มจพ. ประกาศผลการแข่งขัน ‘TOI’ ครั้งที่ 14

จบไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 14 (The 14th Thailand Olympiad in Informatics : 14th TOI) โดยภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เมื่อวันที่ 19-22 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ หอประชุมประดู่แดง มจพ. ซึ่งมีผู้คว้าเหรียญทองได้ถึง 9 คน เหรียญเงิน 12 คน และเหรียญทองแดง 20 คน

ตลอดการแข่งขัน ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. ได้สนับสนุนทั้งสถานที่และบุคลากรด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในการดำเนินการจัดการแข่งขัน พร้อมจัดกิจกรรมอย่างเต็มที่ ทั้งกิจกรรมของคณาจารย์และกรรมการกลาง และกิจกรรมของนักเรียน โดยภาพรวมของการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติปีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือ มีความคล้ายกับขอบเขตเนื้อหาวิชาโครงสร้างข้อมูลและอัลกอริทึมที่มีสอนในหลักสูตร ป.ตรี และเทียบเคียงกับขอบเขตเนื้อหาวิชาในการแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเวทีการแข่งขันที่ประเมินความสามารถของนักเรียนที่ผ่านการอบรมจากศูนย์
สอวน. ทั่วประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ผู้มีความสามารถพิเศษด้านคอมพิวเตอร์ได้พัฒนามาตรฐานด้านวิชาการของตนเองเพิ่มขึ้น ตลอดจนช่วยยกระดับมาตรฐานความรู้ทางคอมพิวเตอร์ของไทยไปสู่มาตรฐานระดับสากล

ผศ.ดร.อนุสรา ศรีสรวล ประธานศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. มจพ. กล่าวสรุปผลการแข่งขันในพิธีปิดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 14 ณ หอประชุมเบญจรัตน์ มจพ. ว่า การแข่งขันในครั้งนี้ ได้มีนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 94 คน จากศูนย์ สอวน. 13 ศูนย์ทั่วประเทศ กิจกรรมการแข่งขันประกอบการด้วย การสอบภาคทฤษฎี ข้อสอบ และเกณฑ์การตัดสินผลการสอบ โดยได้ผ่านการกลั่นกรองด้วยความรอบคอบโดยคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ สำหรับการมอบรางวัลในครั้งนี้ มีรางวัลประเภทรายบุคคล แบ่งเป็นรางวัลดีเยี่ยมเหรียญทอง รางวัลดีมากเหรียญเงิน รางวัลดีเหรียญทองแดง นอกจากนี้ ยังได้มีการมอบรางวัลคะแนนรวมสูงสุด 3 อันดับแรกของการแข่งขัน รางวัลคะแนนสูงสุดระดับภูมิภาค รวมไปถึงยังมีรางวัลพิเศษให้กับผู้ที่เป็นสุดยอดทางความคิดและสู้อย่างไม่ย่อท้อ นั่นคือรางวัล  Best Solution และรางวัล Strong Come Back อีกด้วย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียนที่ได้รับรางวัลทั้งหมด จะได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

รศ.ดร.สุรพันธ์ ยิ้มมั่น คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. กล่าวเสริมว่า การจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 14 เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมาตรฐานทางการศึกษาทางคอมพิวเตอร์ ร่วมกับศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ โดยผลลัพธ์ของการแข่งขันในครั้งนี้จะนำไปสู่ขั้นตอนการป้อนนักคอมพิวเตอร์รุ่นเยาว์ที่มีศักยภาพทางปัญญาสูงจำนวนหนึ่ง ทั้งยังนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักเรียน คณาจารย์ที่เป็นผู้แทน สอวน. และผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของแต่ละศูนย์ สอวน. อันจะทำให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรในรายวิชาการเขียนโปรแกรมให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และมีมาตรฐานทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่สูงขึ้นทัดเทียมกับมาตรฐานสากล

Advertisement

นักคอมพิวเตอร์รุ่นเยาว์

นายพิพัฒน์ แซ่โง่ว ผู้เข้าแข่งขันจากศูนย์ สอวน. มจพ. หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลเหรียญเงิน เล่าว่า โจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันถูกออกแบบมาให้สามารถแก้ไขโดยใช้อัลกอริทึม โจทย์บางข้อต้องแก้ไขด้วยอัลกอริทึมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความยากง่ายแตกต่างกัน สำหรับปีนี้ถือว่าโจทย์ยากกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความรู้ที่ทางศูนย์สอนมา ก่อนมาแข่งขันตนก็ได้ฝึกทำโจทย์ผ่านเว็บออนไลน์ ขณะเดียวกันทางศูนย์ก็จัดให้มีคนมาออกโจทย์ติวให้ด้วย และก็มีการอ่านหนังสือเกี่ยวกับอัลกอริทึมคลาสสิค ในวันแข่งขันก็กดดันบ้างเพราะต้องแข่งกับคนเก่งอีกหลายคน ซึ่งหลังจากนี้ตนก็อยากไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ โดยสิ่งหนึ่งที่ตนอยากทำคือ สร้างงานวิจัยด้านนี้เพื่อพัฒนาวิชาการของประเทศ

นายพชร เหลืองเรืองเวช” ผู้เข้าแข่งขันจากศูนย์ สอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง และได้รับรางวัล Best Solution บอกว่า ส่วนตัวไม่ได้มีความถนัดด้านใดเป็นพิเศษ แค่เวลาเห็นของแปลก จะชอบทำวิธีประหลาดๆ ขึ้นมาและใช้ดู โดยในปีที่แล้วได้รับเหรียญทองแดง ก็ทำโจทย์ให้มากขึ้น หลากหลายขึ้น มาในปีนี้ก็ทำเต็มที่ที่สุด และก็หวังเอาไว้ว่าจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทย ได้ไปแข่งขันระดับนานาชาติที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนกันยายนต่อไป ท้ายนี้ก็อยากฝากถึงน้องๆ ที่จะเข้าแข่งขันกันปีหน้า การซ้อมโจทย์สำคัญเป็นอันดับหนึ่ง พยายามซ้อมโจทย์ให้มากๆ เพราะโจทย์วนเวียนอยู่ที่เดิม ไม่ได้แปลกใหม่ไปกว่าของเดิม

Advertisement

นับเป็นอีกเวทีการแข่งขันที่กระตุ้นให้เกิดบรรยากาศด้านวิชาการ ให้เยาวชนไทยสนใจศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการนำประเทศไทยให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 สำหรับการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งต่อไป ศูนย์ สอวน. ม.บูรพา จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และยังคงติดตามข่าวสารการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติได้ที่ เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/14th TOI

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image