คนไทยได้อะไร?จากการปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉิน

“การเจ็บป่วยฉุกเฉิน”เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในลำดับต้นๆของประเทศไทย เป็นภาวะวิกฤตหรือฉุกเฉินของแต่ละบุคคล หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม ทันท่วงที อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต หรือเกิดความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะสำคัญ รวมทั้งทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้นโดยไม่สมควร หรือเกิดการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร

“สถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์” คือสถานการณ์สาธารณภัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประชาชน ซึ่งรวมถึงการอนามัยสิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย และมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนดูแลจากเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสถานการณ์สาธารณภัย

“การแพทย์ฉุกเฉิน”เป็นการบริการและการจัดการจากภาครัฐเพื่อดูแลประชาชนซึ่งเป็นคนไข้วิกฤติฉุกเฉินให้ได้รับการดูแลโดยมีเป้าหมายคือ การดูแลอย่างทั่วถึง มีความเท่าเทียมสำหรับประชาชนไทยทุกคนใน
ทุกๆ พื้นที่ ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีเหมาะสม และครอบคลุมทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ การดูแลรักษา ณ จุดเกิดเหตุ การรักษาภาวะฉุกเฉินในโรงพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินระหว่างโรงพยาบาล รวมทั้ง การจัดการด้านการแพทย์กรณีเกิดอุบัติเหตุหมู่หรือสาธารณภัย ความสำคัญของระบบการแพทย์ฉุกเฉินจึงอยู่ที่การช่วยชีวิตและการรักษาชีวิตให้ทันเวลา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

Advertisement

ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยทำงานอย่างไร?

นพ.รัฐพงษ์ บุรีวงษ์อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขกล่าวว่าการแพทย์ฉุกเฉินเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการดูแลของภาครัฐ ในการดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการทำงานของระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยปัจจุบันแบ่งได้เป็นหลายส่วน เริ่มตั้งแต่ที่บ้านของประชาชนทุกคน การแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลโทร. 1669 และระบบการแพทย์ฉุกเฉินแบบมีทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ที่เหมาะสมไปรับ ณ จุดเกิดเหตุ การดูแลรักษาภาวะฉุกเฉินในโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากห้องฉุกเฉินแล้วยังหมายรวมทุกส่วนของโรงพยาบาลที่คนไข้อาจเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นได้ และถัดมาเป็นการแพทย์ฉุกเฉินดูแลคนไข้ที่มีการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาล (เนื่องจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีศักยภาพไม่เท่ากัน) และสุดท้าย เป็นการแพทย์ฉุกเฉินที่ดูแลในกรณีเกิดภัยพิบัติ ทั้งทางด้านโรคและภัยสุขภาพ กรณีเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆที่มีผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ประชาชนในวงกว้าง

Advertisement

อะไรคือปัญหา-อุปสรรคของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน?

นพ.รัฐพงษ์ให้ข้อมูลว่าหลังจากมีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยได้รับการพัฒนาและมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งหน่วยปฏิบัติการ สถานพยาบาลและผู้ปฏิบัติการ เพื่อให้มีการปฏิบัติการฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานและสนับสนุนการเข้าถึงบริการเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่การทำงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในหลายๆ ด้าน ประการแรก เป็นเรื่องของการสื่อสารหรือวาดภาพที่ไม่ตรงกัน แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกลวิธีการดำเนินงานในส่วนของตนเอง ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องในการทำงานร่วมกัน เกิดปัญหาความไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม และบางส่วนไม่เป็น unity ประการที่สองระบบการแพทย์ฉุกเฉินส่วนใหญ่ยังคงใช้งบประมาณในการจัดบริการในอัตราเดิมมาตั้งแต่ปี 2545 ในขณะที่ปัจจุบันระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีการปรับตัวไปมาก ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงพยายามปรับตัวให้เข้ากับการเติบโตของระบบแต่ก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ประการที่สาม หมายเลขฉุกเฉินของประเทศไทยมีหลายหมายเลข (หน่วยงานฉุกเฉินทุกหน่วยงานไม่ใช่เฉพาะด้านการแพทย์) ทำให้ประชาชนต้องคอยจดจำว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแบบไหนต้องใช้เบอร์อะไร ประการที่สี่ผู้ใช้บริการห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมาก เป็นคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินจริง ดังเช่นข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเมื่อปี 2559 มีการใช้ห้องฉุกเฉิน จำนวน 35 ล้านครั้ง ในโรงพยาบาลกว่า 800 แห่ง ซึ่งพบว่ามีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นคนไข้ฉุกเฉินจริง ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับคนไข้ที่มีอาการหนักต้องถูกแบ่งทรัพยากรที่มีจำกัดไปดูแลคนที่บาดเจ็บหรือป่วยเพียงเล็กน้อย ประการที่ห้า เป็นเรื่องระบบสารสนเทศหรือไอทีซึ่งปัจจุบันก้าวหน้าไปมากแต่ระบบการแพทย์ฉุกเฉินยังเติบโตไม่ทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกล ซึ่งถ้าเราสามารถตามเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ทันก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

ที่มาของการปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทย?

