ไทยเตรียมลงนาม MOUร่วมฮ่องกง หวังพัฒนา
“สตาร์ทอัพไทย” สู่ระดับสากล

InnoSpace(Thailand)เดินหน้ากระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมฮ่องกง28 ก.พ. นี้ พัฒนาและส่งเสริม Startup ไทย ขับเคลื่อนประเทศสู่ระดับสากล ตั้งเป้าปีแรกดึงผู้ประกอบการเข้าใช้บริการไม่น้อยกว่า 50 ราย การเติบโตทางเทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนเปลี่ยนแปลงการทำงานของสิ่งต่าง ๆไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดสิ่งของและนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงโอกาสทางธุรกิจ นั่นคือ ธุรกิจ Startup ขณะที่ประเทศไทยเริ่มส่งเสริมธุรกิจ Startup ให้มีแนวคิด มีไอเดียเกิดขึ้นมากมาย แต่จำนวน Startup ที่ประสบความสำเร็จกลับมีน้อยมากเพราะขาดแหล่งเงินทุนและที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ดร.สันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เราเคยได้ยินคำว่า Startup มา 5-7 ปี แล้ว แต่จำนวน Startup ที่เป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์กลับมีน้อยมาก Innospace จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้ เรียกว่าเป็น National Platform ซึ่งทำออกมาเป็นรูปแบบบริษัทเอกชน จดทะเบียนเป็น บริษัท จำกัด โดยใช้ชื่อว่า “Innospace Thailand”  “ผมคิดว่าเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ การก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางเป็นเรื่องยาก บางอย่างเอกชนทำไม่ได้ บางอย่างภาครัฐทำเองไม่ได้ จึงต้องเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน เพื่อเติมเต็มซึ่งกันและกัน รวมทั้งเสริมด้วยภาคการศึกษาเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เข้มแข็ง สามารถสร้างความสำเร็จได้ Innospace จึงเกิดขึ้นมา และเราต้องการสร้าง National Platform เพื่อทำให้ระบบนิเวศในการสร้างเสริม Startup ถูกเติมเต็มอย่างแข็งแรง และที่สุดแล้ว Startup ไทยจะได้เกิดเป็นยูนิคอร์นได้ในระดับสากล” ดร.สันติ กล่าวอีกว่า Innospace เกิดจากความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน คือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา โดยมีเอกชนรายใหญ่ เป็นผู้ถือหุ้น อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารกรุงไทย,บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ซีพี, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งองค์กรเหล่านี้มักจะมี Scouting Lab หรือห้องปฏิบัติการ ในการทดลองนวัตกรรมและการทำตลาดอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งคนที่เข้ามาใช้บริการของ Innospace จะสามารถเข้ามาใช้สถานที่ขององค์กรเหล่านี้ได้ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรเชื่อมโยงและรองรับนโยบายของภาครัฐได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPAเข้าร่วมถือหุ้นด้วย ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริม

อุตสาหกรรม จะสนับสนุนในเชิงนโยบาย เพื่อประสาน ขับเคลื่อน และเติมเต็มการดำเนินงาน ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง และในส่วนของภาคการศึกษา เช่น สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จังหวัดระยอง อยู่ในพื้นที่ EECi, อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ จะมีการขยาย Satellite Location ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และตามอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศของ DEPA เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยส่วนตัวมองว่าน้อง Startup ไทย มีไอเดียเรื่องนวัตกรรมอยู่มาก แต่ขาดแนวคิดเชิงธุรกิจ การร่วมมือกันทุกภาคส่วนจะช่วยเกิดการเสริมสร้างและพัฒนา Startup ไทยให้เดินหน้าไปได้ไกลในระดับสากล

พร้อมกันนี้ Innospace ได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งเสริม และพัฒนา Startup จากต่างประเทศ เพื่อขยายและเชื่อมต่อระบบนิเวศของไทยสู่สากล โดยในวันพฤหัสบดีที่28 ก.พ. 2562 นี้ จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในการขับเคลื่อน Thailand Cyberport ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Thailand – Hong Kong Strategic Partnership ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติจาก Madame Carrie Lam ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มาร่วมงาน โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้ให้การต้อนรับ ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจะมีการลงนาม MOU จำนวน 3 ฉบับ ร่วมกับ Hong Kong Cyberport Management Company Limited (HK Cyberport) , Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) และ Ho & Partners Architects Engineers & Development Consultants Limited (HPA) เพื่อความร่วมมือการพัฒนา startup บ่มเพาะ   สรรหาโปรแกรม Soft landing ความร่วมมือส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือการพัฒนา Smart City นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับต่างประเทศอื่นอีก อย่างอิสราเอล และเกาหลี ซึ่งคาดว่าไม่เกินไตรมาส 3 จะสามารถทำ MOU ร่วมกันได้ เช่นเดียวกับที่ไทยทำกับฮ่องกงดร.สันติ กล่าวถึงผู้ที่จะเข้ามาบริหารงานใน Innospace ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง หากได้คนไม่ถูกฝาถูกตัว แนวคิดดีอย่างไรก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้แต่โชคดีมาก ที่ตอนนี้ได้ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตประธานเจ้าหน้าทีบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นประธานกรรมการ และต้องยอมรับว่า ปตท. เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่บริหารนวัตกรรมระดับสูงและเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ทั้งสิ้น การได้หัวเรือใหญ่ของ ปตท. เข้ามาเป็นความสบายใจขั้นที่หนึ่ง

ถัดไป คือระดับหัวหน้างาน หรือ CEO ซึ่งมีคุณสมบัติที่อยากได้คือจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็ได้ แต่ต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับ Startupโดยตรง ขณะนี้มีอยู่ 2-3 รายชื่อ ซึ่งอยู่ระหว่างทาบทามมาทำงาน อีกส่วน คือทีมงาน จะเป็นบุคลากรขององค์กรที่ประสานความร่วมมือกัน ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ มาช่วยกันปั้น Startup ช่วยกันบ่มเพาะ พัฒนาองค์ความรู้ และการลงทุน

Advertisement

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าในปีแรกนี้จะมีผู้ประกอบการ และ Startup เข้ามาให้ Innospace ช่วยงานไม่น้อยกว่า 40-50 ราย จากนั้นในช่วง 3 ปี จะสามารถระบุได้ว่าธุรกิจ Startup ใดจะรอดหรือไม่รอด 5 ปี ถัดจากนี้ เราอาจเห็น

ยูนิคอร์นตัวเล็ก ที่จะค่อย ๆ เติบโต เป็นยูนิคอร์นตัวใหญ่ ใน 7-8 ปี และเมื่อครบ 10 ปี เชื่อว่าถ้าเราทำงานอย่างเข้มแข็งประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็น Startup Nation ได้อีกประเทศหนึ่ง และเราก็จะก้าวข้ามพ้นเรื่องกับดักรายได้ปานกลางไปได้

“ในกลุ่ม Startup เขาบอกว่า “Fail Fast Learn Fast” ยิ่งล้มเหลวเร็ว ยิ่งเรียนรู้เร็ว และจะลุกมาทำใหม่ เพื่อประสบความสำเร็จต่อไปได้ Startup หลายคนล้มแล้วลุก 9 ครั้ง เราอยากร่นระยะเวลาไม่ให้ล้มมากเกินไปต้องมีพี่เลี้ยงคอยประคับประคองทั้งในแง่ของการทำธุรกิจและเทคโนโลยี” ดร.สันติ กล่าวในที่สุด

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image