กฎหมายจราจร เรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรู้ ตระหนัก และไม่ละเลย นักเขียนอิสระ : นายกรธวัช สมกมลชนก

กฎหมายจราจรได้บัญญัติเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ขับรถ คุณคงจำได้การบังคับใช้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก มาตรา 44 เพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 21 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป ได้กำหนดขั้นตอนโดยเน้นผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถเป็นหลัก

การติดตั้งเข็มชัดตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 โดยประกาศใช้จริงจังเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2560 ได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มรถยนต์ รถแท็กซี่ รถลีมูซีน รถกระบะ 4 ประตู ถ้าได้มีการจดทะเบียนก่อน ม.ค.2531 ตัวรถจะไม่มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย แต่ถ้าจดทะเบียน 1 ม.ค.2531-1 ธ.ค.2553 ต้องติดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งของคนขับ และที่นั่งตอนหน้า ถ้าตั้งแต่ 1 ม.ค.2554 ผู้โดยสารจะต้องมีคาดเข็มขัดทุกที่นั่ง

Advertisement

กลุ่มที่ 2 รถตู้ส่วนบุคคล จดทะเบียนเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน โดยจดทะเบียนก่อน 1 ม.ค.2537 ตัวรถจะไม่มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเลย แต่ถ้าจดตั้งแต่ 1 เม.ย.2555 จะต้องมีเข็มขัดทุกที่นั่ง

กลุ่มที่ 3 คือรถปิคอัพ รถสองแถว ที่มีด้านหลังเป็นที่นั่งและที่บรรทุก ซึ่งสามารถบรรทุกสิ่งของและสัตว์ได้ แต่ห้ามไม่ให้มีคนนั่ง และให้คาดเข็มขัดที่เบาะนั่งคู่หน้า

กลุ่มที่ 4 คือรถสี่ล้อเล็ก หรือรถกะป๊อ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2555 บังคับให้มีที่คาดเข็มขัด 2 คนหน้า

Advertisement

หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีการปรับขั้นต่ำในอัตราที่นั่งละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 500 บาท เจ้าของรถต้องจัดให้มีเข็มขัด คนขับต้องแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ ผู้โดยสารก็ต้องมีหน้าที่คาด ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งผิดก็ต้องมีการเทียบปรับ

นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 15/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ สาระสำคัญคือเพื่อกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเพื่อความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนน

สมัยที่ออกมาใหม่ ๆ ไม่ว่าจะนั่งรถไปไหนทุกคนต่างคาดเข็มขัดนิรภัย แต่พอเวลาผ่านไป จะเห็นได้ว่าหลายคนขาดความใส่ใจ เริ่มปล่อยปละละเลย และมีการตรวจตราน้อยลงจากงานวิจัยพฤติกรรมหรือทัศนคติจากบุคคลบางกลุ่มที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ขับรถโดยใช้ความเร็ว ขับขี่ด้วยความคึกคะนอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ จอดรถในที่ห้ามจอด ล็อคล้อ พร้อมยินดีเสียค่าปรับโดยบางรายได้รับโทษเพียงว่ากล่าวตักเตือนหรือเสียค่าปรับเพียง 100 บาทเท่านั้น .. แล้วปัญหาจะแก้ไขได้หรือครับ?

ดังนั้น ถึงแม้จะมีการบัญญัติกฎหมายให้มีประสิทธิภาพสักเท่าใด แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่โดยตรงในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ไม่มีความรวดเร็ว ไม่แน่นอน และไม่มีการลงโทษที่เหมาะสม ความยุติธรรมก็ย่อมไม่เกิดขึ้น ซ้ำยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น มาตรตรากฎหมายจราจรออกมาเพื่อมุ่งหวังในการรักษาความปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุด้านการจราจร และความสะดวกด้านการจราจรของสังคมโดยรวม แต่หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรยังขาดการบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสม ก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายได้ รวมถึงจิตสำนึกหรือทัศนคติของบุคคลบางกลุ่ม เพื่อเกิดประสิทธิภาพความปลอดภัยแสะสอดคล้องตามเจตนารมณ์ทุกฝ่าย ทุกคน ต้องร่วมด้วยช่วยกัน จริงไหมครับ!

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image