EnTer ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมเป็นต้นมานั้น ได้ตรวจคัดกรองประชาชนไปแล้วกว่า 48,000 คน พบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อและทำการตรวจยืนยันเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาไปแล้วกว่า 3,400 คน รักษาหายจนกลับบ้านได้ 3,200 คน นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้บริการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 สำหรับผู้ที่เข้ามาตรวจคัดกรองและยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดใดมาก่อน

และถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขณะนี้เริ่มแผ่วเบา แต่โควิด-19 ยังไม่จบ ดังนั้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตภายหลังจากรัฐบาลตัดสินใจเปิดประเทศ กลุ่ม ปตท. จึงร่วมกับพันธมิตรทางการแพทย์อย่างโรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้งจิตอาสา ‘End-To-End Mobile@1745’ ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน ด้วยการระดมพนักงานจิตอาสามาให้บริการรับสายเรียกเข้าจากผู้ที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเองจากชุดตรวจคัดกรองแบบเร่งด่วน (ATK) แล้วพบผลตรวจเป็นบวก 

นอกจากจะให้คำแนะนำอย่างทีทันทีแล้ว ยังมีการติดต่อประสานงานส่งรถพยาบาล พร้อมกับลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือถึงบ้าน โดยจะนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม  เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างต่อเนื่องครบวงจรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยยังมีอยู่ครบทั้ง Hospitel โรงพยาบาลสนามสีเหลือง และโรงพยาบาลสนามระดับวิกฤต ICU อีกทั้งสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะโรคไตและต้องฟอกไตด้วย สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1745 และ Line Official Account :   ลมหายใจเดียวกันATK  โดยสามารถค้นหาด้วยการพิมพ์ @ptt.covid-atk ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง 

โครงการลมหายใจเดียวกัน และ ‘End-To-End Mobile@1745’ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของพลังจากภาคเอกชน เพื่อสร้างความอุ่นใจ ความปลอดภัยด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชน แบ่งเบาภาระภาครัฐ ที่สำคัญสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวต่างชาติที่กำลังจะมาเยือนประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image