เปิดประเด็น “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี หัวหน้าศูนย์วิจัยและรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้เน้นย้ำกับผู้สื่อข่าวมติชนว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นผู้ริเริ่มงานวิจัยและ ต่อยอดสู่ประโยชน์เชิงสังคม เพื่อสนองนโยบายการใช้ยางพาราในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 กลายเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของถนนยางพาราที่เรียกว่า “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” ซึ่งบุกเบิกและคิดค้นนวัตกรรม โดยศูนย์วิจัยนวัตกรรมยางพารามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี ได้ตอบข้อซักถามและเปิดประเด็นการทำงานที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนยางพาราสูงสุด การใช้น้ำยางพาราสด และตอบคำถามที่ยังเป็นประเด็นของสังคมในเรื่องงานวิจัยคุณภาพ และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ มีหลายหน่วยงานได้อ้างอิงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในเรื่องถนนยางพาราดินซิเมนต์ ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนและเป็นนโยบายสาธารณะ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรถนนยางพาราดินซิเมนต์ นอกจากอ้างอิงงานวิจัยของ มจพ. แล้วยังมีกลุ่มผู้อาจสูญเสียประโยชน์ทางธุรกิจได้วิจารณ์ แอบอ้างและนำไปหาผลประโยชน์ สรุปเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

  1. ทาง มจพ. มีการทำวิจัยในหลักการทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เป็นเวลามากกว่า 2 ปี เพื่อให้ได้สูตรการผสมกับทั้งน้ำยางพาราสด และน้ำยางพาราข้นทำให้น้ำยางพารารวมเป็นเนื้อเดียวกัน (ไม่แยกชั้น) หลักการทางวิทยาศาสตร์และทางวิศวกรรมจะต้องทำงานร่วมกันขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ นักวิจัยและวิศวกรต้องทำงานประสานกันเป็นคณะเป็นทีมเวิร์ก กระทั่งเกิดถนนทดสอบสายแรก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) วิทยาเขตปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักรและกำลังพลจากกองทัพบก โดยเฉพาะกำลังจากกองพลที่ 2 รักษาพระองค์และทหารช่าง จังหวัดปราจีนบุรี
  2. ทาง มจพ. ทำวิจัยแล้ว จึงนำมาก่อสร้างถนนจริง เป็นต้นแบบในพื้นที่ต่างๆ เช่น อ.เซกา จ.บึงกาฬ, อ.เมือง จ.เชียงใหม่, อ.เมือง จ.ขอนแก่น และล่าสุด อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู และในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 นี้ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่เยี่ยมชมการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ด้วยตนเองที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดของหลักวิทยาศาสตร์ มาเป็นหลักวิศวกรรม โดยได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ และได้นำหลักการทางวิชาการมานำเสนอทุกขั้นตอน รวมถึงรู้ปัญหาของการก่อสร้างจริง จึงเปิดการฝึกอบรมให้กับทางผู้รับเหมา และหน่วยงานหลายแห่งที่สนใจในการนำไปใช้ ช่วยกันตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอีกด้วย
  3. ทาง มจพ. ได้คิดค้น ก่อนทางรัฐบาลจะมีนโยบาย เรื่องก่อสร้างถนนยางพาราออกมา ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลได้มีความมั่นใจว่า สามารถทำได้โดยมีนโยบายให้ใช้กับถนนรอง ถนนเชื่อมหมู่บ้าน เชื่อมตำบล จึงได้ให้ทาง มจพ. ร่วมทำวิจัยกับอีกหลายหน่วยงาน
  4. เมื่อมีนโยบายของรัฐบาลออกมา ได้มีหลายหน่วยงานของรัฐ ร่วมกับ “บริษัทเอกชน” อาจจะ นำไปหาช่องทางเพื่อเป็นผลประโยชน์กับตนเอง ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีเคยมีบัญชา ออกรายการเดินหน้าประเทศไทย เพื่อนำยางพาราดินซีเมนต์มาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในการสร้างถนนปลอดฝุ่นดังกล่าว
  5. ปัจจุบันนี้หน่วยงานที่เข้ามาร่วมโครงการก็ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ที่บัญชามา แต่กลับเข้าร่วมกันกับเอกชนด้วยวัตถุประสงค์อย่างอื่นกันเอง
  6. นโยบายที่ใช้น้ำยางพาราสดมาเป็นหนึ่งในวัสดุหลัก ในการก่อสร้างถนน เพื่อช่วยเหลือ “เกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง” เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของพี่น้องชาวสวนยาง เป็นงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ทุ่มเททำงานเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
  7. ปรากฏว่ามีหน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชนนำข้อมูลของ มจพ. ไปเสนอ บิดเบือน เพื่อนำเสนอของ “ตนเอง” อาจเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อการทำธุรกิจของตน โดยไม่มีหลักในการคิดค้น วิจัยใดๆ ที่จะมาเป็นหลักในการเริ่มต้นให้ถูกต้อง มีแต่วิจารณ์งานวิจัยของ มจพ. และพยายามกีดกันไม่ให้มีชื่อเข้าร่วมโครงการสร้างถนนยางพาราของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา (ซึ่งหลักฐานการคิดค้นงานวิจัยและหลักฐานที่เป็นผลการทดสอบทางวิชาการมีอยู่ชัดเจนในปัจจุบัน)
  8. 8. ถ้าไม่มีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงเข้ามาเกี่ยวข้อง จากหลายหน่วยงาน ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ของ มจพ. คงได้เริ่มใช้และช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของพี่น้องชาวสวนยางได้แล้วหลายปี ซึ่ง มจพ. ได้เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานของรัฐและเอกชนได้มาร่วมกันทำโดยตลอด โดยยินดีถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และนำผลการค้นคว้าวิจัย เพื่อต่อยอดนำไปสู่การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมาโดยตลอดแต่ก็มีปัญหาและอุปสรรคจากกลุ่มผู้อาจจะสูญเสียผลประโยชน์มาโดยตลอด
  9. ทาง มจพ. ไม่เคยตอบโต้ข่าวที่บิดเบือนมาโดยตลอด ถ้าไม่ทำให้ มจพ. เสียชื่อเสียง แต่ ณ ขณะนี้ ทาง มจพ. ขอนำความจริงมานำเสนอ เพื่อให้สังคม ประชาชน และเกษตรกรชาวสวนยางได้รับรู้ความจริงเพื่อประโยชน์กับประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป โดยผลการค้นคว้าหรือวิจัยของ มจพ. พบว่าการใช้น้ำยาดัดแปรร่วมกับน้ำยางพาราสด ส่งผลให้คุณสมบัติของถนนมีความแข็งแรงทนทาน ป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดีกว่าการใช้น้ำยางข้นมาละลายน้ำใช้ทำถนน

