สทนช.เปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคตะวันออก-เดินหน้ากำหนดขอบเขตลุ่มน้ำใหม่ทั่วประเทศ

นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการแบ่งลุ่มน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำเป็น 25 ลุ่มน้ำหลัก และ 254 ลุ่มน้ำสาขา แต่ยังมีลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำย่อยบางส่วนที่ยังไม่เชื่อมโยงสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม นอกจากนี้ยังพบว่าลุ่มน้ำหลักหลายลุ่มน้ำมีขนาดเล็ก บางลุ่มน้ำหลักมีความสัมพันธ์เชิงอุทกวิทยาและการบริหารจัดการที่คาบเกี่ยวกับลุ่มน้ำหลักอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละลุ่มน้ำ จึงจำเป็นต้องทบทวนการกำหนดขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดย สทนช. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษาทบทวนการกำหนดขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบจากการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่ให้เหมาะกับการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ตลอดจนศึกษาผลกระทบของการกำหนดลุ่มน้ำในเชิงบริหารจัดการน้ำ กฎหมาย การปกครอง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

พร้อมทั้งวิเคราะห์แบ่งขอบเขตของลุ่มน้ำย่อยและสาขาย่อย ให้เหมาะสมกับการนำมาใช้ในสนับสนุนงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในกรณีภาวะน้ำท่วม และการขาดแคลนน้ำ โดยได้วางเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งขอบเขตลุ่มน้ำ อย่างน้อย 4 ระดับ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำประธาน ลุ่มน้ำหลัก ลุ่มน้ำย่อย และลุ่มน้ำสาขาย่อย ซึ่งจะมีลุ่มน้ำประธานทั้งหมด 10 กลุ่มลุ่มน้ำ หรือคลัสเตอร์ลุ่มน้ำ และจะมีการจับกลุ่มลุ่มน้ำหลักจาก เดิม 25 ลุ่มน้ำใหม่

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ของเขตลุ่มน้ำประธาน ลุ่มน้ำหลัก ลุ่มน้ำย่อย และลุ่มน้ำสาขาย่อย ที่มีความละเอียดถูกต้องบนแผนที่มาตรส่วน 1:4,000 เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลแผนที่สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบนโปรแกรม Google Earth ที่สามารถเรียกใช้งานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งทำการศึกษาและกำหนดลักษณะรายละเอียดการใช้น้ำ หลักเกณฑ์วิธีการแบ่งประเภทการใช้น้ำแต่ละประเภท และศึกษาแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราการคิดค่าใช้น้ำไปพร้อมๆ กันด้วย

อย่างไรก็ตาม การทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่ดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละลุ่มน้ำ สทนช.จึงจัดให้มีเวทีชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนได้รับทราบ โดยจะกระจายจัดเวทีในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ 8 พื้นที่ๆ ละ 2 ครั้ง เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ อันจะนำมาซึ่งผลการศึกษาที่รอบด้านและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายต่อไป

ขณะเดียวกัน วันที่ 4 ก.ค. สทนช. มีการจัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาทบทวนแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสม (ภาคตะวันออก) ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ B โรงแรมซันไรส์ลากูน โฮเทลแอนด์กอล์ฟ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อนำเสนอเกณฑ์การแบ่งพื้นที่ลุ่มและรับฟังความคิดเห็นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบ

Advertisement

ในโอกาสเดียวกัน สทนช. ยังจะมีการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาน้ำตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำบางปะกง ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ของกรมชลประทาน และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ต.ดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

“สทนช. คาดว่า จะสามารถสรุปรายละเอียดผลการศึกษาการแบ่งลุ่มน้ำใหม่ทั้งลุ่มน้ำประธาน ลุ่มน้ำหลัก ลุ่มน้ำย่อย และลุ่มน้ำสาขาย่อย แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2561 นี้ และมั่นใจว่าการแบ่งลุ่มน้ำใหม่ จะช่วยทำให้การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเท่าทันต่อสถานการณ์น้ำในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” ผู้อำนวยกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image