เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักตระกูลแตงและตระกูลกะหล่ำ เฝ้าระวังโรคราน้ำค้าง โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องกลางวันอากาศร้อน กลางคืนอากาศเย็น ความชื้นสูงและมีหมอกในตอนเช้า สภาพอากาศเหมาะต่อการระบาดของโรคราน้ำค้าง ซึ่งสามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช กรมส่งเสริมการเกษตรขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกพืชผักอย่างสม่ำเสมอเมื่อเริ่มพบใบพืชเป็นจุดแผลสีเหลือง หรืออาจเป็นปื้นสีเหลือง กรณีสภาพอากาศชื้นในตอนเช้าพลิกดูใต้ใบมักจะพบเส้นใยเชื้อราสีขาวหรือเทาคล้ายปุยฝ้ายให้รีบแจ้งและขอคำแนะนำในการป้องกันกำจัดจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดทันที
เชื้อราสาเหตุโรคราน้ำค้าง คือ เชื้อรา Pseudoperonosporacubensisและเชื้อรา Peronosporaparasitica ซึ่งอาการในพืชผักตระกูลแตงเริ่มแรกจะพบที่ใบล่าง ใบแก่ หรือโคนเถา โดยจะเริ่มเป็นจุดแผลสีเขียวซีดขึ้นก่อน ต่อมาจะค่อยๆ ขยายโตขึ้นเป็นสีเหลือง หรือสีน้ำตาลขนาดเล็ก แล้วขยายขนาดใหญ่ขึ้นเป็นรูปเหลี่ยมอยู่ระหว่างเส้นใบ
ส่วนอาการในพืชผักตระกูลกะหล่ำเริ่มแรกบริเวณหน้าใบเป็นจุดแผลสีเหลือง หรืออาจเป็นปื้นสีเหลืองหากช่วงเช้ามืดพลิกดูใต้ใบตรงกับจุดแผลที่เกิดขึ้นจะพบกลุ่มของเส้นใยเชื้อราลักษณะเป็นขุยสีขาว หรือผงสีเทา ซึ่งเมื่อใบแก่ หรือแผลแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบจะแห้งแต่ก้านใบจะชูขึ้น ขอบใบม้วน ใบร่วง กรณีที่เกิดโรครุนแรงและสภาพแวดล้อมเหมาะสม ใบส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในต้นอาจถูกเชื้อเข้าทำลายอย่างรุนแรง ต้นจะโทรมอาจตายได้ทั้งต้น สำหรับผลมักจะไม่ถูกเชื้อเข้าทำลายโดยตรง แต่ผลจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ผลแคระแกร็น เสียคุณภาพ และรสชาติเสียไป ในเมลอน แคนตาลูป และแตงโม จะทำให้ความหวานลดลง ในบล็อกโคลี่ หรือกะหล่ำดอกก้านดอกจะยืด และดอกอาจจะบิดเบี้ยวเสียรูปทรง
ส่วนแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคราน้ำค้างพืชผักตระกูลแตงและพืชผักตระกูลกะหล่ำ นั้น กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกร ปฏิบัติ ดังนี้
- สำรวจแปลงปลูกพืชผักอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- เลือกปลูกพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง
- คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส (บีเอส) หรือแช่เมล็ดด้วยน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 20 – 30 นาที
- คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม และควรปลูกพืชให้มีระยะห่างพอสมควร ไม่พืชแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความชื้นสูง อากาศไม่ถ่ายเท โรคจะระบาดและลุกลามได้รวดเร็ว
- หลีกเลี่ยงการนำต้นพืชที่เป็นโรคเข้าไปยังแปลงปลูก
- เมื่อเริ่มพบอาการของโรคให้พ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส (บีเอส) อัตราการใช้ตามฉลาก และควรพ่นในช่วงเย็นแดดอ่อน
หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วควรเก็บซากพืช หรือวัชพืชออกจากแปลงให้หมดเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคไปเผาทำลาย
ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2955-1514 , 0-2955-1626