วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกษตรพัฒนา ตัวอย่างความเข้มแข็งของชุมชน

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ได้ดำเนินการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบรวม 8 จังหวัดภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาครและสุพรรณบุรี โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ สนับสนุนให้มีการร่วมมือซึ่งกันและกันของคนภายในชุมชน เพื่อนำวัตถุดิบ ทรัพยากร หรือภูมิปัญญาของชุมชนมาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น ก่อเกิดความเข้มแข็ง สร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับวิสาหกิจชุมชน

นางอ้อมทิพย์ สุทธิพงศ์เกียรติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชน เป็นรูปแบบของการรวมตัวของคนในชุมชน เพื่อร่วมกันดำเนินกิจการด้วยการผลิตสินค้าหรือให้บริการด้านต่างๆ เน้นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้เกิดกับคนในชุมชนนั้นๆ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานที่สำคัญ โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันตก โดยในกลุ่มที่เข้มแข็งอยู่แล้วก็พัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าหรือบริการให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ส่วนกลุ่มไหนที่ผลประเมินอยู่ในขั้นต้องปรับปรุง ก็จะส่งเสริมให้เขามีการจัดทำแผนพัฒนาว่าสมาชิกกลุ่มอยากทำอะไร ทางเจ้าหน้าที่จะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้หรือพาไปอบรม ดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

ตัวอย่างวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกษตรพัฒนา ต.เกษตรพัฒนา อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชน ทำผลิตภัณฑ์แปรรูปน้ำสมุนไพร จากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น จนประสบความสำเร็จสินค้าได้มาตรฐานผ่านการรับรองจาก อย. ทุกชนิด มีออเดอร์สั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนผลิตแทบไม่ทัน สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับสมาชิก

 

Advertisement

ผอ.อ้อมทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกษตรพัฒนา จะพบว่ารูปแบบการดำเนินงานของกลุ่มนี้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งความสะอาดและปลอดภัย แต่สิ่งหนึ่งที่พบคือสมาชิกมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างมาก อาจจะต้องมีการนำลูกหลานหรือยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) เข้ามาช่วยเสริม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรือแพ็คเกจจิ้ง ซึ่งตอนนี้ยังเป็นรูปแบบธรรมดา ที่วางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป หากพัฒนาให้มีรูปแบบที่ทันสมัย สามารถมอบให้เป็นของฝากของขวัญเพื่อสุขภาพได้ก็จะยกระดับสินค้าไปสู่ตลาดอีกระดับหนึ่งได้ ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 มีโครงการที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ชื่อว่า FIN FIN ในการพัฒนารูปแบบแพ็คเกจจิ้งให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งในปี 2562 จะพิจารณานำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่สากลยิ่งขึ้น เนื่องจากมองว่ากลุ่มนี้มีศักยภาพสามารถพัฒนาต่อยอดได้ แม้ตอนนี้เขาจะผลิตไม่ทันความต้องการแล้วก็ตาม แต่เราอยากให้เขาเหนื่อยเท่าเดิมแต่มีรายได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ด้านนางสมศรี เกตุแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกษตรพัฒนา เล่าว่า ตอนแรกที่ก่อตั้งกลุ่มภายใต้ชื่อกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านเกษตรพัฒนา เริ่มมาตั้งแต่ปี 2528 เพื่อรวมกลุ่มสมาชิกหารายได้เสริมหลังจากว่างจากการทำการเกษตร ซึ่งก็ทำมาหลายอย่างเริ่มจากทำดอกไม้จันท์ ผลไม้หยี ผลไม้อบแห้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จจำหน่ายได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงได้มีการปรับความคิดเปลี่ยนมาเป็น ทำน้ำผลไม้ที่สามารถหาวัตถุดิบได้ท้องถิ่น เช่น น้ำฝรั่ง น้ำองุ่น น้ำลำไย น้ำข้าวโพด เป็นจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2540 โดยได้รับการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ อบรมขั้นตอนและกระบวนการผลิตน้ำผลไม้แปรรูป และได้ส่งสมาชิกกลุ่มไปอบรมพัฒนาศักยภาพกับหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จนสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักและจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

 

หลังจากนั้นปี 2543 พื้นที่ในชุมชนมีการปลูกว่านหางจระเข้กันเยอะมาก โรงงานรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 2 บาท และบางครั้งก็ไม่มารับซื้อตามสัญญา ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จึงได้ลองทำน้ำว่านหางจระเข้พร้อมดื่มแบบจริงจัง โดยรับซื้อว่านหางจระเข้จากเกษตรกรในพื้นที่ โดยประกันราคากิโลกรัมละ 4 บาท ได้คิดค้น ปรับปรุงสูตรจนได้รสชาติตามที่พอใจ จึงผลิตออกวางจำหน่าย ซึ่งในช่วงแรกสินค้ายังไม่ได้รับความนิยมก็ต้องไปออกร้าน ประชาสัมพันธ์ตามงานต่างๆ จนทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้าง  เมื่อปี 2549 ได้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกษตรพัฒนา โดยขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านแพ้ว กรมส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตน้ำว่านหางจระเข้พร้อมดื่ม (กลิ่นใบเตย ลิ้นจี่ องุ่น) และน้ำสมุนไพรพร้อมดื่ม (น้ำเก๊กฮวย น้ำเฉาก๊วย น้ำตะไคร้ น้ำอัญชัน และน้ำมะตูม) โดยสินค้าทุกชนิดได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย.

 

กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ต้องผ่านอุปสรรคมาหลายรูปแบบ เช่น การให้เครดิตลูกค้านำสินค้าไปขายก่อนแล้วจ่ายทีหลัง เมื่อถึงเวลาชำระเงินมีการตีคืนสินค้าเสียหายเพราะไม่ได้แช่เย็น ทำให้กลุ่มขาดทุน จึงมีกฎเกณฑ์ว่าจะไม่ส่งสินค้าที่ไหน ลูกค้าต้องเป็นผู้มารับสินค้าเองที่สถานที่ผลิตและรับผลิตตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น เน้นผลิตใหม่สดวันต่อวัน และไม่รับเปลี่ยนคืนหากสินค้าเสียหายจากการที่ลูกค้าไม่รักษาคุณภาพสินค้า ไม่แช่เย็น และไม่เปิดเครดิตสินค้า รับชำระเป็นเงินสดเท่านั้น โดยได้กำหนดราคาขายส่งไว้ต่ำ มีผลกำไรจากราคาทุนเพียงเล็กน้อย แค่พออยู่ได้ เน้นส่งเสริมให้สมาชิกมีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ซึ่งก็ทำให้สมาชิกทุกคนอยู่ได้ ชุมชนมีความเข้มแข็ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image