ส่องการปฏิรูป “กฎหมายการศึกษาทางเลือก” ที่เหมาะกับคนไทย

เกาะติดกระบวนของการปฏิรูปการศึกษาทางเลือก ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” ณ ห้องประชุมบุษบงกช เอ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ จัดโดย สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2561 ในการเสนอแก้ “ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….” (ฉบับของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ.) โดยมี นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม นายกิตติรัตน์ มังคละคีรี กรรมการสภาการศึกษาและอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านกฎหมายการศึกษา ร่วมรับฟัง และมีผู้แทนจากภาคส่วนราชการ เครือข่าย สพฐ. องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น เอกชน ร่วมสะท้อนปัญหาและเสนอแนวทางปรับปรุงกฎกระทรวง 4 ฉบับ ได้แก่ 1) กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียนรู้ พ.ศ.2554 2) กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ.2554 3) กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ.2555 และ 4) กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ.2547 เพื่อเตรียมการศึกษาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สกศ. กล่าวว่า เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหลายเรื่อง อาทิ จัดให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และพัฒนาครู การปฏิรูปครู การให้ความสำคัญกับเด็กเล็กก่อนเข้ารับการศึกษา และมีการจัดทำกฎหมายการศึกษาชาติเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการพัฒนาการจัดการศึกษาของชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการประเมิน ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ และตรวจสอบกฎหมายการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและนโยบายการปฏิรูปการศึกษา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ รวมถึงสภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว

สำหรับการจะขับเคลื่อนการศึกษาทางเลือกให้รุดหน้าไปได้อย่างรวดเร็วนั้น ย่อมไม่อาจใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว หากต้องใช้กฎหมายลำดับรองที่มีความชัดเจนในรายละเอียดและง่ายต่อการบังคับใช้เข้ามาประกอบ ซึ่ง 4 กฎกระทรวงดังกล่าว ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลในการนำเสนอปรับกฎกระทรวง

โดย “กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547” นั้น คณะผู้ร่วมประชุมชี้ถึงปัญหาในประเด็นแรกถึงการจัดการศึกษาแบบ “โฮมสคูล” ซึ่งมีผู้จัดการศึกษาเป็นบุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากครอบครัวนั้น จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนซึ่งอาจเป็นบุตร-หลาน ของครอบครัวนั้น ในปัจจุบันโดยเฉพาะพื้นที่ กทม. พบว่า มีผู้ที่ได้รับมอบเป็นผู้จัดการศึกษา 1 คน สอนผู้เรียนหลายคน ทำให้ผู้เรียนไม่ได้รับเงินอุดหนุนตามสิทธิและกฎหมาย กรณีดังกล่าวมีข้อเสนอแนะไปในทิศทางเดียวกันว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ควรจะเป็นใครและจำนวนผู้เรียนต้องสอดคล้องกันด้วยหรือไม่ ควรมีการแยกจำนวนและอายุผู้เรียน และอายุต้องสัมพันธ์กับระดับที่เรียนด้วยหรือไม่ เพื่อให้เชื่อมโยงกับนโยบาย สพฐ. ที่ให้เงินอุดหนุนเด็กอายุ 3-20 ปี

Advertisement

ประเด็นที่สอง การจัดการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน นอกจากจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์และวิธีวัดผลและประเมินผลของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว คณะผู้ร่วมประชุมยังให้ความเห็นว่า โฮมสคูลควรมีระบบประกันคุณภาพภายใน รวมถึงอาจต้องรับการประเมินจาก สมศ. ด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ผู้เรียนควรจะได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับการศึกษาในระบบ

อีกประเด็นที่คณะผู้ร่วมประชุมมองว่ามีผลต่อการปฏิบัติงาน คือ การที่ผู้ขออนุญาตจัดการศึกษาไม่ชัดเจน จัดทำแผนการจัดการศึกษาเอง จึงให้นำแผนการจัดการศึกษามายื่นให้พิจารณาโดยเร่งด่วน บางรายไม่ให้ความร่วมมือในการปรับแผนการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ส่งผลให้การพิจารณาอนุญาตจัดการศึกษาล้าช้าเกิน 30 วัน ในที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการขยายเวลาจากเดิม 30 วัน เป็น 45-60 วัน ตามความเหมาะสม

Advertisement

ขณะที่ “กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554” ซึ่งเกี่ยวข้องกับศูนย์การเรียนที่บุคคลจัดตั้งขึ้น เพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่แสวงหากำไรตามกฎกระทรวง โดยผู้จัดการศึกษาได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้จัดตั้งศูนย์การเรียน ในข้อกฎกระทรวงฉบับนี้ทางคณะผู้ร่วมประชุมมองปัญหาที่เกิดขึ้นยังมีเรื่องคุณสมบัติของผู้เรียนที่ซ้ำซ้อนกับผู้เรียนในระบบ ทำให้เกิดปัญหาการแย่งผู้เรียนกัน กับอีกเรื่อง คือ สิทธิและสวัสดิการ การเทียบโอนผลการเรียน และการจัดสรรงบ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ เป็นปัญหาของผู้ปฏิบัติงานที่ควรจะศึกษาการจัดนอกระบบเพิ่มเติมให้มากขึ้น

สำหรับสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะถึง “กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียนรู้ พ.ศ.2554” และ “กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ.2555” คณะผู้ร่วมประชุมพูดคุยถึง 1)คุณสมบัติของผู้เรียนตามกฎกระทรวง 2)คุณสมบัติของผู้จัดการศึกษา 3)หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงศึกษาธิการ 4)หลักสูตรการเรียนการสอน 5)การวัดและประเมินผล 6)การเทียบโอนผลการเรียน 7)อาหารกลางวัน อาหารเสริม (นม) และปัจจัยพื้นฐาน 8)การลดหย่อนภาษี 9)การพัฒนาครูและบุคลากรในศูนย์การเรียน 10)การอุดหนุนเงินเดือนครู และ 11)สถานภาพของศูนย์การเรียน โดยส่วนใหญ่ยังคงมองว่าสภาพปัญหาเป็นเรื่องของกฎกระทรวงเป็นหลักที่จะเป็นตัวเชื่อมไปสู่สายปฏิบัติ

กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะก้าวสู่อนาคตอย่างไร จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน เวทีนี้ถือเป็นอีกเวทีสำคัญที่ได้ผนึกพลังทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนา-จัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ ในอีกรูปแบบหนึ่งอย่างเป็นรูปธรรม นำกฎหมายเดิมมาปัดฝุ่น ปรับปรุงร่างกฎหมายใหม่ ท้ายที่สุดก็เพื่อเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image