บีทีเอส ขัดข้องถี่ ชาวเน็ต จี้ยกเลิกสัมปทาน

จากปัญหารถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องบ่อย โดยเฉพาะเดือนมิถุนายนนี้ ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 26 มิถุนายน ก็มีปัญหาระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องอีกในสายสุขุมวิท และสายสีลม ทำให้เฉพาะเดือนมิถุนายนนี้รถไฟฟ้าบีทีเอสเสียไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งแล้ว และเมื่อนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เป็นต้นมา มีสถิติการเสียทุกเดือนจนถึงปัจจุบัน รวมบีทีเอสเสียเกือบ 30 ครั้ง ทำให้ชาวทวิตเตอร์ต่างระบายความรู้สึกต่อเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านแฮชแท็ก #ยกเลิกสัมปทานbts

ส่วนใหญ่ระบุว่า ออกจากบ้านปกติแต่ต้องไปทำงานสาย หรือไปเรียนไม่ทัน เพราะรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดเหตุขัดข้อง ขณะที่บางคนหลังเลิกงานก็อยากรีบกลับบ้านไปพักผ่อน แต่ต้องมาแออัดรอรถไฟฟ้าบีทีเอสบนสถานี เป็นต้น อย่างไรก็ตามวันที่ 25 มิถุนายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ก็ได้เรียกบีทีเอสมาชี้แจงเรื่องที่ขัดข้องบ่อย และแนวทางแก้ไขปัญหา

ด้าน นายอาณัติ อาภาภิรมย์ กรรมการบริษัท รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า สาเหตุของการขัดข้องเบื้องต้นมาจากปัญหาระบบอาณัติสัญญาณถูกคลื่นวิทยุสื่อสารรบกวน จึงจำเป็นต้องปรับระบบจากเดินรถอัตโนมัติมาเป็นเดินรถแบบแมนนวล แต่ปัญหาคลื่นวิทยุสื่อสารเป็นการก่อกวนหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปตรวจสอบ แต่เบื้องต้นยอมรับว่าเส้นทางของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่วิ่งผ่านใจกลางเมืองมีตึกสูงจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาคลื่นวิทยุรบกวนอาณัติสัญญาณบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่อยากโทษใคร และพยายามแก้ไขปัญหาไปตามอุปสรรคที่เกิดขึ้น

Advertisement

ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเสียบ่อยมากในเดือนนี้ น่าจะมาจากการได้รับผลกระทบจากคลื่น 2300 MHz ที่ดีแทคเพิ่งเปิดให้ใช้เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้ชี้แจงว่า การใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของดีแทคและทีโอทีไม่ได้ส่งคลื่นใดๆ ออกมานอกเหนือจากแบนด์ที่ทีโอทีได้รับการจัดสรรมา ซึ่งไม่น่าเป็นสาเหตุของการขัดข้องในการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสตามที่เป็นข่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image