ครบวาระ 2 ปี กอปศ. เสนอ 3 พ.ร.บ. เดินหน้าปฏิรูปพัฒนาการศึกษาไทย

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จัดสัมมนา รายงานประชาชน ในเรื่อง “2 ปี ปฏิรูปการศึกษา ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน” เนื่องในวาระที่ กอปศ. ดำเนินงานมาจวบจนจะครบ 2 ปีเต็ม ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์กว่า 300 คน

ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. ผู้เป็นประธานในพิธีกล่าวว่า กอปศ. จะดำเนินงานครบ 2 ปี ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ ตามหน้าที่ของคณะกรรมการ คือ ศึกษา จัดทำข้อเสนอแนะ และยกร่างกฎหมาย ผลที่ปรากฏเกิดขึ้น คือ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ อันได้แก่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 และพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา พ.ศ.2562

“การปฏิรูปการศึกษาของไทยทำมานานหลายครั้ง หลายปี ครั้งสุดท้ายคือปี พ.ศ.2542 แล้วก็ปรับแก้หลังจากนั้นอีก เป็นความพยายามในการปรับปรุงการศึกษาของชาติ และทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า แต่มาถึงขณะนี้เราก็มาปฏิรูปการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง เห็นชัดว่ามีสิ่งที่ต้องแก้ไข  กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  ได้ดำเนินการด้านต่าง ๆ เพื่อจะปรับแก้อยู่ การปรับแก้แต่ละส่วนตามลักษณะปัญหา ไม่สามารถทำให้การศึกษาพ้นจากสภาพปัญหาได้ จำเป็นต้องทำการแก้ไขในลักษณะที่เป็นปฏิรูปการศึกษา ส่วนนี้ได้เสนอไว้ในแผนพัฒนาประเทศด้านการศึกษา เพื่อจะไปเป็นรูปแบบในการพัฒนาต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ประธาน กอปศ. กล่าวถึงปัญหาของการศึกษาไทยอยู่ที่หลักคิดและค่านิยมของสังคมที่จะต้องก้าวผ่าน พัฒนาและปฏิรูปการศึกษาของไทยไปพร้อมๆ กัน ใน 3 เรื่องคือ 1.ค่านิยมปริญญาบัตรหรือใบรับรอง ควรจะเน้นความสามารถของบุคคล มากกว่าใบปริญญาหรือใบรับรอง 2.การศึกษาไม่เป็นหน้าที่ของรัฐทั้งหมด แต่รัฐต้องรับผิดชอบให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และสิ่งสำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในปัจจุบันที่ขยายเป็นการศึกษาตลอดชีวิต คนทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต 3.เน้นผลสัมฤทธิ์ของการศึกษา อาจไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ผลสัมฤทธิ์ต้องรวมถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย โดยผู้ที่รับผิดชอบในแต่ละส่วนต้องพยายามแก้ไขในส่วนที่มีความจำเป็น

“หากเปรียบปัญหาการศึกษากับแม่น้ำ ปัญหาที่ปรากฏอยู่และเห็นได้ชัด คือ ปัญหาบนผิวน้ำ แต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่ด้านล่างผิวน้ำนั้นมีอีกมากมาย ประเทศไทยได้ถดถอยเป็นอันมากในระยะเวลาที่ผ่านมา 20-30 ปี ถูกประเทศอื่นแซงหน้า หากอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยถูกประเทศอื่นแซงไปอีก แล้วเราสู้เขาไม่ได้ สภาพประเทศไทยคงจะเป็นสิ่งที่รับได้ลำบาก การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ต้องสำเร็จให้ได้ และสำเร็จได้ด้วยทุกคนต้องร่วมกัน ทั้งผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง และผู้ที่มีส่วนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กร เป็นบุคคลแต่ละบุคคลก็ดี หวังว่าการศึกษาจะสามารถปฏิรูปได้สำเร็จอย่างน้อยใน 10 ปีข้างหน้า” ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัสกล่าว

Advertisement

รองศาสตราจารย์ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานกอปศ. คนที่ 1 กล่าวว่า ในช่วงที่ดำเนินงานเป็นเวลา 2 ปี เรื่องที่น่าสนใจและคณะกรรมการได้ดำเนินการ คือ การพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะเด็กปฐมวัยเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิตของมนุษย์ ซึ่ง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย เน้นการบูรณาการทำงานอย่างน้อย 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