ดังนั้นผลงานวิจัยดังกล่าว ควรเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมมากกว่าการวิจารณ์โดยมีวัตถุประสงค์แอบแฝง เช่น ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของน้ำยางสดได้ ซึ่งข้อเท็จจริงคือกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา หรือสหกรณ์ยางพารา ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำยางสดที่ซื้อเข้ามาในสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรอยู่แล้ว นับเป็นกิจกรรมที่ทำตามปกติแล้วจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างไร เป็นต้น

จริงอยู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) แห่งนี้ไม่ได้มีหน้าที่ในการออกแบบมาตรฐานการทำถนนโดยตรงแต่ด้วยความพร้อมของนักวิจัย รวมทั้งวิศวกรโยธาที่มีประสบการณ์สามารถยืนยันถึงประสิทธิภาพและคุณภาพงานวิจัยที่พร้อมสนองนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือปัญหายางพาราราคาตกต่ำได้ในระดับหนึ่ง และจากการร่วมประชุมและระดมความคิดเห็นของเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้สรุปความเห็นตรงกันในเรื่องของการผลักดันงานวิจัยชิ้นนี้ให้เป็นนโยบายของรัฐบาลโดยเร็ว และต่อต้านไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดที่ไม่ใช่น้ำยางสดจากเกษตรกรโดยตรง และภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดการนำไปใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุดโดยไม่มีการหมกเม็ดข้อกำหนดและมาตรฐานงานสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มอื่นใดมากกว่าความจริงใจในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นปัญหาระดับรากหญ้าของประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระพีพันธ์ กล่าวทิ้งทาย

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image