เตือนเกษตรกร!!!ระวังการระบาดของหนอนห่อใบข้าวศัตรูร้ายในช่วงฤดูฝน

ในช่วงฝนตกชุกในหลายพื้นที่ขณะนี้ ข้าวส่วนใหญ่อยู่ในระยะแตกกอ เฝ้าระวังการระบาดของหนอนห่อใบข้าว หรือหนอนม้วนใบข้าว หนอนกินใบข้าว ซึ่งมักระบาดมากในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในแปลงนาที่มีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือ ปุ๋ยยูเรียมากเกินไป และพบระบาดบ่อยๆ ในนาเขตชลประทาน เกษตรกรจึงควรสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ และสังเกตใบข้าวเมื่อเริ่มพบเป็นรอยสีขาวเป็นทางยาว ใบข้าวแต่ละใบอาจพบรอยกัดกินหลายรอย ใบที่ถูกทำลายรุนแรงจะแห้ง แปลงที่ถูกทำลายมาก ใบข้าวอาจ มีอาการแห้งไหม้คล้ายถูกแดดเผา ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการหาแนวทางควบคุมและป้องกันกำจัดทันที

หนอนห่อใบข้าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cnaphalocrocis medinalis (Guenee) ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนปีกสีน้ำตาลเหลืองมีแถบสีดำพาดที่ปลายปีก ตรงกลางปีกมีแถบสีน้ำตาลพาดขวาง 2-3 แถบ ขณะเกาะใบข้าวปีกจะหุบเป็นรูปสามเหลี่ยม มักเกาะอยู่ในที่ร่มใต้ใบข้าว เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียเล็กน้อย เพศเมียวางไข่เวลากลางคืนประมาณ 300 ฟองบนใบข้าว ขนานตามแนวเส้นกลางใบและสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ไข่มีลักษณะเป็นรูปจานสีขาวขุ่นเป็นกลุ่ม ประมาณ 10-12 ฟอง บางครั้งวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ระยะไข่ 4-6 วัน หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ๆ มีสีขาวใส หัวมีสีน้ำตาลอ่อน หนอนโตเต็มที่มีสีเขียวแถบเหลือง หัวสีน้ำตาลเข้ม หนอนโตเต็มที่จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเมื่อถูกสัมผัส หนอนมี 5-6 ระยะ ส่วนใหญ่มี 5 ระยะ หนอนวัยที่ 5 เป็นวัยที่กินใบข้าวได้มากที่สุด ระยะหนอน 15-17 วัน หนอนเข้าดักแด้ในใบข้าวที่ห่อตัวนั้น ระยะดักแด้ 4-8 วัน ตัวเต็มวัยจะหลบซ่อนบนต้นข้าวและวัชพืชตระกูลหญ้าในเวลากลางวัน และจะบินหนีเมื่อถูกรบกวน

ผีเสื้อหนอนห่อใบข้าวจะเคลื่อนย้ายเข้าแปลงนาตั้งแต่ข้าวยังเล็กและวางไข่ที่ใบอ่อน โดยเฉพาะใบที่ 1-2 จากยอด เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจะแทะผิวใบข้าวส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้เห็นเป็นแถบยาวสีขาว หนอนจะใช้ใยเหนียวที่สกัดจากปาก ดึงขอบใบข้าวทั้งสองด้านเข้าหากันเพี่อห่อหุ้มตัวหนอนไว้หนอนจะทำลายใบข้าว ทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าวถ้าหนอนมีปริมาณมากจะใช้ใบข้าวหลายๆ ใบมาห่อหุ้มและกัดกินอยู่ภายใน ซึ่งปกติจะพบหนอนเพียงตัวเดียวในใบห่อนั้น ในระยะข้าวออกรวงหนอนจะทำลายใบธงซึ่งมีผลต่อผลผลิตเพราะทำให้ข้าวมีเมล็ดลีบ น้ำหนักลดลง หนอนห่อใบสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัยต่อฤดูปลูก หนอนห่อใบข้าวมีพืชอาหารที่สามารถอาศัยในช่วงที่ไม่มีข้าวในแปลงนา คือ อ้อย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หญ้าข้าวนก หญ้าคา หญ้าชันกาด หญ้าไซ หญ้าตีนกา หญ้าตีนนก หญ้าปล้องหิน หญ้าตีนติด

Advertisement

ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบาดของหนอนห่อใบข้าวนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นประจำควรปลูกข้าวสลับกัน ๒ พันธุ์ขึ้นไป กำจัดวัชพืชอาศัย ไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเกิน ๕ กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยยูเรียไม่เกิน ๑๐ กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อพบผีเสื้อหนอนห่อใบข้าว 4 – 5 ตัวต่อตารางเมตร และพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ในข้าวอายุ 15 – 40 วัน ใช้สารกำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น ฟิโปรนิล (แอสเซ็นด์ 5% เอสซี) อัตรา 30 – 50 มิลลิเมตรต่อน้ำ 20 ลิตร เบนซัลแทป (แบนคอล 50% ดับบลิวพี) อัตรา 10 – 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80 – 110 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เฉพาะพื้นที่มีใบถูกทำลายจนเห็นรอยขาวๆ

ข้อสำคัญฝากเกษตรกรว่าไม่ควรใช้สารกำจัดแมลงชนิดเม็ดและสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์หรือสารผสมสาร ไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ในข้าวอายุหลังหว่าน ๔๐ วัน เพราะศัตรูธรรมชาติจะถูกทำลาย ทำให้เกิดการระบาดของหนอนห่อใบข้าวรุนแรงได้ในระยะข้าวตั้งท้อง-ออกรวง

Advertisement

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2955-1514 , 0-2955-1626

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image