นพ.รัฐพงษ์บอกถึงที่มาของการปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยว่ารัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขและได้เสนอแผนปฏิรูปด้านสาธารณสุขโดยมีการปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉินเป็น 1 ใน 10 เรื่อง ซึ่งแผนดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้แล้ว มีเป้าหมาย “ประชาชนไทยทุกคนบน แผ่นดินไทยเข้าถึงและได้รับบริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ทันเวลา และมีมาตรฐาน” พร้อมทั้งได้กำหนดเป้าหมายระยะ 5 ปี เอาไว้ ได้แก่ 1.ประชาชนเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ทันเวลา และมีมาตรฐาน 2.การเสียชีวิตและภาวะทุพพลภาพที่ป้องกันได้จากโรค/ภาวะฉุกเฉินลดลง และ 3.ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยมีกิจกรรมในการปฏิรูป 3 เรื่อง คือ 1.ทบทวนโครงสร้างบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 2.ปรับปรุงระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และ 3.พัฒนากำลังคนด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

ปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยอะไรบ้างที่ต้องทำ?

เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องทำในการปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทย นพ.รัฐพงษ์บอกว่าสิ่งที่ต้องทำคือ ข้อ1. ควรปฏิรูปหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีโอกาสในการแบ่งปันวัตถุประสงค์ มองเห็นในเป้าหมายเดียวกันและแบ่งงานกันทำ เช่น ใครควรเป็นผู้จัดบริการ ควรมีรูปแบบมาตรฐานบริการเป็นแบบเดียวกันหรือไม่ ใครควรทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ ดูแล ประเมินผล ให้คำแนะนำ ใครจะเป็นหน่วยงานให้การสนับสนุนเกี่ยวกับโอกาสหรืองบประมาณ ข้อ2. คือการปฏิรูปเกี่ยวกับระบบสารสนเทศซึ่งปัจจุบันระบบเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้ามาสนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ดีพอ ข้อ3. เป็นการปฏิรูปด้านงบประมาณ เช่น การจัดซื้อรถพยาบาล หรือการปรับเปลี่ยนรถที่มีอยู่ให้มีเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยและมีความปลอดภัย ข้อ4. คือการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินที่ต้องพบแพทย์ทันที หรือ ภาวะฉุกเฉินที่สามารถรอพบแพทย์ในวันรุ่งขึ้นหรือนัดวันได้ ซึ่งจะช่วยให้ห้องฉุกเฉินทั่วประเทศมีศักยภาพเหลือเพื่อสามารถใช้ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินจริงได้ ทำให้ผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บหนักจริงๆ ได้รับโอกาสสูงสุด

มองภาพอนาคต… หลังจากปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉิน

นพ.รัฐพงษ์บอกว่าภาพในอนาคตหลังจากการปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ประชาชนสามารถเห็นได้จริงแบ่งได้เป็น 2 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกเป็นเรื่องการบริหาร การจัดการด้านวัตถุประสงค์และงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตอนนี้มีการระดมตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติภายใต้ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ปี 2551 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์สังกัดหน่วยงานการศึกษา กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะช่วยกันออกแบบเป้าหมายของการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในบริบทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการหารือกันไปบ้างแล้วโดยมีกรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักในการเรียกระดมความคิดเห็น ประเด็นที่สองเป็นเรื่องการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อนำมาสนับสนุนการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินที่แม่นยำ ดังเห็นได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการอำนวยการด้านการแพทย์ประจำจังหวัดเชียงราย ขอนแก่น ภูเก็ต นครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ได้มีการนำระบบไอทีมาใช้ในระหว่างก่อนถึงโรงพยาบาล และระยะการส่งต่อจากโรงพยาบาลขนาดเล็กไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้นำรูปแบบการทำงานมาเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติในโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วย

ปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉินแล้วประชาชนได้อะไร?

นพ.รัฐพงษ์บอกว่าสุดท้ายประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่รวดเร็วขึ้นสามารถโทรแจ้งเหตุได้อย่างรวดเร็ว และมีความรู้ความเข้าใจในอาการป่วยฉุกเฉิน สามารถบอกอาการผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้สามารถบอกที่ตั้งของผู้ป่วยและผู้แจ้งได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้นเพราะโรงพยาบาลที่เหมาะกับคนไข้มากที่สุดคือโรงพยาบาลที่สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้เร็วที่สุดและอยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งประชาชนในทุกๆอำเภอของแผ่นดินไทยสามารถที่จะร้องขอรับบริการและสามารถได้รับบริการการรักษาที่เหมาะสมและรวดเร็วพอ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งฝั่งผู้ให้บริการต้องมีการเพิ่มศักยภาพในระบบงานและฝั่งผู้รับบริการควรต้องมีความรู้ความเข้าใจในการให้ข้อมูลและเพิ่มการดูแลตนเองควบคู่กันไป อีกทั้งระบบที่มีการพัฒนาอันเดียวกันนี้ ยังสามารถใช้ในการสนับสนุนปฏิบัติการด้านการแพทย์ในสถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างเกิดประโยชน์กับทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และประชาชนได้อย่างเหมาะสมสูงสุด

“ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทย” จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถตอบโจทย์การให้บริการแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคน เพื่อการเข้าถึงการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิผล อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ทันเวลา ทั้งในภาวะปกติและสาธารณภัย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วยฉุกเฉิน เพราะทุกชีวิต ทุกนาที มีค่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image