เทคนิคและวิธีจัดการด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น ศัตรูตัวร้ายของไม้ผลกว่า 50 ชนิด

นายสมศักดิ์ วรรณศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดการศัตรูพืชหลังการเก็บเกี่ยว กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ศัตรูพืชที่สำคัญของไม้ผลมีหลายชนิด ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นเป็นหนึ่งในแมลงศัตรูที่สำคัญในไม้ผล เนื่องจากด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นหรือด้วงบ่าหนามจุดนูนดำ เป็นด้วงหนวดยาวที่พบเจาะกินในกิ่งและลำต้นไม้ผลและไม้ยืนต้นมากกว่า 50 ชนิด เช่น ทุเรียน มะม่วง อาโวคาโด มะม่วงหิมพานต์ หม่อน ยางพารา และต้นไม้บอนไซในสกุลไทร เป็นต้น

การระบาดของแมลงชนิดนี้เกษตรกรจะไม่ทราบ เนื่องจากหนอนด้วงหนวดยาวทำลายอยู่ภายใต้เปลือกของลำต้นที่ไม่สามารถสังเกตเห็นจากภายนอกได้ ตัวหนอนมีหัวสีน้ำตาล ลำตัวสีขาว ยาวไม่มีขา ตัวเต็มวัยมีหนามแหลมอยู่ที่ด้านข้างของอกและที่ไหล่ ปีกแข็งคู่หน้ามีจุดสีเหลืองและแดงกระจายบนปีก มีจุดนูนดำอยู่ที่ฐานปีก หนอนเข้าดักแด้ในลำต้น มี ช่วงอายุ 1 ปี และออกเป็นตัวเต็มวัยในช่วงฤดูฝนราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป

ลักษณะการทำลายตัวเมียวางไข่ในเวลากลางคืนโดยบินมาเกาะและไต่หาตำแหน่งที่เหมาะสมตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ ตัวหนอนจะกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านใน หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น ขณะหนอนยังเล็กอยู่สังเกตแทบไม่เห็นร่องรอยการทำลาย แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอน หนอนที่เจาะกินอยู่ภายในทำให้เกิดยางไหล ส่งผลให้ท่อน้ำ ท่ออาหารถูกตัดทำลาย ใบร่วง กิ่งแห้งตาย ต้นทรุดโทรมและยืนต้นตายได้ในที่สุด เกษตรกรจะสังเกตเห็นก็ต่อเมื่อหนอนโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบลำต้นแล้ว

Advertisement

สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัด เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนผลไม้เป็นประจำ โดยสังเกตรอยแผลจากการวางไข่และการทำลายของหนอนบริเวณลำต้นและกิ่งไม้เก็บทำลายเพื่อตัดวงจรการระบาด นอกจากนี้ สามารถลดจำนวนหนอนโดยกำจัดตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาว โดยใช้ไฟส่องในช่วงเวลา 19.00-24.00 น. หรือใช้ตาข่ายตาถี่พันหลวมๆ รอบต้นเพื่อดักจับตัวเต็มวัยทำลายทิ้ง

สำหรับแหล่งที่มีการระบาดรุนแรงให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดดูดซึม เช่น อิมิดาโคลพริด 10 % เอสแอล อัตรา 30 มิลลิลิตร หรืออเซทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 30 กรัม หรือไธอะมีโทแซม 25% ดับบลิวจี อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร โดยใช้อัตราน้ำ 5 ลิตร/ต้น พ่นให้โชกเฉพาะบริเวณลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ 2 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน ในแหล่งที่มีการระบาดรุนแรง อาจต้องพ่นสารทุกๆ 3 เดือน ที่สำคัญควรกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยตัดต้นที่ถูกทำลายรุนแรงจนไม่สามารถให้ผลผลิตและเผาทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมการระบาดทำความเสียหายต่อต้นอื่นต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image