“วก.ขุขันธ์” ต้นแบบ สร้างการศึกษาวิชาชีพ

อาชีวะ เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติ โดยผลิตกำลังคนที่มีฝีมือป้อนสู่ตลาดแรงงานมาโดยตลอด ล่าสุดได้มอบหมายให้สถานศึกษาในสังกัด รวมถึงวิทยาลัยการอาชีพ (วก.) ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ดำเนินโครงการขยายโอกาสการศึกษาวิชาชีพและพัฒนาทักษะวิชาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนยกระดับศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) เป็นศูนย์ให้บริการด้านการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงเครื่องมือการเกษตร ยานพาหนะ อุปกรณ์การประกอบอาชีพ และเครื่องใช้ในครัวเรือน

การดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน ด้วยว่าประชาชนเกิดความพึงพอใจที่เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องมือและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพได้รับการยืดอายุการใช้งาน  ซึ่งส่งผลต่อการลดรายจ่าย และที่สำคัญ วก.ขุขันธ์ยังได้พัฒนานวัตกรรมต่อยอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมมาตรฐานและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ ก่อเกิดมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน

นายนิรันดร์ สมมุติ ผู้อำนวยการ วก.ขุขันธ์ เผยว่า จุดเด่นของ จ.ศรีสะเกษ คือผลิตภัณฑ์ของชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน จึงดึงปราชญ์ชาวบ้านมาเป็นวิทยากรหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นการจักสานหวายเทียม หรือการนำวัสดุสังเคราะห์มาทำผลิตภัณฑ์โต๊ะ เก้าอี้ โซฟา เริ่มจากสอนนักศึกษา จากนั้นขยายผลการสอนอาชีพจักสานหวายเทียมสู่ชุมชน โดยนำนักศึกษาไปช่วยปราชญ์ชาวบ้านในการเป็นวิทยากรให้ความรู้และสอนอาชีพแก่ชาวบ้าน ก่อให้เกิดอาชีพการจักสานด้วยหวายเทียม ป้อนสู่โรงงานขนาดใหญ่ โรงแรมและรีสอร์ทต่างๆ

Advertisement

นายนิรันดร์ กล่าวต่อว่า วก.ขุขันธ์ ยังอนุรักษ์และสืบสาน “แซวเสื้อ” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่คู่กับ จ.ศรีสะเกษด้วยการสอนอาชีพแซวเสื้อให้กับชาวบ้าน การแซวเสื้อคือการปักลายตามขอบ ชายหรือปกเสื้อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เดิมนิยมแซวเสื้อแก๊ปสีดำซึ่งเป็นเสื้อพื้นเมืองของ จ.ศรีสะเกษ แต่ปัจจุบันขยายเป็นเสื้อหลากสีตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อความสวยงามและความหลากหลาย การสอนอาชีพแซวเสื้อ ช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มจากราคา 1,500 บาท/ตัว เพิ่มเป็น 2,500-3,000 บาท/ตัว ตลอดจนได้ดำเนินโครงการอาชีวะพัฒนาค่านิยมไทย : เกษตรทฤษฎีใหม่และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นโครงการที่ สอศ. ร่วมกับ กอ.รมน.และกศน. ในการสอนอาชีพให้แก่ชุมชน โดยในส่วนของวก.ขุขันธ์สอนการทำผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกและผ้าย้อมด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นหรือ Best Practice ระดับประเทศจากโครงการนี้ด้วย

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) ระบุว่า อาชีวะมีนโยบายในการขยายโอกาสการศึกษาวิชาชีพและพัฒนาทักษะวิชาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อนำไปสู่ประเทศมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งถือได้ว่า วก.ขุขันธ์เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินโครงการนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ

นี่เป็นหนึ่งในโครงการที่ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ซึ่งอาชีวะจะไม่หยุดยั้งที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image