“เด็กปฐมวัย 30% มีพัฒนาการไม่สมวัย เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเน้นการบูรณาการและการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในบทบาทตรงส่วนนี้คิดว่า พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดูแลเด็กปฐมวัย เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึง มีระบบการดูแล ปกป้องคุ้มครองจากการถูกละเมิด ให้ได้รับการดูแลที่จะพัฒนาและจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม

ในช่วงของการดำเนินงาน หลักคิดของท่านประธาน คือ ปฏิรูปโรงเรียน ท่านประธานจะพูดเสมอว่า คืนศรัทธาให้โรงเรียน ให้กับครู ให้กับเด็ก ให้กับผู้ปกครอง ถ้าโรงเรียนทุกโรงเรียนสามารถที่จะจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบท สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นได้ เด็กก็จะเติบโตอย่างมีคุณภาพตามศักยภาพของตน” รศ.ดารณี กล่าว

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และประธานอนุกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากการทำงาน 9 เดือนของ กสศ. ได้ดำเนินงานช่วยเหลือประชากรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เขาสามารถขจัดความเหลื่อมล้ำ โดยในปีการศึกษา 2561 ได้ช่วยเหลือจัดสรรเงินทุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษกว่า 5.1 แสนคน ในสถานศึกษาของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นอกจากนี้ยังได้เริ่มโครงการสนับสนุนทุนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเช่นเดียวกัน

ดร.ประสาร ได้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาเพิ่มเติมว่า การปฏิรูปนั้นไม่ใช่เป็นโครงการที่มีเวลาเริ่มดำเนินงาน แล้วมีเวลาที่โครงการสิ้นสุด แต่หากเทียบกับงานปฏิรูปแล้ว เปรียบเสมือนการเดินทางในระยะยาวที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

“การปฏิรูปคือการทำอะไรให้ดีขึ้น แต่มันไม่ใช่โปรเจกต์ที่จะเริ่มเวลาหนึ่งแล้วจบเวลาหนึ่ง แต่ว่าถ้าเราจะเทียบเคียงมันเหมือนการเดินทางเสียมากกว่า มันเป็น Journey (การเดินทาง) ที่อาจจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำไปแล้วก็ติดตามประเมินผล ทำต่อไปแล้วก็ประเมินผล โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก เป็น Journey (การเดินทาง) ระยะยาวมาก” ดร.ประสารกล่าว

ดร.ประสาร กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวคิดต่องานปฏิรูปการศึกษาในอนาคตว่า งานจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต้องสร้างแนวร่วมเรื่องข้อมูล องค์ความรู้ สร้างแนวร่วมให้เป็นตัวสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมาย อาทิ การทำงานใหญ่อย่างในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำนั้น กสศ. มีนักเรียนที่เข้าข่ายยากจนพิเศษ 6 แสนคน นักเรียนที่เข้าข่ายยากจน 4 ล้านคน เพราะฉะนั้นด้วยจำนวนที่มากเช่นนี้ มันเป็นไปไม่ได้ที่กองทุนเดียว คนๆ เดียว จะครอบคลุมปริมาณขนาดนั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องนำหลักคิดเรื่องแนวร่วมเข้ามาใช้

อีกทั้งงานด้านปฏิรูปนั้นความท้าทายสำคัญใหญ่คือ นำความคิดไปสู่การปฏิบัติ โดยทั่วไปไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าง่ายคงเกิดขึ้นไปแล้ว ที่ไม่เกิดเพราะมีบางสิ่งบางอย่างเป็นอุปสรรค ดังนั้นจึงมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่จะต้องคิดต่อไป ได้แก่ 1.จังหวะเวลาในการดำเนินงานในแต่ละประเด็นที่มีความเหมาะสมแตกต่างกัน 2.การบริหารความเปลี่ยนแปลง ที่จำเป็นต้องเข้าใจแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในการทำงาน  3.ความเป็นผู้นำ ที่จะต้องเข้าใจประเด็นของเรื่องที่ปฏิรูป เพราะในบางเรื่องตัดสินใจค่อนข้างยาก 4. ความร่วมมือที่จะเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปในอนาคต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image