เตือนภัย!!!เฝ้าระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดนาข้าว

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญของข้าวตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ศัตรูข้าวในพื้นที่ เริ่มพบการทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดในแถบภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับในช่วงนี้หลายพื้นที่ฝนเริ่มทิ้งช่วง สภาพอากาศร้อน อุณหภูมิและความชื้นเหมาะต่อการเพิ่มจำนวนประชากรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ดังนั้น ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดทันที

สำหรับลักษณะของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร กว้าง 1 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) และชนิดปีกสั้น (brachyterous form) เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวบริเวณโคนต้นเหนือระดับน้ำ ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตช้า แสดงอาการใบเหลือง ถ้าระบาดรุนแรง ต้นข้าวจะแสดงอาการไหม้แห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวกเรียกว่า ฮอพเพอร์เบิร์น “hopper burn” ทำให้ต้นข้าวแห้งตายได้ อีกทั้งเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำเชื้อสาเหตุของโรคใบหยิก (ragged stunt) และโรคเขียวเตี้ย (grassy stunt) อีกด้วย

ในส่วนของแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นั้น กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ในฤดูปลูกถัดไปควรปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น กข4 กข9 กข15 กข25 กข31(ปทุมธานี 80) กข43 ชัยนาท 1ชัยนาท 2 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 3 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี90 พิษณุโลก 2 พิษณุโลก 60-2 และไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก หรือในแหล่งที่มีการระบาด และควบคุมระดับน้ำในนาได้หลังปักดำหรือหว่าน 2 – 3 สัปดาห์จนถึงระยะตั้งท้องควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7 – 10 วัน ปล่อยน้ำขังทิ้งไว้ให้แล้วปล่อยให้แห้งเองสลับกัน หรือใช้เชื้อราบิวเวอเรีย (เชื้อสด) อัตรา 1 กิโลกรัม(2 ถุง) ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในบริเวณที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในเวลาเย็น หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแนะนำให้ใช้สารเคมี ดังนี้

Advertisement

1. ข้าวระยะกล้าถึงแตกกอ (อายุ 30-45 วัน) ใช้ บูโพรเฟซิน 25% WP , บูโพรเฟซิน 10% WP , โพรเฟซิน 5% WP + ไอโซโปรคาร์บ 20 % WP อัตราตามคำแนะนำการใช้ หรือ

2. ข้าวระยะแตกกอเต็มที่ ใช้ อีโทเฟนพร็อกซ์ 10 % EC , อีโทเฟนพร็อกซ์ 5 % EC , คาร์โบซัลเฟน 20 % EC , ฟีโนบูคาร์บ 50 % EC , ไฮโซโปรคาร์บ 50 % WP อัตราตามคำแนะนำการใช้ หรือ

3. ข้าวระยะตั้งท้องถึงออกรวง ใช้ ไดโนทีฟูแรน 10 % WP , ไทอะมิโทแซม 25 % WG , โคลไทอะนิดิน 16 % , อิมิดาโคลพริด 10 % SL , อีทีโพรล 10 % อัตราตามคำแนะนำการใช้ หรือ

Advertisement

หมายเหตุ : สารเคมีบางชนิดที่ไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าวเนื่องจากจะทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดเพิ่มขึ้นเป็นสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ได้แก่ แอลฟาไซเพอร์เมทริน 10 % EC ชนิดพ่นน้ำ , ไซแฮโลทริน แอล 5 % ECชนิดพ่นน้ำ , ไซเพอร์เมทริน 15 % EC 25 % EC ชนิดพ่นน้ำ

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2955-1514 , 0-2955-1626 หรือ https://www.doae.go.th/doae/upload/files/Rice_BPH_270661.pdf

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image