มิติใหม่ของเครื่องประดับไทย เมื่อความสวยงามมาพร้อมกับความแปลกใหม่

หากเอ่ยถึงเครื่องประดับ หลายคนคงนึกถึงอัญมณีมีค่าและโลหะมูลค่าสูง แต่เมื่อผู้ประกอบการไทยหลายรายลุกขึ้นมาสร้างสรรค์เครื่องประดับด้วยวัสดุแปลกใหม่ สิ่งที่ได้จึงล้ำสมัยและสวยแปลกตา เช่นเครื่องประดับและแอคเซสเซอรี่หลายรายการที่จัดแสดงในโซน Innovative and Design Zone และ The JEWELLERS ภายในงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 63 ที่ทำให้ต้องทึ่งและชื่นชมในความคิดของผู้สร้างสรรค์

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับจากกระดาษและวัสดุเหลือใช้ของแบรนด์ “Basic Teeory” ที่ดึงดูดสายตาด้วยสีสันสดใสและการออกแบบที่สวยงาม โดยคุณวรชัย ศิริวิภานันท์ เจ้าของแบรนด์บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจว่า “ส่วนตัวมองว่าคุณค่าของเครื่องประดับไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าทำขึ้นจากโลหะมีค่าหรืออัญมณีหายาก แต่เชื่อว่าของทุกอย่างมีคุณค่าในตัวเอง เราจึงนำวัสดุที่คนไม่เห็นคุณค่ามาสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับและแอคเซสเซอรี่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วของที่ถูกโยนทิ้งก็สามารถทำให้มีมูลค่าและความสวยงามได้ เลยเกิดเป็นเครื่องประดับจากกระดาษเหลือใช้ขึ้น” ไม่เพียงแต่กระดาษรีไซเคิล คุณวรชัยยังนำของเหลือใช้อย่างเศษด้ายและกรวด มาสร้างสรรค์ให้เป็นเครื่องประดับด้วย นับว่าเป็นเป็นความแปลกใหม่ที่น่าสนใจจนทำให้เป็นแบรนด์แอคเซสเซอรี่ในดวงใจของเหล่าผู้ชื่นชอบความสวยแบบไม่ซ้ำใคร

Advertisement

“Porshz” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่สร้างสรรค์เครื่องประดับขึ้นจากวัสดุสุดแปลกอย่าง “หลอดไฟ” ที่หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าจะนำมาทำให้สวยน่าใช้ได้อย่างไร คุณอรรถกฤษณ์ วรรณสอน เจ้าของแบรนด์เผยถึงที่มาที่ไปให้ฟังว่า “เป็นความบังเอิญที่เห็นหลอดไฟแล้วปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าน่าจะนำมาทำเป็นเครื่องประดับได้ ด้วยรูปทรงที่สวยและความใสแวววาวของตัวหลอด เหมาะมากที่จะทำเป็นต่างหูสวยๆ เลยเกิดเป็นคอลเล็กชั่น Galileo Galilei โดยมีแรงบันดาลใจจากช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มมีหลอดไฟเกิดขึ้น” เครื่องประดับจากหลอดไฟของ “Porshz” มีให้เลือกทั้งตุ้มหูและจี้พร้อมสร้อยแสนเก๋ บอกเลยว่าคนที่รักการแต่งตัวเห็นแล้วต้องชอบแน่นอน

อีกหนึ่งแบรนด์ที่น่าสนใจคือ “NYMPHEART” แบรนด์เครื่องประดับและแอคเซสเซอรี่ที่ดูเรียบง่ายเข้าถึงได้ แต่แฝงไปด้วยความเก๋และแปลกใหม่ด้วยการนำไม้และอีพ็อกซี่มาเป็นวัสดุหลัก โดยเจ้าของแบรนด์ คุณเปลี่ยนกาล ไตรคุ้มพันธุ์ เล่าให้ฟังว่า “NYMPHEART นำเอาเทคนิคของงานเฟอร์นิเจอร์ไม้มาทำเป็นเครื่องประดับ เพราะในการทำเฟอร์นิเจอร์ต้องใช้ไม้ชิ้นใหญ่ที่มักจะมีรูตามธรรมชาติ ช่างจึงนำอีพ็อกซีอุดรูเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเติมเต็มแผ่นไม้ เราเห็นแล้วก็เกิดไอเดีย จึงนำเอาเทคนิคนั้นมาทำเป็นเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ แล้วใส่สีเข้าไปให้ดูเหมือนเป็นการผสานกันของหินกับไม้” นี่จึงทำให้เกิดชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และมีความยูนีคในแต่ละชิ้น ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของลายไม้ที่แตกต่างกันไป

Advertisement

นอกจากนี้ในโซน Innovative and Design Zone และ The JEWELLERS ยังมีแบรนด์เครื่องประดับที่แปลกใหม่และน่าสนใจอีกมากมายรอให้ทุกคนไปเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจ เข้าชมได้ในงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 63 ตั้งแต่วันนี้ถึง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.bkkgems.com หรือโทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169

#BGJF #BGJF63 #BGJF2019 #BKKGems #BKKGemsofficial #ThailandsMagicHands #DITP

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image