ญี่ปุ่นชอบงานผ้าทอใยกล้วยย้อมสีธรรมชาติ สั่งซื้อจนทอไม่ทันขาย

ศาสตราจารย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการวิชัยแห่งชาติ(วช.) ได้สนับสนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์ในจังหวัดภาคเหนือ แก่ รองศาสตราจารย์อเนก ชิตเกษร และรองศาสตราจารย์พรรณนุช ชัยปินชนะ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยพายัพ เพื่อถ่ายทอดกระบวนการผลิตผ้าทอจากเส้นใยกล้วยย้อมสีธรรมชาติด้วยกี่กระทบและการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่า

รวมถึงการกระตุ้นให้ชุมชนเห็นคุณค่าของการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยคณะนักวิจัยได้ทำการ ศึกษาวิจัยกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยและได้ปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์ให้มีความเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ในจังหวัดลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และกำแพงเพชร เช่น การใช้เส้นฝ้ายเป็นเส้นยืน และใช้เส้นใยกล้วยเป็นเส้นพุ่ง ซึ่งสามารถใช้ต้นกล้วยได้ทุกชนิด แต่ต้นกล้วยน้ำว้าจะมีความเหนียวมากที่สุด สำหรับการย้อมสีจะใช้วัสดุย้อมสีจากธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ใบตะเคียนหนู (ใบเหว) คำแสด (คำเงาะ) เปลือกประดู่ กระเจี๊ยบแดง ต้นขนุน และใบมะม่วง และสร้างลวดลายในการทอจากการสอดเส้นใยกล้วยและการสร้างลวดลายที่แตกต่างจากการทอผ้า เพื่อสร้างลวดลายใหม่ๆ ได้ตามความต้องการ

ด้านรองศาสตราจารย์อเนก ชิตเกษร หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ผลจากการวิจัยได้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งก่อให้เกิดรายได้และชุมชนสามารถนำวัสดุหรือวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และใช้สีย้อมจากธรรมชาติ โดยพัฒนาการยกระดับผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กระเป๋าถือสุภาพสตรี หลากหลายขนาด ทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และชุมชนมีโอกาสได้รับคัดเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ส่งเสริมรายได้และเศรษฐกิจในชุมชนให้มีมากขึ้น เป็นการสร้างรายได้และโอกาสทางการตลาดและช่องทางในการจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั้งในและนอกชุมชน

รศ.อเนกกล่าวว่า ได้พัฒนาแปรรูปผ้าทอที่ผสมใยกล้วยเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเป๋าถือสุภาพสตรี ซึ่งในจ.น่านมีกลุ่มเด่นๆ2กลุ่มคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านเฮี้ย อ.ปัว และกลุ่มทอผ้าบ้านหล่าย อ.ทุ่งช้าง และเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ www.bananatextile.com ทำให้ชุมชนได้รับการคัดเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ และได้ตั้งชื่อแบรนด์บาน่าคอทท์(BanaCott) เพื่อใช้เป็นแบรนด์กลางกรณีที่บางกลุ่มไม่มีแบรนด์ และสั่งซื้อผ่านเว็บไซด์ และมีคิวอาร์โค๊ดด้วย

Advertisement

“ช่วงปีเศษที่ทำโครงการนี้ได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นชอบงานผ้าใยกล้วยมาก และสั่งซื้อจากกลุ่มทอผ้าบ้านเฮี้ย จนผลิตไม่ทันขาย ขณะเดียวกันทางพาณิชย์และอุตสาหกรรมจังหวัดก็สนับสนุนเป็นอย่างดี ทั้งได้นำเสนอในงานระดับประเทศหลายงาน โดยเฉพาะงาน

มหกรรมวิจัยแห่งชาติของวช. ได้นำกระเป๋าที่ทำจากใยกล้วยถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย”

น.ส.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาวช.เคยสนับสนุนโครงการนี้ที่จ.จันทบุรี โดยนำใยกล้วยสานกับกกทำเป็นปาติชั่นและหมอนอิง ปรากฎว่าชาวญี่ปุ่นชอบมาก

Advertisement

ด้านนางแพว คำภานุช ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านเฮี้ย กล่าวว่า แม้เสื้อผ้าและกระเป๋าที่ทอจากใยกล้วยจะราคาแพงกว่าผ้าทั่วไป อย่างกระเป๋าสตางค์ใบละ 2500 บาท เสื้อคลุมตัวละ 5500 บาท แต่ลูกค้าก็ชอบมีเท่าไหร่ก็ขายหมด จนทอไม่ทันขาย ตอนนี้ปลูกกล้วยน้ำว้าเพิ่มเป็น 1 ไร่ เพื่อนำมาใช้ทอ จากเดิมไม่ได้ปลูกจริงจังและการจัดการสำหรับวิสาหกิจ (SME) และกลุ่มทอผ้าที่เข้าร่วมโครงการสามารถกำหนดกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์

การคำนวณต้นทุน และการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำเสนอสินค้าไปยังกลุ่มเป้าหมาย และสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มชุมชน เช่น กลุ่มแพวทอผ้าฝ้าย อำเภอปัว กลุ่มทอผ้าบ้านหล่าย อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เป็นต้น และมีการจัดทำคู่มือเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ และเผยแพร่วิดีโอขั้นตอนการย้อมสีธรรมชาติผ่านเว็บไซด์ www.bananatextile.com ทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และชุมชนมีโอกาสได้รับคัดเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ส่งเสริมรายได้และเศรษฐกิจในชุมชนให้มีมากขึ้น เป็นการสร้างรายได้และโอกาสทางการตลาดและช่องทางในการจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั้งในและนอกชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image