วช. เปิดศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าชุมชนบนบก สร้างขุมทรัพย์ทางทะเลให้คนเกาะสีชัง

คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 เห็นชอบให้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการขับเคลื่อนขยายผลธนาคารปูม้าสู่ชุมชน ร่วมกับกรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธนาคารออมสิน บริษัทประชารัฐสามัคคี บริษัทไปรษณีย์ไทย และกระทรวงพาณิชย์ โดยบูรณาการ การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนขยายผลธนาคารปูม้าให้ได้ 500 ธนาคาร ภายใน 2 ปี วช.
จึงได้สนับสนุนทุนกิจกรรมภายใต้โครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและ
นวัตกรรม ให้กับหน่วยงานวิจัยต่างๆ เพื่อจัดการความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมให้ขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ในกิจกรรมธนาคารปูม้าชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยทรัพยากร ทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการร่วมกันดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์และการผลิตลูกปูม้าขนาดการผลิต (mass production) ที่เพิ่มอัตราการรอดของลูกพันธุ์ปูม้าที่ได้จากการสลัดไข่ของแม่ปูม้า รวมถึงอัตราการรอดของลูกพันธุ์ปูม้าที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการการขยายพันธุ์ปูม้าแบบการทำฟาร์มบนบก (land-based farming) สู่กลุ่มเป้าหมายหลักระดับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และกลุ่มเป้าหมายรองในพื้นที่อำเภอใกล้เคียง (ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี) และผลิตลูกพันธุ์ปูม้าระยะเต็มวัย (crab 1) สนับสนุนการดำเนินงานธนาคารปูม้าแบบชุมชนมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ วช. และสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งธนาคารปูม้าบนบกโดยความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่เกาะสีชังจำนวน 22 ธนาคาร และต้นแบบธนาคารปูม้าประจำตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 3 ธนาคาร และในวันที่ 22 มกราคม 2562 เวลา 13.00 น. ได้ทำการ เปิดศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าชุมชนบนบกขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าชุมชนบนบก อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล (เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) เป็นประธานในพิธี ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าชุมชนบนบก เป็นหนึ่งในกิจกรรมการขยายผลองค์ความรู้เรื่องปูม้า ที่นอกจากจะใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของผู้ที่สนใจ แล้วยังเป็นศูนย์กลางรวบรวมเทคโนโลยี การบริการวิชาการสู่กลุ่มเป้าหมายระดับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักวิชาการ นิสิตนักศึกษาและผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ซึ่งจะสามารถพัฒนาอำเกาะสีชังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิทยาศาสตร์และการศึกษา สอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของเกาะสีชัง และการรองรับการขยายตัวของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของรัฐบาล (EEC) ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต แก่ชาวประมงพื้นบ้าน ร้านอาหารทะเล ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลของอำเภอเกาะสีชังให้สูงยิ่งขึ้นด้วย

Advertisement

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ย้ำว่า แม่ปูม้า 1 ตัว จะผลิตไข่ได้ประมาณ 1 ล้านฟอง และฟักไข่ให้ลูกปูกว่า 500,000 ตัว หรือร้อยละ 50 จากนั้นเมื่อนำกลับไปปล่อยคืนสู่ทะเล จาก ๑,๐๐๐ ตัว จะมีอัตราการรอดของลูกปูม้าเพียง 1 ตัว หรืออีกนัยหนึ่งคือ จากแม่ปูม้า ๑ ตัว จะมีลูกปูม้าอยู่รอดประมาณ 500 ตัว ถ้าปูม้าขนาด 5 ตัวน้ำหนัก หนึ่งกิโลกรัม หากชาวประมงจับปูม้าได้ประมาณ 100 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 400 บาท จะมีรายได้ 40,000 บาท ซึ่งเท่ากับทองหนักสองบาท ถือเป็นรายได้ที่ดีมาก แม่ปูม้าหนึ่งตัวสามารถสร้างทองคำในทะเลถึงสองบาท ถ้าหากปล่อยจำนวนมากขึ้น ก็เหมือนชาวประมงมีทองในทะเลให้จับจำนวนมาก นี่คือขุมทรัพย์ทางทะเลอย่างแท้จริง ซึ่งธนาคารปูม้าเป็นโครงการที่สำคัญมาก และวช.ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนธนาคารปูม้าไปทั่วประเทศ ซึ่งปี 2561 วช.วางเป้าหมายไว้ 300 แห่ง ปรากฏว่าทำได้379 แห่ง ซึ่งถือว่าเกินเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนงานวิจัยต่อไปคือเน้นให้เกิดอัตรารอดในการปล่อยมากขึ้นและคืนความมั่งคั่งให้ท้องทะเลไทย ทำให้พี่น้องชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

นอกจากประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การสร้างรายได้ของพี่น้องชาวประมงแล้ว กิจกรรมการขยายผลธนาคารปูม้าสู่ทะเลไทยในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบกลไกการบูรณาการการใช้ประโยชน์จากการวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศและการบริหารจัดการทรัพยากรของชาติจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image