กระทรวงศึกษาแมทชิ่งผลงานอาชีวะภาคเหนือ ขับเคลื่อนนำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ผลงานนักเรียนอาชีวศึกษาสู่การใช้จริง

บิ๊กน้อย รมช.กระทรวงศึกษาฯนำทัพ จับมือภาครัฐ เอกชน ภาคเหนือ ร่วมขับเคลื่อนนำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ผลงานนักเรียนอาชีวศึกษาสู่การใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม สร้างความเข็มแข็งระดับภาคและพื้นที่ สนับสนุนภาคเหนือเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงานขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมภาคเหนือ ที่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน จ.ลำพูน ว่า ตามนโยบายเดินหน้า “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ ‘เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม’ (Value–Based Economy)   และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในระดับภาค 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากศักยภาพและภูมิสังคมเฉพาะของพื้นที่ และดำเนินการเชิงรุกเพื่อเสริมจุดเด่นในระดับภาคในการเป็นฐานการผลิตและการบริการที่สำคัญ

ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ แต่ละปีจะมีผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่นักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กว่า 910 แห่ง สร้างสรรค์ขึ้นกว่า 7,000 ผลงาน  และหลายผลงานสามารถต่อยอดสู่การใช้งานได้จริงในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์  ที่ผ่านมาได้จัดโครงการไปแล้วในพื้นที่ภาคตะวันออกและ EEC   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน และครั้งนี้จัดขึ้นที่ภาคเหนือ มีผลงานมาแสดงทั้งสิ้น 170 ผลงาน เกิดการเจรจาจับคู่ผลงานสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษากับภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐ และสหกรณ์ต่างๆ โดยเจรจาเพื่อซื้อ 24 ผลงาน  ให้คำแนะนำเพิ่มเติมแล้วจะซื้อ 17 ผลงาน  ให้โจทย์ใหม่เพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์แล้วจะซื้อ 7 ผลงาน และให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาเพื่อการต่อยอด 122 ผลงาน และครั้งหน้าจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม ในพื้นที่ภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

Advertisement

“สำหรับภาคเหนือที่มุ่งเน้นเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเกษตรและอาหารสุขภาพ ธุรกิจข้าว การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  กระทรวงศึกษาธิการนอกเหนือจากการจัดการศึกษาผลิตบุคคลากรให้ตรงตามบริบทพื้นที่  การส่งเสริมความร่วมมือตามแนวประชารัฐ สนับสนุนการพัฒนาให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาโดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษา  จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแสดล้อม เพื่อให้ทุกพื้นที่ของประเทศ ได้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียม ลดช่องว่างรายได้  และมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับประชาชนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าผลการสร้างรูปธรรมต่างๆจะทำให้นักเรียนนักศึกษา ครู ผู้ปกครองเกิดทัศนคติที่ดีและมีความภาคภูมิใจ  อันจะส่งผลต่อการพัฒนาฐานรากทั้งในระดับพื้นที่ และยกระดับสู่ประเทศได้ในระดับต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image