วิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ “สว.” บ้านทุ่งมะพร้าว เตรียมพร้อมก้าวไปสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างมีความสุข

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ.2564 แต่การเตรียมความพร้อมรองรับผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขในบั้นปลายนั้น ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะ “ชุมชน”ซึ่งใกล้ชิดรู้จักสภาพปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุที่อยุ่ในชุมชนของตนเองเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ “ชมรมผู้สูงอายุ” ในระดับหมู่บ้านจึงเป็นกลไกสำคัญต่อการสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพแก่ผู้สูงวัยเป็นอย่างยิ่ง

ชมรมผู้สูงอายุ หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งมะพร้าว ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา แม้จะเพิ่งรวมตัวก่อตั้งมาไม่นานนัก แต่ก็มีภารกิจขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ภายใต้โครงการ “การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนหมู่ 1 บ้านทุ่งมะพร้าว” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และยังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลทุ่งมะพร้าว ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ

จิตรา  ศิริวิชัย กรรมการฝ่ายจัดหาทุนชมรมผู้สูงอายุบ้านทุ่งมะพร้าว ให้ข้อมูลว่าชมรมผู้สูงอายุบ้านทุ่งมะพร้าวก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2558 มีสมาชิก 52 คน จากผู้สูงอายุทั้งหมู่บ้าน 120 คน สมาชิกส่วน

ใหญ่เป็นผู้หญิงที่มักจะเห็นความสำคัญการดูแลสุขภาพมากกว่าผู้ชาย และได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ภายใต้แนวคิด “หนึ่งกำลังใจ พลังแห่งการให้ พลังแห่งความสุข” บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายต่างๆในชุมชน ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) นิคมสร้างตนเองทุ่งมะพร้าว วัดประชุมศึกษา กลุ่ม อสม.น้อย โรงเรียน ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน

Advertisement

จากเดิมที่เคยจัดทำเป็นสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เนื่องจากการให้สวัสดิการต้องใช้งบประมาณ แต่กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพเป็นการให้ความรู้ด้านสุขภาวะ และเป็นการร่วมกันคิดของชุมชน ไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุน จนนำไปสู่แนวคิดการจัดตั้ง “วิทยาลัยสุขภาพตำบลทุ่งมะพร้าว สาขาการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ” โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ ต้องการให้ผู้สูงอายุที่ผ่านหลักสูตรสามารถดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้นได้ ผู้สูงอายุที่ผ่านหลักสูตรสามารถอยู่ร่วมในครอบครัว ชุมชน และสังคมได้อย่างมีความสุข และสามารถเป็นผู้สูงอายุต้นแบบให้กับชุมชนและสังคมได้อีกด้วย

“หลักสูตรการเรียนรู้ด้านสุขภาวะเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ เป็นการคิดร่วมกันกับ รพ.สต.ทุ่งมะพร้าว หลังจากลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากผู้สูงอายุ รพ.สต.ก็จะกลับมาคิด หาวิทยากร มาให้ความรู้กับนักศึกษารุ่นใหญ่ที่มีวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปซึ่งแต่งเครื่องแบบมาเรียนทุกวันศุกร์ ที่อื่นอาจเป็นโรงเรียนแต่ของเราเป็นวิทยาลัย” จิตรา เล่าถึงที่มาของวิทยาลัยสุขภาพและหลักสูตร

หลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยสุขภาพแห่งนี้ มีระยะเวลา 26 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 30 เมษายน 2561 ประกอบด้วย 6 หน่วยการเรียน ได้แก่ 1.ความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุ   2.การดูแลสุขภาพที่จำเป็นของผู้สูงอายุ โภชนาการ การออกกำลังกาย การพักผ่อน   3.การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของผู้สูงอายุ 4.นันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ การเย็บปักถักร้อย งาน

หัตถกรรม กิจกรรมผ่อนคลาย  5.เพื่อนช่วยเพื่อน กิจกรรมเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุติดบ้าน และ 6. เศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาบูรณาการร่วมกับชีวิตประจำวัน

น.ส.วรรโณ ตันนาภัย ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านทุ่งมะพร้าว วัย 73 ปี ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ไม่มีครอบครัว และอยู่บ้านใกล้บ้านน้องสาวและหลานๆ กล่าวว่า การมีชมรมผู้สูงอายุทำให้ได้มีกิจกรรมร่วมกัน ได้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ และการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้สูงอายุด้วยกัน มีการพบปะพูดคุย ได้พบหน้าคนในวัยใกล้เคียงกันทำให้มีความสุขมากขึ้น

“ถ้าอยู่บ้านก็ไม่ค่อยได้สื่อสารกับใคร แต่พอมาทำกิจกรรมกับชมรม ทำให้ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยเหลือเพื่อน  เพื่อนบางคนไม่ได้เจอหน้ากันหลายปีก็มี และยังได้ออกกำลังกายร่วมกัน เป็นความสุขพิเศษมาก” ประธานชมรมผู้สูงอายุกล่าว

“ทาง รพ.สต.ทุ่งมะพร้าว จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลด้านวิชาการ ประสานกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กระจายข่าวสารไปยังผู้สูงอายุ รับทราบข้อมูลปัญหา นำมาวิเคราะห์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ร่วมประสานกับภาคีเครือข่ายในชุมชน และจัดหาวิทยากรมาให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็จะประเมินผลการดำเนินงานไปด้วยเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขข้อติดขัดที่เกิดขึ้น” ชญานุช สุขวโรดม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านทุ่งมะพร้าว กล่าวถึงการทำงานร่วมกับชุมชนและผู้สูงอายุ

ผลจากการดำเนินงานแม้จะเป็นในระยะเริ่มต้น แต่ก็ทำให้ผุ้สูงอายุเกิดการรับรู้และมีความตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพ รวมไปถึงการเสริมสร้างสุขภาวะในด้านต่างๆ  ผู้สูงอายุสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้โดยพึ่งพาคนในครอบครัวน้อยลง การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ยังส่งผลให้ชาวบ้านทุ่งมะพร้าว ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชนของตนเองเพิ่มมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image