“ชาวบ้านกะปง” ปลูกผักลดรายจ่าย-ปลอดภัยห่างไกลโรค เตรียมรวมกลุ่มต่อยอด “ผลิตผักปลอดสาร” ส่งขายในชุมชน

เป็นเรื่องที่น่าตื่นตระหนกไม่น้อย เมื่อชาวบ้านจำนวน 665 คนของชุมชน “บ้านกะปง หมู่ 2 ตำบลกะปง อำเภอกะปง จังหวัดพังงา” ได้ค้นพบข้อมูลว่าสมาชิกในหมู่บ้านของตนเองนั้น มีผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ความดันโลหิตสูงจำนวน 87 คน โรคเบาหวานจำนวน 14 คน และมีผู้ที่ป่วยทั้งโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน จำนวน 48 คน แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือการที่ชุมชนแห่งนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับหนึ่งโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

จากข้อมูลของ กษมล ฉ่างสกุล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านกะปงระบุว่าเฉพาะปีนี้ชาวบ้านกะปงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งไปแล้วถึง 15 คน โดยไม่สามารถหาสาเหตุที่ทำให้ป่วยได้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) จึงได้สุ่มตรวจสารเคมีที่ตกค้างในร่างกายกลุ่มเสี่ยงจำนวน 22 คน พบว่าผู้ที่มีสารพิษตกค้างในร่างกายเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย จำนวน 9 คน เมื่อสอบถามการบริโภคอาหารกลุ่มเสี่ยงยอมรับว่าบริโภคผักที่หาซื้อจากตลาดเป็นส่วนใหญ่ ชุมชนจึงตระหนักร่วมกันว่าควรหันมาปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเองในครัวเรือน และจะให้กลับมาตรวจสอบสารพิษในร่างกายอีกครั้งว่าจะมีผลลดลงหรือไม่

“ที่นี่คนเป็นโรคมะเร็งและตายกันเยอะมาก เราเลยชักชวนให้ชุมชนปลูกผักไว้กินเองดีกว่า เพราะไปซื้อที่ตลาดเราไม่รู้ว่าเขาใช้ยาอะไรใส่บ้าง ให้เริ่มปลูกกันบ้านละ 2-3 ชนิดก่อน แล้วเราจะกลับมาดูว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยที่เห็นผลแน่นอนคือการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนนั่นเอง” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่ด้านสาธารณสุขประจำตำบลด้วย กล่าว

Advertisement

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกะปง ยังเปิดเผยอีกว่าหลังการประชุมหมู่บ้าน คนในชุมชนมีมติร่วมกันในการดำเนิน โครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดสารพิษในครัวเรือน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เบื้องต้นวางกลุ่มเป้าหมายไว้ 50 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 180 หลังคาเรือน แต่มีผู้ร่วมโครงการ 100 หลังคาเรือน เกินกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ แสดงให้เห็นว่าชุมชนให้ความสนใจอย่างมาก ที่ผ่านมามีสมาชิกชุมชนที่ปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเองเพียง 2-3 หลังคาเรือนเท่านั้น จึงได้ชักชวนให้มาเป็นต้นแบบ ให้คำแนะนำในการปลูกผักแก่ผู้สนใจได้นำความรู้จากประสบการณ์ผู้ที่ประสบความสำเร็จมาไปใช้

“ทางเราจะช่วยเรื่องต้นกล้า แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ แนะนำการใช้ปุ๋ย เรื่องการเตรียมดินก็จะมีอุปสรรคอยู่บ้างเพราะพื้นที่แถบนี้เป็นเหมืองแร่เก่า ต้องผสมดินให้เหมาะสมแก่การปลูก แต่ในพื้นที่นี้มีการเลี้ยงไก่ก็จะได้ปุ๋ยคอกมาผสม เริ่มแรกก็จะแนะนำให้ปลูกกินในครัวเรือนก่อน เพื่อลดสารพิษในร่างกาย และลดค่าใช้จ่ายในบ้าน” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกะปงระบุ

ทางด้าน อารี จะก่อ เกษตรกรต้นแบบที่ปลูกผักปลอดสารพิษไว้รับประทานเองในครัวเรือน บอกว่าครอบครัวปลูกผักกินเองมาตั้งแต่เด็ก หากเหลือจึงจะนำไปขาย ประกอบกับญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้ ไม่มั่นใจในผักที่ซื้อจากตลาด และเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสามารถปลูกเองได้ ยินดีเป็นแบบอย่างให้เพื่อนบ้าน พร้อมแนะนำวิธีการปลูกการดูแลให้

“ผักที่ปลูกในบ้านมีเกือบ 20 ชนิด  ปลูกหลากหลาย เพราะไม่ได้ใช้สารเคมี เพื่อไม่ให้แมลงกัดกินผักชนิดใดชนิดหนึ่ง และใช้ธรรมชาติเข้ามาช่วย เช่น ปลูกดาวเรืองล่อแมลงไว้ ถ้ามีแมลงมากก็จะใช้ยาเส้นแช่น้ำ

ผสมเหล้าขาวฉีดพ่นบ้าง ถ้าเป็นพวกหนอนก็หยิบออกใส่น้ำเกลือ พวกเมล็ดพันธุ์ก็จะปลูกแล้วเก็บไว้เอง ตากแห้งแล้วใส่ถุงพลาสติกแช่ตู้เย็นไว้ก็จะเก็บได้ 2-3 ปี” เกษตรกรต้นแบบบอกเคล็ดลับ

ขณะที่ นิ่ม จันทร์พรึก เกษตรกรที่สนใจการปลูกผักปลอดสารพิษ กล่าวว่าปกติมีอาชีพรับจ้างกรีดยางและทำขนมขาย เคยปลูกผักที่อื่นมาแล้วและย้ายมาอยู่ที่นี่พบว่าดินเหมืองแร่เก่าปลูกผักขึ้นยาก ต้องเตรียมดินก่อน ผักบางชนิดไม่สามารถนำลงดินได้ ต้องปลูกในกระถางหรือในภาชนะต่างๆ ส่วนการป้องกันแมลงก็จะใช้วิธีผสมผสาน ปลูกพวกกระเพราแดง ตะไคร้หอม คั่นแปลงผักไว้ และใช้ฮอร์โมนล่อแมลงวันทองให้ติดกับดัก

“ปลูกแบบธรรมชาติ ผักไม่สวยเท่าไหร่แต่ปลอดภัยแน่นอน เพราะเราปลูกเอง ไม่ต้องซื้อผักที่ใช้สารเคมีกิน ถ้าเหลือก็เอาไปขายหรือแจกจ่ายคนอื่น พอเขาปลูกได้เยอะก็จะเอามาแบ่งเราด้วยเช่นกัน”

หลังจากเริ่มดำเนินโครงการไปได้ไม่นานนักก็มีผู้ให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของสมาชิกทั้งหมดในชุมชน เกิดการแบ่งปันประสบการณ์การปลูกผักไว้กินเองของคนในชุมชน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ ในการปลูกผัก การปลูกผักไว้กินเองยังช่วยลดรายจ่ายในครอบครัว ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมี ส่งผลดีต่อสุขภาพ ที่สำคัญการยังทำเกิดการขยายผลจากการปลูกเพื่อนรับประทานในครอบครัวไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อผลิตผักปลอดสารพิษสำหรับส่งขายให้กับผู้บริโภคในชุมชนอื่นๆ ที่มีความสนใจในเรื่องของผักปลอดภัยสู่ตลาดภายนอกอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image