ขยายผลพื้นที่แก้มลิง เสริมแนวรบน้ำท่วม-น้ำแล้ง

การแก้ไขปัญหาน้ำ ไม่อาจใช้เครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งเข้าจัดการเพียงลำพัง

“เราใช้ทุกเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว

ทุกเครื่องมือในความหมายของเลขาธิการ สทนช. คือ ทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำและแก้มลิง ไม่ว่าขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก จนไปถึงสระน้ำในไร่นา

“แก้มลิง ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ”

Advertisement

เป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์พระราชา ค้นพบหลักการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำในยามน้ำหลากท่วมในฤดูฝนและแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

ดร.สมเกียรติ ให้ความสนใจแก้มลิงตั้งแต่ครั้งยังเป็นรองอธิบดีและอธิบดีกรมชลประทาน เมื่อข้ามมาเป็นเลขาธิการ สทนช. จึงให้ความสนใจแก้มลิงไม่เปลี่ยนแปลง ตรงกันข้าม หากขยายผลได้ให้เร่งขยายผลทุกปี

ประเดิมแก้มลิงที่เป็นโมเดลต้นแบบจริงๆ คือ บางระกำ โมเดล ในพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่ได้รับผลกระทบจากฤดูน้ำหลากทุกปี พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ จึงเต็มไปด้วยความระกำทั่วทั้งทุ่ง

เพราะเมื่อน้ำหลากมา นาข้าวที่กำลังออกรวงรอวันเก็บเกี่ยวก็ถูกน้ำท่วมเสียหายสิ้น พ้นฤดูน้ำหลากไปแล้ว ทุ่งกลับมาแห้งแล้งเหมือนเดิม ทำนาปรังไม่ได้ ปลูกพืชไร่ก็ไม่ง่าย เพราะขาดน้ำอย่างเดียว

แก้มลิงเดิมนั้น เป็นการยักย้ายถ่ายเทน้ำหลากเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ท่วมง่ายอยู่แล้ว พอฤดูแล้งถึงจะใช้น้ำที่มีในทุ่งให้เกิดประโยชน์ แต่แก้มลิงที่ประยุกต์จนเป็นแม่แบบ (Model) นั้น ขยายต่อยอดมากกว่านั้น

เริ่มที่ ทำอย่างไรไม่ให้ข้าวเสียหายเมื่อเข้าฤดูฝน ทำได้ก็ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่คือปลูกก่อน เก็บเกี่ยวก่อนน้ำจะหลากมา เอาช่วงน้ำท่วมประมาณปลายสิงหาคมหรือต้นกันยายนเป็นตัวตั้ง แล้วย้อนว่าต้องปลูกข้าวเมื่อไหร่ก็ไม่เมษายนก็พฤษภาคม

เท่ากับทำนาดูแล้งจัดๆ เดือนเมษายน ต้องหาคำตอบว่า จะเอาน้ำที่ไหนมา คำตอบคือจากโครงการชลประทานในบริเวณนั้น จะทำอย่างไรให้น้ำถึงพื้นที่แก้มลิงโดยไม่ถูกฉกระหว่างทาง จึงเป็นที่มาของการสนธิกำลังระหว่าง ทหาร ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานในพื้นที่ระดมกันออกมา โชคดีตรงที่เป็นรัฐบาล คสช.

จึงสามารถทำได้เต็มไม้เต็มมือจนสามารถส่งน้ำระยะไกลไปยังแก้มลิงได้สำเร็จ บางระกำ โมเดล จึงถือกำเนิดเป็นผลสำเร็จได้

จากบางระกำจึงขยายผลลงมาที่พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเจ้าพระยา ของภาคกลาง 12 แห่ง โดยใช้หลักการเดียวกัน และเป็นผลสำเร็จเช่นกัน เกษตรกรมีรอยยิ้มจากประโยชน์หลายสถาน

อย่างแรก เก็บเกี่ยวผลข้าวได้โดยไม่เสียหายจากน้ำท่วม  อย่างที่สอง ยังใช้ทุ่งเป็นแหล่งประมงจับปลาขายหารายได้อีกทาง อย่างที่สาม น้ำในทุ่งเก็บไว้ทำนาปรังหรือพืชน้ำน้อยในฤดูแล้ง เท่ากับมีรายได้ 3 ทางเต็มๆ จากเดิมอาจได้แค่จับปลาช่วงน้ำหลาก ซึ่งกระท่อนกระแท่นกว่าโมเดลที่กรมประมงเอาพันธุ์ปลาไปช่วยปล่อยเพิ่มด้วย

ยังไม่นับการตัดยอดน้ำ ช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ใกล้เคียง ถ้าเอายอดน้ำที่ปล่อยเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำ และ 12 ทุ่งเจ้าพระยา รวมแล้วกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับตัดยอดน้ำได้เท่ากับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 2 เขื่อน น้อยที่ไหน

ขณะเดียวกัน บ้านเรือน ชุมชน ในทุ่งแก้มลิงเหล่านี้ สทนช. ต้องกำกับให้ดูแลไม่ให้น้ำท่วมถนนหรือเส้นทางสัญจร โดยควบคุมระดับน้ำ สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข

ข้อดีเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ สทนช. ต้องขยายผล โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทั่วประเทศมีมากนับสิบล้านไร่ที่อยู่ในสภาพเดียวกับทุ่งบางระกำ ทุ่งเจ้าพระยา

ล่าสุด กรมชลประทานคัดเลือกทุ่งบางพลวง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่แก้มลิง โมเดล เพิ่มเป็นแห่งที่ 13 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2563 ในพื้นที่ร่วม 500,000 ไร่ ของ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี

“ยังไม่พอ ยังต้องขยายผลอีกต่อไป ได้กำชับกรมชลประทานเร่งหาพื้นที่ลุ่มต่ำที่เหมาะสมทำแก้มลิงต่อไป เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำ รอยต่อแม่น้ำปิง และแม่น้ำชี และพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานในภาคเหนือ ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ขึ้นไป ที่กรมชลประทานศึกษาไว้แล้ว แต่ยังต้องออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างความเข้าใจ ทั้งกับเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในแง่การบริหารจัดการ ให้เป็นเอกภาพ เพราะได้ประโยชน์อย่างที่เห็นๆ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปด้วย” ดร.สมเกียรติ เลขาธิการ สทนช. กล่าวย้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image