ยกระดับเกษตรกรสู่นักธุรกิจ “SMEs เกษตร” ปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย

ขณะนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินกิจกรรม “เปลี่ยนเกษตรกรเป็นนักธุรกิจการเกษตร” ภายใต้โครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ เบื้องต้นได้เร่งทยอยจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ความใจการเป็นผู้ประกอบการให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯไปแล้วกว่า 10,000 คน จากเป้าหมาย 55,000 คน 300 กลุ่มทั่วประเทศ โดยเน้นให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการเป็นหลัก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของกลุ่มเกษตรแปรรูปให้มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการจัดฝึกอบรมให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในเดือนกันยายน 2561 นี้ ​

นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา เกษตรกรมักประสบปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำแทบทุกปี ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรก็เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังเผชิญเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบมากขึ้น หากเกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการประกอบอาชีพจากการผลิตอย่างเดียว โดยพัฒนายกระดับศักยภาพเป็นผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเหมาะสม พร้อมใช้ระบบตลาดนำการผลิต พัฒนาสินค้าใหม่ที่มีความหลากหลายและทันสมัย จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ลดการพึ่งพาพ่อค้ากลาง สร้างอำนาจในการกำหนดราคาผลผลิตและสินค้าเกษตรแปรรูป และช่วยสร้างหลักประกันด้านรายได้และเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกรและครอบครัวได้

จากประเด็นดังกล่าว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินกิจกรรม “เปลี่ยนเกษตรกรเป็นนักธุรกิจการเกษตร” ภายใต้โครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ ตามมติ ครม. เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจเกษตร พร้อมปรับเปลี่ยนแนวคิดเกษตรกร กลุ่มเกษตรแปรรูป วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และประชาชนทั่วไป พัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจเกษตรตามแนวทางเกษตรอุตสาหกรรม

Advertisement

นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดความรู้เพื่อเป็นแนวทางเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้เข้มแข็งและมั่นคง เช่น การบริหารจัดการ การทำบัญชีเดียว การรวมกลุ่มผลิต การใช้การตลาดนำการผลิต เป็นต้น สำหรับเนื้อหาการอบรมมีหลายหัวข้อที่สำคัญ ได้แก่ ทำไมถึงแปรรูปเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า การทำ SMEs เกษตรให้ยั่งยืน การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต แปรรูปและตลาด การบริหารจัดการองค์กร การบริหารจัดการด้านการเงินและการวางแผนธุรกิจ การแปรรูปผลผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การจัดการด้านตลาดออฟไลน์และออนไลน์ การสร้างเครือข่ายตลาดและเชื่อมโยงสินค้า การเป็นนิติบุคคลและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้ง ธ.ก.ส. และ SMEs Bank หรือสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเป็นเครือข่ายพี่ช่วยน้อง จากนั้นจะส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและความพร้อมให้แปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ที่มิใช่อาหาร เป้าหมาย 300 กลุ่ม และส่งเสริมการจัดตั้งหน่วยผลิตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปต้นแบบในพื้นที่ นำร่อง 50 แห่ง

เบื้องต้นคาดว่า เกษตรกรที่ผ่านการอบรมจะปรับเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบการประกอบอาชีพจากผู้ผลิตเพียงอย่างเดียว หันมาแปรรูปผลผลิตเพิ่มมากขึ้น พร้อมคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากผลผลิตการเกษตรป้อนตลาดทั้งภายในและต่างประเทศได้ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมและทันสมัย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังคาดว่าจะสามารถใช้องค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจ SMEs เกษตรที่มีความเข้มแข็งและมั่นคง ช่วยสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อีกทางหนึ่ง

Advertisement

“นอกจากนี้ คาดว่าเกษตรกรจะสามารถเลือกนวัตกรรมที่เหมาะสมมาปรับใช้ต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว และขยายผลสู่เกษตรกรอื่นๆ รวมถึงชุมชนชนและท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากปัญหาหนี้สินและลดปัญหาราคาผลผลิตทางเกษตรตกต่ำ ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรสามารถแข่งขันได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิตัล และยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงท่ามกลางตลาดการค้าเสรี” รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image