กรมส่งเสริมการเกษตรขยายผลเกษตรเพื่ออาหารกลางวันจากโรงเรียนสู่ชุมชน

กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการและขยายผลโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันสู่ชุมชน ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน นอกจากจะได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการบริโภคแล้ว ยังได้รับความรู้ด้านการเกษตร เกิดทัศนคติที่ดีและสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ในอนาคต

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้สนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันมาตั้งแต่ปี 2523 ที่มีพระราชดำริให้ทดลอง โครงการอาหารกลางวันผักสวนครัว

ภายหลังจากที่ได้ทดลองโครงการอาหารกลางวันผักสวนครัวเป็นเวลา 1 ปี ได้ผลดีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายไปสู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศใน พ.ศ. 2524 เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัวด้วย จึงเรียกชื่อใหม่ว่า โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพอนามัยบริบูรณ์แข็งแรง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้เด็กนักเรียนร่วมกันทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารสำหรับนำไปบริโภค เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เทคนิคการปลูกผัก ผลไม้ โดยใช้พันธุ์พื้นบ้าน การเลี้ยงสัตว์ การเก็บเกี่ยวการแปรรูป และการถนอมอาหาร ฯลฯ

สำหรับปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร รวม 747 โรงเรียน ในพื้นที่ 50 จังหวัด ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา นอกจากทำให้เด็กนักเรียนมีอาหารบริโภคเพียงพอตลอดปีการศึกษาแล้ว นักเรียนยังได้รับความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยตามแนวการผลิตสินค้าเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP : Good Agricultural Practice) ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขยายผลจากโรงเรียนไปสู่ชุมชน ในพื้นที่ 50 จังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง

Advertisement

ตัวอย่างของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในจังหวัดสระแก้ว ที่ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ข้อนอก, นายวินิต เคยชัยภูมิ และนางสาวไฉน นครเกตุ ซึ่งแต่ละรายได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ การขยายพันธุ์มะนาว และการเลี้ยงไส้เดือนดิน เป็นต้น ทำให้ทุกรายมีอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ บริโภคเพียงพอในครอบครัว ผลผลิตเหลือจำหน่าย เรียกได้ว่า การขยายผลโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันจากโรงเรียนสู่ชุมชน ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีอาหารดีบริโภค มีรายได้เพิ่ม และเหนือสิ่งอื่นใด คือ ความสุขที่เพิ่มขึ้นในครอบครัวและชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image