ทำได้มากกว่าขนม!!!ผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด ช่วยถนอมผิว ผลงานนักเรียน รร.ชุมแสงชนูทิศ จ.นครสวรรค์

เดินไปตามท้องทุ่งนา หรือต่างจังหวัด จะพบกับต้นไม้ลำต้นสูงเรียวยาวที่รู้จักกันในชื่อ ตาล หรือ ตาลโตนด จากข้อมูลเป็นไม้ตระกูลเดียวกับปาล์ม และมะพร้าว เป็นไม้ชนิดให้ผลสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของไทย

ผลิตภัณฑ์จากตาลที่เราคุ้นชินกันดีคงเป็นแนวๆ ขนม เช่น ขนมตาล ลอนตาลเชื่อม น้ำตาลสด แต่ด้วยสรรพคุณที่มีหลากหลาย ตาลโตนดจึงถูกนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน ครีมทาผิว สบู่ เป็นต้น ซึ่งผลงานเหล่านี้ไม่ใช่องค์กรหรือบริษัทยักษ์ใหญ่อะไร แต่เป็นไอเดียจากน้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายชาญชัย ขนิดสะ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ, อาจารย์สุวิมล พิกุลทอง และอาจารย์ทิตยา มั่นมาตร (ครูที่ปรึกษาโครงงาน)

Advertisement

อาจารย์สุวิมล เล่าจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์จากตาลโตนดให้ฟังว่า ในพื้นที่อำเภอชุมแสง ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำนาทำไร่ ควบคู่ไปกับการปลูกตาลโตนดมาช้านาน ภายหลังโรงเรียนชุมแสงชนูทิศเข้าร่วมโครงการ 1 โรงเรียน 1 อาชีพ จึงเลือกเอาวัตถุดิบในพื้นที่อย่างตาลโตนดมาแปรรูป

“ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำตาลโตนดไปทำขนมขาย เราเลยคุยกับเด็กนักเรียนว่าตาลโตนดต้องไม่ใช่วัตถุดิบในการทำอาหารอย่างเดียวแต่สามารถนำมาทำอย่างอื่นได้เหมือนกัน ต้องเพิ่มมูลค่าให้เกิดเป็นรายได้”

หลังได้วัตถุดิบ เด็กๆ ช่วยกันหาข้อมูลถึงคุณประโยชน์ของตาล จนทราบว่ามีทั้งวิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยถนอมผิว ด้วยสรรพคุณเหล่านี้ จึงนำมาสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ช่วยกันทำตั้งแต่ปรุงสูตร บรรจุ ออกแบบแพ็กเกจ ได้เป็น น้ำยาล้างจาน ครีมอาบน้ำ ครีมทาผิว สบู่ ใช้เนื้อตาลสุกที่ยีเสร็จแล้วเป็นวัตถุดิบหลัก ไม่ใส่สารเคมี

“เรารับซื้อวัตถุดิบจากชาวบ้าน หรือบ้านเด็กคนไหนปลูก ก็รับซื้อจากบ้านเด็กจะได้ราคาถูกกว่าทั่วไป ซึ่งเด็กๆ ช่วยคัดตาลว่าเป็นตาลเก่าหรือใหม่ ถ้าใช้ตาลเก่าสีของผลิตภัณฑ์จะเป็นอีกสี แต่ถ้าใช้ตาลใหม่สีจะสดใสน่าใช้”

ด้านสรรพคุณของผลิตภัณฑ์โดยรวม ครูสุวิมล บอกว่า ช่วยถนอมผิว ทำให้ผิวชุ่มชื้น ยกตัวอย่าง น้ำยาล้างจาน มีกรณีของครูที่โรงเรียนใช้น้ำยาล้างจานยี่ห้อที่วางขายทั่วไป แต่ใช้แล้วมือลอก แห้ง จนคุณครูท่านนั้นมีโอกาสลองใช้น้ำยาล้างจานจากตาลโตนด ปรากฏว่าได้ผลดี มือไม่ลอก แถมยังนิ่มอีกด้วย ตอนนี้กลายเป็นลูกค้าประจำไปแล้ว

ถามย้อนถึงการนำตาลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ว่ามีมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ครูสุวิมล บอกว่า ไม่เคยมีชาวบ้านนำไปแปรรูปแบบที่โรงเรียนทำมาก่อน นี่เป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่จะนำเนื้อตาลสุกมายีใส่ถุงขาย

สำหรับโครงการแปรรูปตาลเป็นผลิตภัณฑ์นี้ ยังไม่ได้กระจายความรู้ไปสู่ชาวบ้านในพื้นที่ เพราะเพิ่งเริ่มทำได้ไม่นาน เป็นเพียงการทำกิจกรรมโครงงานของเด็กๆ ในวิชาเรียน มีการส่งประกวดระดับภาค จนสามารถคว้าเหรียญทองมอครองได้ ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจของเด็กๆ และทีมงานทุกคน

“ถึงไม่ได้กระจายความรู้ แต่เราก็พยายามนำผลิตภัณฑ์ของเราส่งต่อให้ชาวบ้าน หน่วยงานได้ทดลองใช้ เหมือนเป็นการให้เป็นของขวัญ ของที่ระลึก ช่วยขยายฐานลูกค้าไปในตัว”

ส่วนเรื่องการตลาด จะจำหน่าย ให้กับบุคลากรในโรงเรียน และผู้ที่สนใจ ยังไม่มีการวางขาย แต่หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก โครงงานอาชีพ “ชนูทิศ” ซึ่งรายได้จากการขาย จะถูกแบ่งให้เด็กส่วนหนึ่ง และอีกส่วนจะเก็บไว้เป็นกองทุนสำรองใช้ในปีต่อไป

ข้อมูล : www.sentangsedtee.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image